“อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ New S-Curve ที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว
ปัจจุบันอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีการระบุขอบเขตอย่างชัดเจน แต่ในภาพรวมของอุตสาหกรรม ฯ คาดว่าจะมีมูลค่าสูง ถึง 40,000-50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นี่…ก็คือโอกาสของประเทศไทย ดังนั้นการจะขับเคลื่อนผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จำเป็นต้องมี “ตัวชี้วัดที่มีมาตรฐาน” เพื่อให้ทราบถึงข้อมูล สถานะ และความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ที่ถูกต้อง เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดทิศทางนโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุด… กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน) หรือ TCELS จัดแถลงผลการพัฒนา “ดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์” หรือ “Life Sciences Index” ในงาน TCELS Business Forum 2024: The Life Sciences Index as crucial guide for business development and industry advancement
โดยดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “LS index” จะเป็นเครื่องมือในการทำนาย แนวโน้มหรืออนาคตของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ว่าจะมีการเติบโตอย่างไร
นางสาวไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า กว่า 19 ปีในการก่อตั้ง TCELS ได้ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการวิจัย การสร้างองค์ความรู้ และพัฒนานวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการด้านชีววิทยาศาสตร์ ตลอดจนเชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ไปสู่การแปลงเป็นเชิงพาณิชย์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์หลายประการ ซึ่งหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมนั้นคือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี TCELS ยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งประกอบด้วยอุตสาหกรรมยาหรือเภสัชภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และการบริการทางการแพทย์และสุขภาพ ให้เกิดการเติบโตขึ้นต่อไป และได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
TCELS จึงมีแนวคิดในการพัฒนาเครื่องมือ “LS index” ขึ้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยมีการจัดทำร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและระบบนิเวศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตัวแบบหรือโมเดลดัชนีชี้วัดที่ถูกพัฒนาขึ้นในขณะนั้น ยังมีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณข้อมูลและการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม
ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน TCELS ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาต่อยอดดัชนีชี้วัด ฯ ให้มีความเหมาะสมในการนำไปประยุกต์ใช้มากขึ้น และได้ต้นแบบดัชนีชี้วัดฯ ในการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ซึ่งปัจจุบันฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฯ ได้มีการนำต้นแบบดัชนีชี้วัดดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการด้านชีววิทยาศาสตร์
เรียกได้ว่าใช้ระยะเวลากว่า 5 ปี ในการพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งมีการพัฒนาโดยอิงกับกระบวนการสร้างตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานสากลในระดับโลก และปรับให้มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย มีการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่าง ๆ และมีการทดสอบตัวแปรต่าง ๆ ตามกระบวนการทางสถิติที่น่าเชื่อถือจากนักวิชาการระดับชาติในหลากหลายอุตสาหกรรม
และวันนี้…พร้อมแล้วที่จะเผยผลการศึกษาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ข้อสรุปถึง 3 ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า (Input factor) ปัจจัยด้านผลผลิต(Output factor) และ ปัจจัยด้านผลลัพธ์(Outcome factor)
เบื้องต้นผลการศึกษาจากดัชนี LS Index ของไทย พบว่าอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 2560-2561 ซึ่งปัจจัยนำเข้าด้านทรัพยากรบุคคล งบประมาณและการลงทุนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น แต่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยียังมีช่องว่างให้พัฒนา
ขณะที่ปัจจัยด้านผลผลิต ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น แต่ทรัพย์สินทางปัญญาและจำนวนยาที่ขึ้นทะเบียนมีจำนวนลดลง ปัจจัยด้านผลลัพธ์ มูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 7 % โดยเฉพาะการบริโภคและการส่งออก เนื่องจากการนำเข้าโดยเฉพาะกลุ่มยาและเครื่องมือแพทย์ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีสัดส่วนสูงกว่า 50 % ของมูลค่ารวม
ทั้งนี้จากผลการวิจัย ได้มีข้อเสนอแนะ เพื่อเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรม ซึ่งด้านปัจจัยการผลิต ควรมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และมีจำนวนเพียงพอ รวมทั้งพัฒนากลไกในการเพิ่มทรัพย์สินทางปัญญาด้านการแพทย์และสุขภาพและการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ด้านความต้องการหรืออุปสงค์ ควรส่งเสริมการแพทย์ครบวงจรของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ส่วนด้านกลยุทธ์โครงสร้างและการแข่งขัน ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์และการเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองและขยายการส่งออก และด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ควรผลักดันการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมสาขาเภสัชภัณฑ์ เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องสำอางให้เติบโตมากขึ้น
ข้อมูลตัวเลขจากดัชนีชี้วัดต่าง ๆ แม้จะไม่เรียลไทม์ แต่ก็สามารถนำมาคาดการณ์แนวโน้ม หาสาเหตุ ซึ่งจะมีปัจจัยในมิติต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาในการศึกษาวิจัย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
สิ่งที่ได้จากดัชนี้ชี้วัด หรือ LS Index นี้ รองผู้อำนวยการ TCELS บอกว่า ยังไม่ต้องไปถึงแผนระดับชาติ อย่างน้อยในฝั่ง TCELS เองก็ได้ข้อมูลในการจัดทำและเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ให้กับรัฐบาล และใช้ในการกำหนดนโยบายในการทำงาน ตามบทบาทของ TCELS ที่เป็นหน่วยงานในการเร่งรัดขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านยาชีววัตถุ เครื่องมือแพทย์ และสารสกัดธรรมชาติ เพื่อเป็นเครื่องสำอางและเสริมอาหาร ซึ่งเน้นนวัตกรรมระดับปลายน้ำหรือ TRL7-9 เพื่อเข้าสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม มีการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนางานวิจัย และกระตุ้นและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรเพื่อเชื่อมโยงการสร้างความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ.