AIS ประกาศ! ผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย Thailand Cyber Wellness Index 2024 พร้อมส่งเครื่องมือเช็กภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ยกระดับทักษะดิจิทัลให้คนไทย

Cover Story

               ในปี 2566 ไทยเป็นประเทศที่มีอาชญากรรมออนไลน์ ติดอันดับ 6 ของโลก   โดยประเทศที่เป็นอันดับ 1 คือ อินเดีย รองลงมาคือ ไนจีเรีย  ซาอุดิอาระเบีย  สหรัฐอเมริกา  และออสเตรเลีย

               นี่คือข้อมูลจากกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ขณะที่สถิติการแจ้งความออนไลน์  จากศูนย์บริการการรับแจ้งความออนไลน์  ฯ  ระบุมีคดีออนไลน์ ที่แจ้งความเข้ามา สะสมตั้งแต่ 1 มีนาคม 65  ถึง 31 กรกฎาคม 2567  มีจำนวนมากถึง 612,603 เรื่อง เฉลี่ยคดี 694 เรื่องต่อวัน มูลค่าความเสียหายรวม 69,186,829,589 บาท หรือเกือบ 7 หมื่นล้านบาท  โดยการหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการยังเป็นคดีที่มีมากเป็นอันดับ1 หรือ 44.08  %  รองลงมาคือการหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน ฯ  หลอกให้กู้เงิน หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และข่มขู่ทางโทรศัพท์ หรือคอลล์เซ็นเตอร์   แต่คดีที่สร้างมูลค่าความเสียหายมากที่สุดคือ การหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ที่สร้างความเสียหายกว่า 25,315 ล้านบาท

               ความเสียหายเหล่านี้มีการแจ้งความขออายัดบัญชี 463,399 บัญชี ยอดเงินที่อายัดคือ 39,754,813,149 บาทหรือเกือบ 4 หมื่นล้านบาท  แต่สามารถอายัดได้ทันเพียง 7,428,020,982 บาท  หรือ 7 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น

               … ความรุนแรงและแนวโน้มความเสียหายที่มากขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี  ตอกย้ำให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทย ที่จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย เหมาะสม และมีทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

               ล่าสุด… AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลชั้นนำของไทยที่มุ่งส่งเสริมการใช้งานที่ถูกต้องปลอดภัยและเหมาะสมให้กับลูกค้าและคนไทย ภายใต้โครงการ AIS อุ่นใจ CYBER เปิด “ผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย Thailand Cyber Wellness Index 2024” เป็นปีที่ 2 และเดินหน้าส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่สามารถนำผลการศึกษาไปต่อยอดเพื่อสร้างความรู้ ทักษะ รวมถึงเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง   

               นางสายชล ทรัพย์มากอุดม  หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย การป้องกันภัยไซเบอร์กลายเป็นประเด็นที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ทำให้การทำงานของ AIS ในฐานะผู้นำด้านบริการดิจิทัลที่มุ่งส่งเสริมการใช้งานออนไลน์ที่ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยยิ่งทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งในมุมของการสร้างภูมิปัญญาหรือ Wisdom ที่จะนำไปสู่การสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ และในมุมของการใช้ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีมาส่งมอบเครื่องมือปกป้องภัยไซเบอร์และมิจฉาชีพที่แฝงมากับการใช้งานออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ”

                ทั้งนี้ในปี 2566 ที่ผ่านมา AIS ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิชาการ ได้เปิดตัวดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index ฉบับแรกของไทยที่ทำให้เห็นถึงระดับทักษะการรับรู้และความเข้าใจการใช้งานดิจิทัลในด้านต่างๆ ที่คนไทยยังคงต้องพัฒนาทักษะความรู้เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหยิบเอาผลการศึกษา ไปต่อยอดในการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้ได้ตรงกลุ่มอายุ อาชีพ หรือแม้แต่พื้นที่อย่างสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละหน่วยงาน

               สำหรับดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ประจำปี 2567  เก็บข้อมูลคนไทยในทุกช่วงวัยจากทุกภาคทั่วประเทศ  50,965 ตัวอย่าง  วัดผลใน 3 มิติคือ ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ  โดยชี้วัดทักษะดิจิทัลออกมาใน 7 ด้าน

               ภาพรวมระดับสุขภาวะทางดิจิทัลของคนไทย ค่าเฉลี่ยยังอยู่ในระดับพื้นฐาน    โดยช่วงวัยที่ต้องพัฒนาทักษะดิจิทัลเพราะมีความเสี่ยงมากที่สุดคือวัยเด็ก 10-12 ปี  เยาวชน 13-15 ปี และวัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไป   

               นอกจากนี้ผลการศึกษายังสะท้อนให้เห็นว่า แม้คนไทยจะมีการพัฒนาความเข้าใจในการใช้งานบนโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นจนผลในภาพรวมอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ยังมีจุดที่น่ากังวล เพราะคนไทยเกินครึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security and Safety) โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อภัยที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อการใช้งานของตนเองและองค์กร อาทิ การไม่มีความรู้ความเข้าใจการถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์  การใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้ วันเดือน ปี เกิด มาตั้งเป็นรหัสผ่าน ซึ่งง่ายต่อการคาดเดา แม้แต่การไม่ทราบว่าการเข้าเว็บไซต์ที่ปลอดภัยลิงค์ URL ควรจะเป็น HTTPS เป็นต้น

                และเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยในปีที่ผ่านมา  คนไทยก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์   รวมถึงเรื่องของด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น จากปี 2566

               “ จากข้อมูลตัวเลขความเสียหาย สอดคล้องกับดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ดังนั้น AIS ขอประกาศให้ปีนี้และปีหน้า เราขอยกระดับในการที่จะสร้างทักษะให้กับคนไทยในแกนของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์   หรือ Cyber Security and Safety”  ซึ่งหมายถึง การมีความรู้ ความสามารถในการรับมือความเสี่ยงและอันตรายจากการใช้งานในโลกออนไลน์ทั้งต่อตนเองและองค์กร”

               พร้อมกันนี้  AIS ยังทำงานควบคู่กันไปทั้งการ ส่งเสริมทักษะความรู้ และพัฒนาเครื่องมือปกป้องการใช้งาน   โดย AIS ได้พัฒนา “เครื่องมือเช็กภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์แบบรายบุคคล หรือ Digital Health Check”  ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย ที่ทุกคนสามารถประเมินระดับความสามารถในการรับมือจากภัยไซเบอร์พร้อมศึกษาความรู้จากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เพื่อยกระดับทักษะดิจิทัลได้ด้วยตัวเองที่ https://digitalhealthcheck.ais.th

               รวมถึงได้นำเสนอเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยบริการ “AIS Secure Net” ที่เพิ่มการปกป้องที่ครอบคลุมมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองเว็บไซต์อันตรายทั้งในและต่างประเทศ  เพื่อให้ลูกค้า AIS ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างอุ่นใจ ปลอดภัย ไร้กังวล และที่สำคัญลูกค้า AIS สามารถใช้บริการ AIS Secure Net ได้ฟรี เป็นระยะเวลา 12 เดือนเพียงกด *689*6#  

               “AIS ยังคงมุ่งมั่นในการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลของคนไทย พร้อมเดินหน้าพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้คนไทยสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาภัยไซเบอร์จากกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงมากับการใช้งาน ทั้งมาตรการยืนยันตัวตน การควบคุมสัญญาณบริเวณรอยต่อชายแดน หรือ การสนับสนุนการทำงานของพี่ๆตำรวจโดยทีมวิศวกร ทั้งหมดเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ AIS เพื่อให้ภัยไซเบอร์หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน” นางสายชล กล่าว

               ย้ำเตือนอีกครั้ง !! ทักษะในการรับมือมิจฉาชีพเบื้องต้น โดยเฉพาะคอลล์ เซนเตอร์ เมื่อมีเบอร์แปลกไม่รู้จัก โทรมา ให้วางสายแล้วค่อยโทรกลับ เพราะทั้งตำรวจไซเบอร์และผู้ให้บริการมือถือ ต่างบอกว่า หากเป็นเบอร์โทรจาก มิจฉาชีพ กว่า 90 % จะโทรอย่างเดียว ไม่มีการรับสายเมื่อโทรกลับ

               สามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index 2024 ของคนไทย เพิ่มเติมได้ที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index