กระทรวงอว.โดยวช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศชวนร่วมงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 19 ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัยขับเคลื่อนไทย” พบกับนวัตกรรมล้ำสมัยกว่า 1,000 ผลงาน 26-30 สิงหาคมนี้ที่บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024)ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 19 ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน”โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานงานแถลงข่าว พร้อมด้วยนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ,ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช.
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 เป็นวาระสำคัญในการร่วมกันเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบและร่วมกันน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” ซึ่ง กระทรวง อว. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานในวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น.
“สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยและการประชุมมากกว่า 130 หัวข้อเรื่อง และยังมีนิทรรศการอีกมากกว่า 700 ผลงาน นำเสนอในประเด็นที่กระทรวง อว. และรัฐบาลให้ความสำคัญ นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา พร้อมกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายในงานจึงมีกิจกรรมส่งเสริมน้อง ๆ นิสิต นักศึกษาในทุกระดับจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรรมและประกวดแข่งขัน โดยจะมีการเฟ้นหาวิศวกรสังคมพัฒนาชุมชนดีเด่น อีกด้วย”
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธาน กสว. กล่าวว่า มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เป็นงานประจำปีของเครือข่ายระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และที่สำคัญคือเป็นเวทีเพื่อนักวิจัยที่ได้นำเอาผลจากการวิจัยที่เกิดขึ้นมาแสดงออกสู่สายตาประชาชน ทำให้เกิดการประจักษ์รู้โดยทั่วไป การขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นจะต้องเกิดประโยชน์กับประเทศ งานวิจัยมีหลายประเภททั้งสามารถใช้ประโยชน์โดยทันที งานวิจัยที่ต้องมีการปรับปรุงปรับแต่งเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ ขณะเดียวกันประเทศก็ต้องมีการวิจัยในแง่ของพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการสร้างสังคม อันนำไปสู่การสร้างความรู้และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” ครั้งนี้ วช. มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงและสร้างพลังแห่งความร่วมมือในทุกเครือข่ายงานวิจัยในการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม
สำหรับรูปแบบการจัดงานแบ่งออกเป็น 6 ธีม ซึ่งครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในหลากหลายมิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ BCG, Soft Power, เศรษฐกิจใหม่, สังคมยั่งยืน, สิ่งแวดล้อม และวิสาหกิจชุมชนและ SMEs กว่า 1,000 ผลงาน นอกจากนี้ ยังมีปาฐกถาพิเศษจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในหัวข้อ “ขับเคลื่อนไทยด้วยวิทยาศาสตร์” ที่จะมาเปิดมุมมองใหม่ในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ มีงานสัมมนาอื่น ๆอีกกว่า 150 หัวข้อครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ Soft Power ที่จะสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย ไปจนถึง CEO Forum ที่จะร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
ส่วนภาคนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และการนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย
โดยมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจอย่าง เช่น “อากาศยานไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์สมรรถนะสูงเพดานบินต่ำ” จากโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ลำแรกของประเทศไทย ที่ถูกออกแบบให้มีสมรรถนะสูง ในด้านการปฏิบัติภารกิจที่ยาวนาน โดยใช้เทคโนโลยีการออกแบบขั้นสูงที่ผสมผสานระหว่างการออกแบบโดยใช้หลักอากาศพลศาสตร์ การประยุกต์เทคโนโลยีเซลล์สุริยะหรือโซลาร์เซลล์ และเทคโนโลยีแหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่ได้อย่างลงตัว ปัจจุบันสามารถบินลาดตระเวนในที่ตั้ง ได้นาน 4-10 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังผลงาน “ CMU-Done พอดี” นวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ จากทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาประยุกต์ใช้งานทางการแพทย์ด้วยวัสดุ Thermoplastic Polyurethane ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ที่ปลอดภัยเมื่อสัมผัสกับร่างกาย ผลงาน “การประยุกต์เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนในการรักษาคุณภาพทุเรียนเเช่เยือกเเข็งเพื่อการส่งออก” โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ผลงาน “วัตพันธุ์ข้าวสี จุดเปลี่ยนในอาหารโภชนาการ ” โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงาน “มวยไทยเมืองลุง” จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ผลงาน “การพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับ ในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค” จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ผลงาน “ I-SecTechnology เทคโนโลยีการสกัดโปรตีน จากจิ้งหรีดแบบอัตโนมัติในระดับอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ผลงาน “ชุดตรวจสอบสัตว์ต้องห้ามแบบรวดเร็วในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผลงาน “การพัฒนาเส้นด้ายปั่นมือจากใยอ้อยผสมใยฟิลาเจนสู่การออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ฯลฯ
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://researchexporegistration.com ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518