กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการและศึกษาดูงานภายใต้ธีม “ก่อนแมลงปอจะบินเป็นที่พึ่งพาให้เกษตรกรไทย” เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบดราก้อนฟลาย รุ่นที่ 1 ให้กับกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรที่เป็นผู้ใช้งานแอพพลิเคชัน “Dragonfly หรือ แอพแมลงปอ” ณ GISTDA อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 1-2 สิงหาคม 2567
นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA จัดกิจกรรมสัมมนาและศึกษาดูงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบดราก้อนฟลาย รุ่นที่ 1 ภายใต้ธีม“ก่อนแมลงปอจะบินเป็นที่พึ่งพาให้เกษตรกรไทย” โดยพากลุ่มเครือข่ายเกษตรกรชุมชนต้นแบบจากศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตง และศูนย์เรียนรู้ลดโลกร้อนนาแปลงใหญ่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเดิมบาง จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (GISTDA) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในส่วนของการปฏิบัติการดาวเทียม เช่น การวางแผนถ่ายภาพ การรับสัญญาณ การผลิตข้อมูลดาวเทียม การปฏิบัติการดาวเทียมไทยโชต การปฏิบัติการควบคุมดาวเทียม THEOS-2
และเข้าเยี่ยมชม Space Inspirium เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรต้นแบบ ได้เห็นถึงกระบวนการทำงานในส่วนการได้มาของข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม และข้อมูลภูมิสารสนเทศต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ทั้งยังตอบโจทย์การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในระดับรายแปลง ที่แม่นยำ และทันสมัย โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเกษตรเชิงพื้นที่รายแปลง “Dragonfly” หรือ แอพแมลงปอ เพื่อสนับสนุนร่วมขับเคลื่อนการทำเกษตรแบบใหม่ (Smart Agriculture) ของประเทศไทย ที่สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย เพิ่มศักยภาพการผลิต ลดก๊าซเรือนกระจก (GHGs) และสนับสนุนนโยบายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero)
รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เกษตรกรยังได้รับความรู้จากการบรรยายพิเศษโดย ดร.สยาม ลววิโรจน์วงษ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ จาก GISTDA ในหัวข้อ “ทิศทางการเกษตรของประเทศไทยสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ด้วยการประยุกต์ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ” เนื่องจากปัจจุบันพลังของข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถจุดประกายการสร้างรูปแบบการทำเกษตรสมัยใหม่และวิธีสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตร โดย GISTDA ไม่หยุดที่จะพัฒนาและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งด้านข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพภาคเกษตรของประเทศ เช่น การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI), cloud computing และ Internet of Things (IoT) เป็นต้น
ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้จะไม่ครบถ้วนได้เลยหากไม่มีเสียงสะท้อนจากเกษตรกรชุมชนต้นแบบดราก้อนฟราย รุ่นที่ 1 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ ต่อการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแอพแมลงปอ ใน 3 ประเด็นสำคัญที่เกษตรกรอยากได้ข้อมูลเป็นประจำและสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นส่วนคำแนะนำ ติดตามและแจ้งเตือนการใส่ปุ๋ยยูเรียและปุ๋ยสูตร เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของข้าวในระยะกล้าประมาณ การติดตามเฝ้าระวังโรคและแมลงในแปลงนา และการเพิ่ม-ลด ระดับน้ำในแปลงเพาะปลูกข้าวระยะแตกกอ
GISTDA จึงเล็งเห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของกลุ่ม/เครือข่ายเกษตรกร ที่จะเป็นทั้ง “ผู้ให้ ผู้ใช้ และผู้รับประโยชน์” ต่อการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการเกษตร ที่ในยุคปัจจุบันใครๆ ก็ทำได้ แต่การดำเนินงานไปสู่ความยั่งยืน โดยการเปิดพื้นที่ เปิดโอกาส ให้ผู้ใช้งานตัวจริง คือ “เกษตรกร” ได้เข้ามามีส่วน “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์” ตั้งแต่เริ่มต้น จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศได้
ด้านนายพิชิต เกียรติสมพร ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตง กล่าวเสริมในประเด็นการใช้งานแอพดราก้อนฟรายเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการติดตามการเจริญเติบโตของข้าวได้อย่างทั่วถึงและแม่นยำ เนื่องจากลักษณะของแปลงนามีขนาดใหญ่ และความอุดมสมบูรณ์ของดินไม่ได้ทั่วทั้งแปลง มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวอย่างแน่นอน ดังนั้นการที่เกษตรกรได้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ผ่านการวิเคราะห์เชิงวิชาการมาแล้ว จะเป็นตัวช่วยในการวางแผนบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกชี้เป้าโซนพื้นที่จุดไหนการเจริญเติบโตดี จุดไหนไม่ค่อยดีเท่าที่ควร โดยแอพจะช่วยติดตามเฝ้าระวังและแจ้งเตือนรวมทั้งวิเคราะห์ให้เลยว่าช่วงไหนเหมาะแก่การใส่ปุ๋ยและคำนวณปริมาณการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ช่วยให้ประหยัดเวลาและลดต้นทุนได้จริง