ปฏิเสธไม่ได้ว่า… การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน แม้จะเป็นผลงานที่ดี มีคุณค่า แต่หากนำเสนอได้เพียงแค่การอ่านหรือมองเห็น ก็ยากต่อการดึงดูดความสนใจ ยากต่อการเข้าใจ และยากต่อการเข้าถึงได้โดยง่าย
และอาจจะกลายเป็นหนึ่งในข้อจำกัดของการทำตลาดผลงานวิจัย ที่ทำให้หลายๆ ผลงานที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามจากต้นแบบในห้องปฏิบัติการไปสู่การผลิตเพื่อใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ รวมถึงขาดโอกาสในการไปสู่ตลาดระดับโลกได้
เพื่อฉีกกรอบการทำตลาดผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยในรูปแบบเดิม ๆ “ โครงการการทดสอบแพลตฟอร์มส่งเสริมการตลาดสำหรับธุรกิจนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดในตลาดโลก หรือ Food Innovation Global Market Launchpad Testbed : Thailand’s Taste of Tomorrow” จึงเกิดขึ้น โดยแพลตฟอร์มเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจ( FOREFOOD) เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การสนับสนุนของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานร่วมทุน คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) บริษัทเกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด หอการค้าจันทบุรี และบริษัทซิลพิน เอเชีย จำกัด
… แพลตฟอร์มส่งเสริมการตลาดดังกล่าว ถือเป็นมิติใหม่ของการนำเสนอนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและเติบโตของสตาร์ทอัพด้านอาหารไทยอย่างยั่งยืนในตลาดสากล…
ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม หัวหน้าโครงการ ฯ จาก FOREFOOD เมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. บอกว่า เมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นแพลตฟอร์มของประเทศที่ช่วยทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทุกระดับ สามารถทำนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น หานักวิจัยและหาเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น รู้วิธีทำธุรกิจและหาตลาดได้ โดยแพลตฟอร์ม FOREFOOD เป็นหนึ่งในโปรแกรมของเมืองนวัตกรรมอาหาร ที่จะเป็นตัวเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการเกิดและโตเร็วขึ้น เช่น ธุรกิจอาจจะใช้เวลาในการก่อตั้ง 2-3 ปี แต่ FOREFOOD จะใช้เวลา 6 เดือน ในการทำผลิตภัณฑ์ให้เสร็จและทำตลาดให้ได้ โดยมีทีมงาน FOREFOOD เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งมุ่งเน้นธุรกิจสตาร์ทอัพที่ใช้วัตถุดิบในประเทศไทย มีนวัตกรรม และมีงานวิจัยของคนไทย
“ จากการทำแพลตฟอร์ม FOREFOOD ที่สนับสนุนสตาร์ทอัพไปแล้ว 50 บริษัทใน 4 ปี พบว่า จุดแข็งของนวัตกรรมอาหาร คือ งานวิจัย ซึ่งเราอยากให้ผู้ประกอบการไทยเกิดได้ในเวทีโลก จึงคิดแผนการนำเสนอธุรกิจในต่างประเทศขึ้น แต่ไม่อยากพาสตาร์ทอัพไป Pitching หรือนำเสนองานให้กับนักลงทุนในรูปแบบเดิมๆ ที่เหมือนกับคนอื่น ๆ จึงคิดที่จะนำเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม และความเป็นไทยเข้ามาช่วย”
ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม Thailand’s Taste of Tomorrow จะเป็นการสร้างประสบการณ์ทางการตลาดผ่านสื่อเชิงสร้างสรรค์ เช่น การจัดแสดงแกลลอรี่ ศิลปะ ที่มากกว่าแค่การมอง แต่มีการกระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีกลิ่น รส การจัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีอาหาร เหนือจินตนาการควบคู่กับคุณประโยชน์ต่อสุขภาพด้วยแนวคิด เภตรารสไทย ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีไทย (Thai Tech) และสัมผัสไทย (Thai Touch)
ประเดิมการทดสอบแพลตฟอร์มฯ ครั้งแรกที่งาน London Tech Week 2024 ภายใต้ธีม “Thailand’s Taste of Tomorrow: Fostering the Future of Food, Faith and Flavours” ณ ริเวอร์ไซด์ สตูดิโอ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยคัดเลือก 10 สตาร์ทอัพ ที่พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสร้างสรรค์อาหารแนวใหม่ด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก ต้นแบบมีความพร้อม และเหมาะกับตลาดในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบของไทย เป็น Thai Ingredient ที่นอกจากผู้ประกอบการจะสามารถเติบโตได้แล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน
อย่างเช่น “OverDaBlu” เทคสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสาหร่ายทางเลือก ที่ช่วยให้สามารถผลิตสาหร่าย ในราคาต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมทั้งได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า มีความแตกต่างและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายสไปรูลินา คือ Wild Algae และ Wild Algae – Spirucal บริษัทยังมีการทำงานร่วมกับเกษตรกรในท้องถิ่น ในฐานะของผู้สนับสนุนทางเทคโนโลยี และที่ปรึกษา เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ พร้อมส่งต่อให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาแบรนด์ของตนเองอีกด้วย
หรือ “ChixTein” ผงโปรตีนไก่เข้มข้นจากไทย เอนโท ฟู้ด สตาร์ทอัพที่ spin off จากห้องปฏิบัติการ ของ ม.นเรศวร เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีเชิงลึกที่พัฒนามาใช้ในการผลิตโปรตีนทางเลือกที่ยั่งยืนให้กับโลก โดยผงโปรตีนไก่เข้มข้น เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากSixtein โปรตีนจากจิ้งหรีด ในโครงการ “การพัฒนาโปรตีนจากแมลงเพื่อการบริโภคในระดับอุตสาหกรรมแบบครบวงจร” มีการใช้วัตถุดิบในประเทศไทย และมีจุดแข็งในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของตัวเอง ที่เรียกว่า “ I-Sec Technology ” ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติ ผลิตได้ต่อเนื่อง สามารถแยกโปรตีนและทำให้เข้มข้นขึ้นได้ ไม่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต และเป็น Zero Waste ที่ทุกส่วนจากการผลิตสามารถนำไปใช้ต่อได้
ทั้ง 10 ผลงานจากสตาร์ทอัพนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ถูกนำเสนอในรูปแบบการจัดแสดงแกลลอรี่ศิลปะ เช่น การกระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีกลิ่นรส โดยทีมนักวิจัยจากหน่วยวิจัยทางประสาทสัมผัสและผู้บริโภคแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ( KUSCR) หรือ นิทรรศการการจัดแสดงเทคโนโลยีอาหารเหนือจินตนาการควบคู่กับคุณประโยชน์ต่อสุขภาพด้วยแนวคิดเภตรารสไทย หรือ Thailand Tastetology ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีไทยและสัมผัสไทย โดยนำกลิ่นอายของป่าหิมพานต์ในวรรณคดีไทย มานำเสนอในชื่อนิทรรศการ หิมพานต์รีมิกซ์ 2050 โดยบริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด
รวมถึงการนำเสนอประสบการณ์อาหารผสมผสานกับ สื่อ แสง เสียง ในรูปแบบศิลปะดิจิทัล โดยทีมครีเอเตอร์จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และร่วมสัมผัสประสบการณ์การเดินทางสู่ดินแดนแห่งรสชาติอันพิเศษผ่านการนำเสนอ “ศิลปะแห่งรสสยาม” (The Art of Siamese Taste) ที่ไม่เหมือนใคร ภายในแกลลอรี่กลิ่น (Olfactory Gallery) ซึ่งออกแบบโดยบริษัทซิลพิน เอเชีย
การนำเสนอนวัตกรรมอาหารในรูปแบบใหม่เป็นครั้งแรกนี้ ดร.ปรเมษฐ์ บอกว่า ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากชาวต่างประเทศ ที่สนใจเพราะเป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน รวมถึงชื่นชมที่แต่ละผลิตภัณฑ์ไม่ได้มุ่งเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังมีการทำงานกับชุมชน ใช้วัตถุดิบของไทยและผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีความเป็นสากล ขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนให้ความสนใจ ติดต่อเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่จัดแสดงผลงาน
ขณะที่ รศ.ดร.ขนิษฐา รุตรัตนมงคล อาจารย์และนักวิจัย จากภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ม.นเรศวร และ CTO บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด บอกว่า งานดังกล่าวเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดีและแปลกใหม่ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก ซึ่งคิดว่าคงไม่มีประเทศใดนำเสนอผลิตภัณฑ์และเป็นตัวแทนการแสดงออกของความเป็นชาติไทยในแนวศิลปะได้เหมือนประเทศไทย การนำเสนอที่นำเอาความเป็นไทยใส่เข้าไปพร้อมกับเทคโนโลยี ได้เปิดมุมมองของนักวิจัยที่สวมหมวกนักธุรกิจ และทำให้คนที่มองเห็นรู้ว่าการนำเสนอมาจากประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดขายและทำให้คนฟังตั้งใจฟังว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
อย่างไรก็ดีหลังจากการนำเสนอที่ลอนดอน โครงการ ฯ ได้นำรูปแบบการนำเสนอบางส่วน มาจัดแสดงในงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ หรือ งาน อว.แฟร์” ซึ่งมีทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในรูปแบบแกลลอรี่ศิลปะ และการ Pitching
ดร.ปรเมษฐ์ หัวหน้าโครงการ ฯ บอกอีกว่า การทำผลิตภัณฑ์นวัตกรรม มีทั้งเรื่องเทคโนโลยีและการทำธุรกิจ แต่องค์ประกอบสำคัญของการดึงดูดคนมาดู คือ การเติมความคิดสร้างสรรค์เข้าไป ทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเชื่อมผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมกับคนดูได้มากขึ้น ซึ่งรูปแบบการนำเสนอนวัตกรรมอาหารในมิติใหม่เหล่านี้ สามารถนำไปต้นแบบประยุกต์ใช้กับธุรกิจนวัตกรรมอื่น ๆ ได้
แพลตฟอร์ม Thailand’s Taste of Tomorrow เป็น 1 ใน 13 โครงการที่ได้รับรางวัล “ PMUC Country 1ST Award ” ที่ บพข. มอบให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการ ที่ได้ทุน บพข. และสามารถผลิตผลงานที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สร้างผลกระทบต่อการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ.