โปรตีนจากแมลง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคต ซึ่ง “ด้วงสาคู” ก็เป็นแมลงกินได้ที่กำลังได้รับความนิยมบริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และถือเป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากเพาะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก ขนาดของตัวหนอนค่อนข้างโต มีน้ำหนัก ขายได้ราคาดี
แต่การเพาะเลี้ยงด้วงสาคูในปัจจุบัน เกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องการจัดการของเสียในระบบการเลี้ยงฯ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตรวมถึงสภาพแวดล้อมและชุมชน เช่น ลำไส้ด้วงสาคูมีสีดำ เนื้อด้วงสาคูมีกลิ่นเหม็น ขณะเดียวกันเกษตรกรไม่สามารถผลิตด้วงสาคูได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการแปรรูปด้วงสาคูในระดับอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังพบว่าการเลี้ยงด้วงสาคูด้วยโรงเลี้ยงในปัจจุบัน ยังมีปัญหาเรื่องแมลงอื่นเข้ามารบกวน วางไข่และกินอาหารที่เน่าเสีย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อรารวมถึงไร ซึ่งเป็นศัตรูของการเลี้ยงด้วงสาคู ทำให้ได้จำนวนผลผลิตที่ไม่แน่นอนในแต่ละรอบของการเพาะเลี้ยง และที่สำคัญยังเกิดการหลุดรอดของตัวเต็มวัยของด้วงสาคูซึ่งเป็น ศัตรูพืชของมะพร้าวและสาคู ก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะของเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วงสาคูกับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและสาคู
จากปัญหาดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข. ) ได้สนับสนุนทุนวิจัยแผนงานกลุ่มเกษตรและอาหาร ในโครงการ “ นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ ”
โดยมี “ ผศ.ดร. ศศิธร หาสิน ” จากวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ฯ และผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย อาจารย์ ดร. วเรศ จันทร์เจริญ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางวัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ , อาจารย์ ดร. พีระเมศร์ โชติกวีกิจญาดา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง , นางสาว พัฐทกรณ์ มานุพีรพันธ์ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางวัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ , ดร. วียะวัฒน์ ใจตรง จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ นาย วทัญญู บุญเสริมยศ จาก คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.เจ. ซัลเลต
ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของโครงการ ฯ “ ผศ.ดร. ศศิธร หาสิน ” บอกว่า เป็นการรับโจทย์มาจากผู้ประกอบการจำหน่ายและส่งออกด้วงสาคูไปต่างประเทศ รวมถึงได้รับคำแนะนำจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วงสาคูโดยตรงที่ประสบปัญหาคุณภาพของผลผลิตด้วงสาคู ซึ่งมาจากการจัดการของเสียในระบบการเลี้ยง คณะวิจัยฯ จึงพัฒนา “โครงการนวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ” ขึ้นโดยประกอบด้วยงานวิจัยย่อย คือ 1. การพัฒนาต้นแบบระบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ 2.การพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอนด้วงสาคู และ 3. จัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินและก๊าซชีวภาพจากของเสียที่ได้จากระบบการเลี้ยง
สำหรับ “ต้นแบบระบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ” เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงด้วงสาคู เพื่อลดปัญหาให้เกษตรกรและผู้ส่งออกทั้งเรื่องสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสม การส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน การหลุดรอดของตัวเต็มวัย และเพิ่มความสะดวกสบายในการเพาะเลี้ยง โดยระบบจะมุ่งเน้นการประหยัดน้ำ อาหารและพื้นที่ที่ใช้เลี้ยง
ทีมวิจัยได้มีการออกแบบกล่องเลี้ยงหนอนด้วงสาคู ที่ติดตั้งชุดกลไกอัตโนมัติสำหรับการเคลื่อนย้ายกล่องเลี้ยงเพื่อเติมอาหารและเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยตัวหนอนเมื่อครบรอบการเลี้ยง ชุดเติมอาหารและน้ำ ระบบชะล้างและระบายน้ำเสีย และที่สำคัญคือชุดตรวจวัดระบบนิเวศ ซึ่งมีการติดตั้งเซนเซอร์ ภายในกล่องเลี้ยงเพื่อวัดอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณแก๊สต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเพาะเลี้ยง พร้อมระบบเก็บข้อมูลและติดตามผลแบบเรียลไทม์ ที่เชื่อมต่อกับเซนเซอร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่มีการทำงานที่ปลอดภัยและควบคุมได้ง่าย
ส่วน การพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอนด้วงสาคู จะเน้นการศึกษาความหลากชนิดของพืชอาหารของตัวหนอนและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของหนอนมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอน ปัจจุบันพัฒนาแล้วใน 2 สูตรคือ สูตรตัวอ่อนด้วงสาคู และสูตรตัวเต็มวัย ขณะที่ ต้นแบบผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินและก๊าซชีวภาพ จะเป็นผลพลอยได้จากระบบการจัดการของเสียจากการเลี้ยงด้วงสาคู ซึ่งมีการนำของเสียมาใช้ประโยชน์
“ ผลการเลี้ยงด้วงสาคูในกล่องเลี้ยงระบบปิดที่พัฒนาขึ้น ซึ่งมีการออกแบบให้สามารถเลี้ยงด้วงสาคูให้ได้ผลผลิต 1 กิโลกรัมต่อกล่อง เบื้องต้นจากระบบการเลี้ยงบวกกับอาหารที่พัฒนาขึ้นทำให้ได้ผลผลิตด้วงสาคูประมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อรอบการเลี้ยงเพียง 20 วัน จากเดิมที่เกษตรกรเลี้ยงในโรงเรือนต้องใช้เวลาถึง 35 วัน นอกจากนี้ตัวด้วงสาคูที่เลี้ยงด้วยอาหารที่พัฒนาขึ้นยังมีค่าโปรตีนสูงกว่าการเลี้ยงด้วยวิธีการดั้งเดิมอีกด้วย”
ผศ.ดร. ศศิธร กล่าวอีกว่า นอกจาก 3 งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพข.แล้ว คณะผู้วิจัยเล็งเห็นประโยชน์ของด้วงสาคูที่มีปริมาณโปรตีนสูง แต่ผู้บริโภคอาจจะเกิดความกลัวในรูปลักษณ์ของด้วงสาคู จึงเกิดการต่อยอดผลผลิตด้วงสาคูที่ได้จากระบบการเลี้ยงที่พัฒนาขึ้น เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบอาหารจากแมลง “มีทบอลจากด้วงสาคู” และ “ไอศกรีมจากด้วงสาคู” เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของด้วงสาคูให้บริโภคได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบัน ต้นแบบระบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ อยู่ระหว่างการยื่นขอสิทธิบัตร และได้รับความสนใจจากภาคเอกชนในการทำสัญญาจองสิทธิ์ในการนำเทคโนโลยีการเลี้ยงไปใช้ประโยชน์ทางการค้าแล้ว ส่วนการพัฒนาสูตรอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงด้วงสาคู ซึ่งมีการดำเนินการร่วมกับ หจก. พี.เจ ซัลเลต ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ มีทดลองใช้งานจริงในกลุ่มลูกฟาร์มของ หจก. พี.เจ ซัลเลต และอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นขออนุญาต และขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์เพื่อจำหน่ายทางการค้าต่อไป
จากประโยชน์ของการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว ที่ช่วยเพิ่มอัตราการผลิต ลดของเสีย ยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์จากด้วงสาคู ลดการใช้สารเคมีในการควบคุมแมลง ลดการปนเปื้อนสารพิษ และแก้ปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนจากปัญหากลิ่นเหม็นจากการเลี้ยง รวมถึงการหลุดรอดของด้วงสาคูตัวเต็มวัยที่เป็นศัตรูพืช
อนาคต..คณะผู้วิจัยยังมีแผนที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการไปสู่เกษตรกรที่สนใจ และคาดหวังว่าการพัฒนา “นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคู” นี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ นโยบาย วิชาการ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพจากโปรตีนทางเลือกที่ผลิตจากแมลงของประเทศ.