ทีมมะค่าทรัพย์ทวี ม.มหาสารคามคว้าแชมป์สุดยอดแผนธุรกิจ Craft Idea ปีที่ 4

News Update

ประกาศผล  Craft Idea ปี 4 ทีมมะค่าทรัพย์ทวี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คว้าแชมป์สุดยอดแผนธุรกิจช่วยพัฒนาและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน  ETDA เผยเดินหน้าพัฒนากำลังคนดิจิทัลต่อเนื่อง  จาก ปี 2563ถึงปัจจุบัน  สร้าง โค้ชดิจิทัลชุมชนกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ แล้วกว่า 5,386 ราย ในกว่า 757 ชุมชนทั่วประเทศ

วันนี้ (22 สิงหาคม 2567)    สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย  สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)  บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จัดการแข่งขัน Craft Idea ปีที่ 4 รอบ Final Pitching  ภายใต้แนวคิด  “ Empower Social Enterprise”  ปลดล็อกไอเดียสร้างสรรค์ประชันแนวคิดนำธุรกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน  

ทั้งนี้จากการแข่งขันในรอบสุดท้าย  “ทีมมะค่าทรัพย์ทวี” จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ถุงสมุนไพรแช่เท้า” จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ปลอดภัยจากสารเคมี  ที่ช่วยในการผ่อนคลายและแก้ปัญหารองช้ำ  ชนะใจกรรมการคว้ารางวัลชนะเลิศ สุดยอดว่าที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ เจ้าของแผนธุรกิจที่ช่วยพัฒนาและสร้างรายได้ให้กับชุมชน  รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโอกาสในการต่อยอดผลงานสู่การใช้งานจริง

นายชัยชนะ  มิตรพันธ์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวว่า  การพัฒนาให้ประเทศมีสถานะทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่ดีขึ้น  สิ่งสำคัญคือการพัฒนากำลังคนที่จำเป็นต้องมีการกระจายลงไปในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ  โดย ETDA ได้มีบทบาทในการส่งเสริมการ Transform โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน จึงไม่ได้ทำเพียงแค่ในระดับองค์กร แต่ได้กระจายไปถึงระดับพื้นที่  ดังนั้น จึงได้มีการดำเนินงาน ภายใต้ โครงการ ETDA Local Digital Coach (ELDC) มาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อมุ่งพัฒนาและสร้างกำลังคนดิจิทัลทั้งในกลุ่ม นักเรียน นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่และประชาชนที่มีศักยภาพ ให้มีทักษะด้านดิจิทัล ทั้ง การตลาดดิจิทัล หรือ ดิจิทัลคอมเมิร์ซ  ผนวกแนวคิดการพัฒนาธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคม (Social Enterprise หรือ SE) ที่ช่วยเติมเต็มทักษะไอเดียใหม่ ๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย พร้อมสู่การเป็น โค้ชดิจิทัลชุมชน ที่พร้อมถ่ายทอดความรู้และร่วมพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาแผน Business Model ที่เหมาะสมและชุมชนสามารถนำไปใช้ได้จริง ภายใต้แคมเปญ การแข่งขัน Craft Idea ควบคู่ไปกับการขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ELDC มีโค้ชดิจิทัลชุมชนกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ แล้วกว่า 5,386 ราย กว่า 757 ชุมชนทั่วประเทศ

 การแข่งขัน Craft Idea ปี 4 ปีนี้  มาในแนวคิด Empower Social Enterprise” ปลดล็อกไอเดียสร้างสรรค์ประชันแนวคิด นำธุรกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน  ที่เปิดโอกาสให้ โค้ชดิจิทัลชุมชน ในฐานะ ว่าที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ผ่านการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลจากโครงการ ELDC ได้ร่วมประชันไอเดีย นำเสนอแผนธุรกิจ Business Pitching ที่ได้ร่วมออกแบบกับวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้ได้โมเดลแผนธุรกิจพัฒนาธุรกิจชุมชนให้พร้อมก้าวสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise อย่างยั่งยืนในอนาคต  ซึ่งการแข่งขันในปีนี้พิเศษกว่าปีที่ผ่านมา เพราะเปิดโอกาสให้ชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมตลอดการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย

