“ แพลตฟอร์ม AIP ” หนึ่งในบริการภายใต้ “โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ ธีออส 2 (THEOS-2)” ที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ตั้งเป้าที่จะให้เป็นเครื่องมือหลักในการช่วยคิด ประมวลผล และเสนอแนะแนวทางที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินเชิงนโยบายของหน่วยงานภาครัฐที่เหมาะสม สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น
“AIP” หรือ “ Actionable Intelligence Policy ” ได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเริ่มต้นโครงการธีออส 2 เมื่อปี 2561 และเนื่องจากเป็นแนวคิดที่สนับสนุนการกำหนดนโยบายในระดับพื้นที่ จึงได้มีการทดลองนำกระบวนการทำงานของแพลตฟอร์ม AIP มาใช้กับพื้นที่นำร่อง เพื่อเป็นต้นแบบของการประยุกต์ใช้งานข้อมูลดาวเทียมกับการสนับสนุนเชิงนโยบาย ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ เช่นกัน
ทั้งนี้ โมเดลพื้นที่นำร่องแห่งแรกของการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์ม AIP ของ GISTDA ก็คือ “ ระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ”
ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรมนโยบายเชิงพื้นที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เปิดเผยถึงการเลือกพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่นำร่อง ฯ ว่า มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1. รัฐบาลในขณะนั้นให้ความสำคัญกับโครงการ EEC เป็นอย่างมาก และ 2. EEC ยังเป็นพื้นที่ Sandbox ที่ผ่อนปรนกฎระเบียบหรือข้อกฎหมายต่างๆ ทำให้สามารถทดลองระบบในพื้นที่ สามารถเสนอแนะนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติได้ โดยที่อาจจะไม่ต้องผ่านกระบวนการ หรือขั้นตอนจำนวนมากเหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ
.. จากการเริ่มต้นเลือกพื้นที่นำร่อง แต่กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นต้นแบบแห่งแรกได้นั้น ใช้เวลากว่า 5 ปี ดร.ดิชพงษ์ บอกว่า เป็นเพราะในช่วงเริ่มต้น ต้องใช้เวลาในการศึกษาโจทย์และทำความเข้าใจกับพื้นที่ค่อนข้างมาก ซึ่งในพื้นที่ EEC มีความซับซ้อน และมีความท้าทายมากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นในมิติของเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ หรือว่าทรัพยากรธรรมชาติ การทำ AIP ต้องเริ่มจากการทำ Problem Statement เพื่อดูว่าในพื้นที่ EEC มีประเด็นปัญหาอะไรที่จะต้องนำ AIP ไปใช้ เพื่อช่วยสนับสนุนการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม
“ จากการเข้าไปพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ สำนักงาน EEC พบว่ามีปัญหาจำนวนมากทั้งที่เห็นมาก่อนหน้าและเมื่อเข้าสู่กระบวนการของแพลตฟอร์ม AIP จนเกิดการตกผลึก โดยในช่วงแรก ๆ เรามองว่า EEC ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากสำนักงาน EEC มีแผนด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น GISTDA จึงมองในมิติอื่น ๆ เช่น ในด้านสังคม แต่ GISTDA ก็มีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูล ที่ด้านสังคมจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงสถิติจำนวนมาก ขณะที่ GISTDA จะเด่นในเรื่องข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเชิงพื้นที่ ดังนั้นจึงมาลงตัวที่เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรน้ำ ที่เป็นปัญหาหลักในพื้นที่ EEC และเป็นรากฐานในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น หากพัฒนาด้านเศรษฐกิจขึ้นไป จะทำให้มีประชากรมากขึ้น มีนักท่องเที่ยว มีนักลงทุนเข้ามามากขึ้น หากทรัพยากรยังเตรียมไม่พร้อมก็จะเกิดปัญหาแน่นอน”
…ดังนั้นบทสรุปของการกำหนดโจทย์ หรือประเด็นปัญหา ที่ดำเนินการ ตาม “ Policy Cycle” ที่เป็นหลักการทำงานของแพลตฟอร์ม AIP ก็คือ เรื่อง “การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC” ซึ่ง GISTDA คิดว่าน่าจะนำแพลตฟอร์ม AIP มาช่วยสนับสนุนได้ดีที่สุด โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หน่วยงานหลักด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เป็นพันธมิตรร่วมทางในการให้ข้อมูล ให้โจทย์ และปัจจุบันกำลังจะนำไปต่อยอดพัฒนาสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่น ๆ
ดร.ดิชพงษ์ กล่าวว่าการทำระบบ AIP เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เป็นการมองในระยะยาว โดยเป็นการคาดการณ์ ถึงปี 2580 ซึ่งเป็นปีที่ EEC ประกาศว่าโครงการจะแล้วเสร็จ ปัจจุบันพื้นที่ EEC มีประชากรประมาณ 3.83 ล้านคน คาดว่าในอนาคตจะมีประชากร 5.98 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านคน ภายใน 15 ปี การรับมือกับทรัพยากรน้ำ จึงต้องมีนโยบายรองรับ มีการวางแผนในการรับมือ เช่น มีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่ม มีการผันน้ำ และต้องมีข้อมูลต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลย จะเกิดอะไรขึ้น และถ้าทำตามนโยบายต่างๆ จะเกิดผลอย่างไร สามารถรู้ผลก่อนได้โดยยังไม่ต้องลงทุนจริง
ปัจจุบันสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีโครงการที่เกี่ยวกับบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC กว่า 30 โครงการการนำแพลตฟอร์ม AIP เข้าไปใช้งาน จะช่วยทำให้สามารถเห็นประเด็นปัญหาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น รู้ว่าเกิดอะไร อยู่ตรงไหน และเกิดขึ้นเวลาใด ถ้าหากยังไม่มีตัวเลือกนโยบาย ก็สามารถคิดนโยบายตัวเลือกต่าง ๆ ได้ รวมทั้งสามารถจำลองนโยบายที่มีอยู่ให้เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการตัดสินใจ และทำให้เห็นรอบด้านมากขึ้น
“ ตัวอย่างการใช้งานแพลตฟอร์ม AIP กับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ EEC ในปี 2580 พบว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย จะมีดัชนีความเครียดน้ำประมาณ 60 % แสดงว่าน้ำก็ยังคงเพียงพอกับการใช้งานในพื้นที่ แต่นี่คือปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งปี ซึ่งหากดูในช่วงเดือนมีนาคม ที่เป็นช่วงที่แล้งที่สุดของปี ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยจะมีดัชนีความเครียดน้ำสูงถึง 525 % หรือมีความต้องการน้ำมากกว่าน้ำที่มีอยู่กว่า 5 เท่า แต่หากมีการลงทุนโครงการตามนโยบายที่มีอยู่ แม้จะไม่ครบทุกโครงการ ดัชนีความเครียดน้ำจะเหลือเพียง 1 เท่าหรือประมาณ 102 % ”
…และนี่คือสิ่งที่แพลตฟอร์ม AIP บอกเราได้ …
ปัจจุบัน สทนช.สามารถเข้าไปใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ และให้ความสนใจในการต่อยอดแพลตฟอร์มสู่การคาดการณ์สถานการณ์ในระยะสั้นมากขึ้น รวมถึงต้องการขยายผลไปสู่การใช้งานทั่วประเทศ
ล่าสุด GISTDA ซึ่งมี MOU กับ สทนช.ในการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อพัฒนานวัตกรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและโครงการด้านน้ำของประเทศ ได้มีการแต่งตั้ง “คณะทำงานโครงการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ” ขึ้น โดยจะมีการดำเนินการขยายการใช้งานแพลตฟอร์ม AIP ไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อต่อยอดในการคาดการณ์สถานการณ์ที่เป็นระยะสั้นมากขึ้น
คาดว่า…การใช้งานแพลตฟอร์ม AIP กับการบริหารจัดการน้ำในระยะสั้นนี้ จะแล้วเสร็จใน 2-3 เดือนข้างหน้า เพื่อที่จะใช้คาดการณ์ฤดูแล้งหน้า ซึ่งจะเริ่มในปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า และจะมีการขยายผลใช้งานกับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป.