“บางกอกเคเบิ้ล” มุ่งพลิกโฉมความปลอดภัย-พัฒนา Smart Factory-รุกตลาดพลังงานสะอาด

New Energy

“บางกอกเคเบิ้ล” ฉลองเส้นทางผู้นำธุรกิจสายไฟ 60 ปี มุ่งพลิกโฉมความปลอดภัย-อนาคตเมืองพัฒนา Smart Factory-รุกตลาดพลังงานสะอาด รับความต้องการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกโต 3 เท่า

“บางกอกเคเบิ้ล” โชว์วิสัยทัศน์ครบรอบ 60 ปี ตอกย้ำการเป็นผู้นำธุรกิจสายไฟฟ้าและสายเคเบิลของไทย หลังผลวิจัยต่างประเทศพบยุค Net-Zero ดันความต้องการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกพุ่ง 3 เท่าในปี 2050 หนุนความต้องการสายไฟทั่วโลกทะลุ 80 ล้านกิโลเมตร ประกาศแนวคิด “3 เซฟ” เซฟคน-เซฟเมือง-เซฟสิ่งแวดล้อม ยกระดับความปลอดภัยและขับเคลื่อนอนาคตของเมือง ด้วยสายไฟและสายเคเบิลเกรดพรีเมียม-การพัฒนาเทคโนโลยีสายไฟสำหรับ Smart City-การอำนวยความสะดวกการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ลุยสร้างความต่อเนื่องด้านนวัตกรรม 6 ทศวรรษ เปิดตัวสายไฟฟ้าแรงสูง 230kV รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-นำสายไฟลงดิน-อัปเกรดสู่พลังงานหมุนเวียน เพิ่มกำลังการผลิตสู่ 60,000 ตันต่อปี ตั้งเป้า 3 ปี ชูความล้ำสมัยด้าน R&D บุกตลาดสายไฟอาเซียนและตลาดโลก ควบคู่พัฒนา Smart Factory เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใส่ใจสังคม ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เตรียมจัดงานฉลองใหญ่ครบรอบ 60 ปี 9 ก.ย.นี้ พร้อมนิทรรศการโชว์เส้นทางเติบโตยั่งยืนและสายไฟพัฒนาเมือง

            นายพงศภัค นครศรี กรรมการบริหาร บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) ผู้นำด้านการผลิตและพัฒนาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลชั้นนำของประเทศไทย กล่าวว่า ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา บริษัทและสายไฟฟ้าของบริษัทได้มีส่วนช่วยเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคของประเทศ สร้างรากฐานการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม การพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของคนไทย อาทิ การพัฒนาสายไฟฟ้าใช้ในโครงข่ายของระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง การริเริ่มนำสายไฟฟ้าลงดิน ตลอดจนการเชื่อมต่อสายส่งในระบบรถไฟฟ้า จนถึงวันนี้ที่โลกกำลังเดินหน้าสู่ยุค Net-Zero GHG Emissions มุ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ บริษัทประเมินว่าสายไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอีกมาก เนื่องจากทั่วโลกจะมีความต้องการการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึงราว 3 เท่าตัว พร้อมทั้งเปลี่ยนผ่านไปใช้แหล่งไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนถึงราว 91% ภายในปี ค.ศ.2050 ส่งผลให้จะมีความต้องการสายไฟฟ้าถึงราว 80 ล้านกิโลเมตร เพื่อใช้อัปเกรดสายไฟฟ้าเดิมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้าใหม่ ให้สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานทดแทน

            “แนวโน้มในประเทศไทยเอง ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เราเห็นความต้องการสายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากหลากหลายปัจจัย ทั้งนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ทั่วประเทศ การเดินหน้าแผนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย หรือ Grid Modernization การขยายตัวต่อเนื่องของธุรกิจที่ต้องการใช้ไฟฟ้ามหาศาลอย่าง Data Center การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้สอดคล้องกับทิศทาง Net Zero สายไฟฟ้าจะเป็นอีกหนึ่ง Key Driver ที่ช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน และขับเคลื่อนอนาคตของเมือง” นายพงศภัคกล่าว

            บางกอกเคเบิ้ล ในฐานะผู้นำด้านการผลิตและพัฒนาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลชั้นนำของประเทศไทย มุ่งมั่นนำความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมมาพัฒนาเทคโนโลยีสายไฟฟ้าอย่างไม่หยุดยั้งให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก โดยยึดหลักแนวคิด “เซฟคน เซฟเมือง เซฟสิ่งแวดล้อม” เพื่อยกระดับความปลอดภัยของทุกคนและขับเคลื่อนเมืองสู่อนาคต ได้แก่ 1.เซฟคน ปกป้องบ้านจากอันตรายที่มองไม่เห็น มอบความปลอดภัยให้ทุกคนในครอบครัว ด้วยสายไฟที่ผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพสูงสุด อาทิ สายไฟฟ้าจากทองแดงบริสุทธิ์ 99.99% อะลูมิเนียมบริสุทธิ์ 99.7% ที่นำไฟฟ้าได้ดีเยี่ยม ทนทานต่อการกัดกร่อน ปลอดภัยต่อการใช้งาน สายทนไฟที่ผ่านการทดสอบคุณสมบัติทนความร้อนได้ดี

            2.เซฟเมือง ร่วมพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศ รองรับการขยายตัวของเมืองและกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยสายไฟฟ้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพชั้นนำระดับนานาชาติ การทดสอบคุณภาพสายไฟในห้องปฏิบัติการทดสอบทางไฟฟ้า (Lab) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย การบริการรถทดสอบสายไฟฟ้าแรงดันสูงเคลื่อนที่บริเวณหน้างานของลูกค้า ตลอดจนการพัฒนาโปรดักท์ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเมือง และ 3.เซฟสิ่งแวดล้อม เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับสายไฟฟ้า เพื่อเชื่อมโยงประเทศไทยสู่เส้นทางอนาคตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยบริษัทได้เป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้าและเคเบิลรายเดียวในประเทศไทยที่เข้าร่วมในสมาคมเครือข่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Global Compact Network Thailand: UNGCNT) และคว้าการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 เดินหน้าธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

            นายพงศภัค กล่าวอีกว่า แนวคิด “3 เซฟ” จะรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต และครอบคลุมทุกความต้องการใช้งานของลูกค้าทั้ง 7 กลุ่มของบริษัท โดยในระยะสั้น บริษัทได้พัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์แนวคิดดังกล่าว อาทิ สายไฟฟ้าแรงดันสูงพิเศษ (Extra High Voltage) ชนิด 230 กิโลวัตต์ รุ่น 230kV CE(CAS) รองรับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้า การนำสายไฟลงดินเพิ่มสุนทรียภาพของเมือง การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตัวนำอะลูมิเนียมคอมโพสิตหลัก (ACCC® Conductor) ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิตรายแรกในไทย เพื่อใช้อัปเกรดระบบไฟฟ้าให้รองรับพลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกัน บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตรวมจาก 55,000 ตันต่อปีในปัจจุบัน สู่ 60,000 ตันต่อปีภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดสายไฟจาก 25% เป็น 35%

            ขณะที่ในระยะกลาง 3 ปี (พ.ศ.2567-2569) บริษัทมุ่งสู่การเป็นผู้นำธุรกิจสายไฟฟ้าและสายเคเบิลในภูมิภาคอาเซียน ตอบโจทย์ความต้องการไฟฟ้าของทั้งไทยและโลก ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.การขยายสู่ตลาดภูมิภาค (Global Expansion) นำงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ล้ำสมัยของบริษัท นำเสนอเป็นสินค้าที่โดดเด่นสู่เวทีโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายและซัพพลายเชนของบริษัท 2.การพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) บูรณาการเทคโนโลยีใหม่ๆ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสายไฟ มุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ 3.การเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ฉลอง 60 ปีบางกอกเคเบิ้ล ด้วยการยึดมั่นบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลิตสายเคเบิ้ลที่จำเป็นในการรองรับความต้องการด้านไฟฟ้าของโลกยุค Net-Zero

            สำหรับ บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) เป็นผู้นำด้านการผลิตและพัฒนาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลชั้นนำของประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ.2507 ให้บริการครอบคลุม 7 กลุ่มการใช้งาน ได้แก่ 1.ระบบผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้า (Transmission) 2.ระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า (Distribution) 3.ระบบไฟฟ้าภายในบ้านพักและอาคาร (Construction and Building) 4.ระบบขนส่งและคมนาคม (Transportation and Mobility) 5.ระบบไฟฟ้าในโรงงาน และภาคอุตสาหกรรม (Industrial) 6.พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และ 7.ระบบไฟฟ้าในรถยนต์ (Automotive) เพื่อสร้างความปลอดภัยและขับเคลื่อนเมืองสู่อนาคต ปัจจุบัน มีลูกค้าโครงการขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่ใช้สายไฟฟ้าของบางกอกเคเบิ้ล อาทิ โครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) สนามบินสุวรรณภูมิ