 “วันนี้ ETDA  ระดมพลที่เป็นโค้ชดิจิทัลชุมชน มาช่วยกันพัฒนาโมเดลธุรกิจให้กับชุมชนต่าง  ๆ ไม่ว่า เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ในชุมชน ที่จะสามารถเพิ่มคุณค่า และทำให้เกิด มูลค่าเพิ่มขึ้นและสามารถต่อยอดไปสู่วิสาหกิจเพื่อสังคมได้  เป็นการใช้เครื่องมือทางดิจิทัลในการเปิดช่องทางในการเข้าถึงชุมชนที่เคยมีข้อจำกัดให้เข้าถึงได้ดีขึ้น  และเป็นการเพิ่มทักษะทางด้านดิจิทัลให้กับชุมชน ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น  ขณะเดียวกันในกลุ่มโค้ชดิจิทัลชุมชน  ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ETDA  คาดหวังว่าเขาจะสามารถนำไอเดีย เหล่านี้ ไปต่อยอดเป็นธุรกิจได้  และมีการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น ๆ   ซึ่งตรงกับเป้าหมายของ โครงการฯ ที่อยากเห็นการต่อยอดไอเดีย  การนำเอาเครื่องมือทางดิจิทัลไปใช้ประโยชน์  ซึ่งหากเกิดอย่างนี้ได้จริง แสดงว่า ประเทศไทยกำลังเดินไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล  เป็นสังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง คือ สามารถนำเครื่องมือที่มีไปใช้ประโยชน์ได้ ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ก้าวต่อไป  นอกจากการส่งต่อแผนธุรกิจที่ได้รับการพัฒนาในโครงการฯ ให้กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อให้แผนธุรกิจเหล่านี้ได้รับการนำไปใช้งานจริงและขยายผลให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการชุมชนที่เป็นรูปธรรมแล้ว ยังถือเป็นโมเดลสำคัญที่ ETDA จะใช้ในการต่อยอด และขยายผลไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ ทั่วประเทศที่มีศักยภาพและยังขาดโอกาส ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งภาครัฐและเอกชนและหน่วยงานในพื้นที่ ในแต่ละภูมิภาค ที่มาร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งและมีศักยภาพต่อไป

สำหรับการแข่งขัน Craft Idea ปีที่ 4   ได้เปิดรับสมัครตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา  มีโค้ชดิจิทัลชุมชน. ว่าที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ รวมถึง ชุมชนจากทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สมัครร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ก่อนคัดเลือกทีมและชุมชนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ให้เหลือ 80 ทีม เพื่อไปต่อในกิจกรรมการอบรมสุดเข้มข้น จากผู้เชี่ยวชาญจากโครงการ ELDC ที่ลงพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค ทั่วประเทศ เพื่ออบรมเสริมทักษะดิจิทัลภายใต้หลักสูตร “พลิกฟื้นชุมชนด้วยการตลาดดิจิทัล”  ที่มีเนื้อหามุ่งเน้นในการพัฒนาชุมชนเพื่อสังคม นำเสนอแนวคิดนวัตกรรม ไปจนถึงกลยุทธ์พลิกฟื้นชุมชนด้วยการตลาดดิจิทัล

จากนั้น ทุกทีมก็ได้ฝึกปฏิบัติจริง ด้วยการ ลงพื้นที่ชุมชน เพื่อสร้างสรรค์แผนธุรกิจ ก่อนเข้าสู่การแข่งขันในรอบ Audition ระดับภูมิภาค ต่อเหล่าคณะกรรมการที่ร่วมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และคัดจนเหลือ ภูมิภาคละ 12 ทีม รวมทั้งหมด 64 ทีม เพื่อเข้าสู่การแข่งขันรอบ Local Pitching กับการนำเสนอแผนธุรกิจรอบคัดเลือกครั้งสุดท้าย  โดยได้คัดเหลือ 12 ทีมสุดท้าย สำหรับการแข่งขันในรอบ Final Pitching    ซึ่งประกอบด้วย

ภาคกลาง : 1.ทีมบัวชมพู SPUC มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี : ชุมชนบ้านเนินน้อย จ.ฉะเชิงเทรา 2.ทีม MSKRU Marketing & New Media ทีม B มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี : บ้านกอง ม่องทะ จ.กาญจนบุรี และ3.ทีมจักสานอินเตอร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี : ชุมชนศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ จ.ชลบุรี

ภาคเหนือ: 1.ทีมนักธุรกิจตัวใหญ่ มหาวิทยาลัยพะเยา : วิสาหกิจชุมชนศูนย์การเรียนรู้อนุรักษ์ด้วงกว่างบ้านแม่สุก   จ.พะเยา  2. ทีม MS GET SMART มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม : กลุ่มเกษตรกร ตำบลชัยนาม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก    และ 3. ทีมนักธุรกิจตัวจิ๋ว มหาวิทยาลัยพะเยา : วิสาหกิจชุมชนกลุ่ม ปลูกเพาะใจรัก บ้านจว้าใต้ จ.พะเยา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: 1.ทีมไข่เค็มบ้านกางของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ :  กลุ่มสัมมาชีพบ้านกางของ จ.สุรินทร์ 2. ทีมมะค่าทรัพย์ทวี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : บ้านมะค่า หมู่ที่ 3 ตำบลมะค่า   อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม และ 3. ทีมธุงอีสานเจิดจรัส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร : วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสมุนไพร จ.สกลนคร

ภาคใต้: 1. ทีมกลอยใจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี : ชุมชนบ้านปากซวด จ.สุราษฎร์ธานี 2. ทีมจี๊ด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี : ชุมชนคลองยัน จ.สุราษฎร์ธานี และ 3. ทีม PKRU BY AGGIE มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต : ชุมชนสาคู จ.ภูเก็ต

สำหรับ การแข่งขัน Craft Idea ปีที่ 4 รอบ Final Pitching  ทั้ง 12 ทีมสุดท้าย พร้อมด้วย 12 ชุมชม ได้มีการนำเสนอแผนธุรกิจชุมชน โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ร่วมตัดสิน ได้แก่ นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ ETDA, นางมณฑิชา สุขจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, นางวรุตม์สุรางค์ ธรรมอารี ผู้จัดการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บมจ.ปตท., นายธนาวุฒิ ศุภางคะรัตน์ นักวิชาการวิสาหกิจเพื่อสังคมชำนาญการ (สวส.) และนายพิติรัตน์ วงศ์สุทินวัฒนา หัวหน้างานยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชน (อพท.) โดยพิจารณาภายใต้เกณฑ์การตัดสินที่ครอบคลุมทั้งความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ ความคิดสร้างสรรค์  มุมมองการตลาดดิจิทัล คุณค่าทางสังคม และประสิทธิภาพในการตอบโจทย์ของผลิตภัณฑ์หรือบริการในชุมชนที่เลือกมา เป็นต้น

 ผลการตัดสิน ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมมะค่าทรัพย์ทวี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และชุมชนบ้านมะค่า หมู่ที่ 3 ต.มะค่า อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ด้วยแผนธุรกิจ ถุงสมุนไพรแช่เท้า รับเงินรางวัล100,000 บาท   ส่วนชุมชน รับเงินรางวัล 50,000  บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร

โดยทีมมะค่าทรัพย์ทวี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ได้มีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงสมุนไพรแช่เท้า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการดูแลสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยม และตรงกับความเชี่ยวชาญของคนในชุมชนบ้านมะค่า จ.มหาสารคาม ซึ่งเชี่ยวชาญในการใช้สมุนไพรท้องถิ่นเพื่อผลิตสินค้าด้านสุขภาพและความงาม  ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมา จะช่วยให้ความผ่อนคลาย ลดความเมื่อยล้า แ ละความตึงเครียดหลังออกกำลังกาย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ในระยะยาว

ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่   ทีม PKRU BY AGGIE จาก มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต และชุมชนสาคู จ.ภูเก็ต เจ้าของแผนธุรกิจพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววิสาหกิจชุมชนสาคูร่วมใจพัฒนาที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีครบวงจร รับเงินรางวัล 50,000 บาท ชุมชนรับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร

ในแผนธุรกิจนี้ ทีม PKRU BY AGGIE มีแผนที่จะพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อช่วยให้ชุมชนเป็นเส้นทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมกับดึงจุดเด่นของชุมชนมาประกอบการท่องเที่ยวอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน  เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวแบบ Local ที่หาได้ในเฉพาะชุมชนเท่านั้น  ซึ่งแผนนี้จะเป็นการผลักดันชุมชนไปสู่การท่องเที่ยวท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

และรางวัลรองรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีมจี๊ด  จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และชุมชนคลองยัน จ.สุราษฎร์ธานี  เจ้าของแผนธุรกิจ “ชาเปลือกกาแฟออร์แกนิค” ทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ดื่มกาแฟ เงินรางวัล 30,000 บาท และชุมชนจะได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร

 โดย ชุมชนคลองยัน   เป็นชุมชนเครือข่ายที่มีพื้นที่ป่าและลุ่มน้ำ มีกาแฟและน้ำผึ้ง เป็นทรัพยากรหลัก ซึ่งสามารถหาได้ตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นชุมชนที่เน้นเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่และสิ่งแวดล้อม มีการประยุกต์ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ทีมจี๊ด จึงวางแผนที่จะนำเปลือกกาแฟที่มีอย่างล้นเหลือในชุมชนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่  คือชาเปลือกกาแฟออร์แกนิค เพื่อให้ชาวบ้านมีช่องทางในการหารายได้เพิ่มขึ้น และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายสายรักสุขภาพในราคาที่จับต้องได้

สำหรับ คนรุ่นใหม่ ประชาชน หรือชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ต่าง ๆ ที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการ ETDA Local Digital Coach (ELDC) สามารถติดตามรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand หรือ ที่เว็บไซต์ https://www.etda.or.th/th/Our-Service/DigitalWorkforce/eldc.aspx