“นอรีน คัยอุม” หัวหน้าสายงานนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยบทบาทนักลงทุนรุ่นใหม่ที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการลงทุนอย่างยั่งยืน
จากข้อมูลขององค์การนาซา (NASA) ระบุว่าวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 เป็นวันที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นนี้กลับไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการลงทุนตามหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ขณะที่ในปี 2566 มีการเปิดตัวกองทุนเพื่อความยั่งยืน (กองทุน ESG) ถึง 993 กองทุน แต่จำนวนกองทุนทั้งหมด กลับลดลงเหลือ 566 กองทุนในปีเดียวกัน และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกในปี 2567 โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเปิดตัวกองทุนเพียง 100 กองทุนเท่านั้น
เพื่อเข้าใจภาวะลำบากของการลงทุนด้านความยั่งยืน เราได้พูดคุยกับ “นอรีน คัยอุม” หัวหน้าสายงานนักลงทุนสัมพันธ์ ของทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเคยทำงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ที่ดีแทค ประเทศไทย และ Grameenphone ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเทเลนอร์ ประเทศบังคลาเทศ โดยนอรีน ยังเคยทำงานในหลากหลายสายอาชีพอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านสื่อสารองค์กร การวางกลยุทธ์ ทรานสฟอร์เมชั่นองค์กร และการตลาด
นักลงทุน ESG รุ่นใหม่ในเอเชีย
นอรีน เห็นว่าการถดถอยของหุ้น ESG วอลล์สตรีทไม่น่าส่งผลกระทบในระดับเดียวกันกับภูมิภาคเอเชีย “พลวัต ในสหรัฐอเมริกาและในเอเชียนั้นแตกต่างกันมาก ซึ่งในมุมมองดิฉัน สาเหตุที่ ESG มีความสำคัญในภูมิภาคของเรามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นเพราะเรามีผู้นำและคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักรู้ในหน้าที่ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งคนรุ่นใหม่นี้ไม่ได้มองแค่ยอดขายหรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงผลกระทบของธุรกิจต่อโลกและสังคมด้วย” เธอกล่าว “สิ่งนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อคนรุ่นใหม่ เริ่มรู้สึกกังวลมากขึ้น และอยากได้ทางเลือกที่จะมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนในทุกๆ วัน”
แท้จริงแล้ว การออกพันธบัตร ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตถึง 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้น 27.4% จากปีที่ผ่านมา จากการศึกษาของ AXA Investment Managers (AXA IM) พบว่า 39% ของนักลงทุนในเอเชียถือกองทุน ESG ซึ่งเมื่อเทียบกับนักลงทุนในยุโรปมีสัดส่วนไม่ถึงหนึ่งในสี่ และในภูมิภาคนี้ คนไทย แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของกองทุน ESG ที่จะครองตลาดได้ โดย 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดหวังว่ากองทุน ESG จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า
“กองทุน ESG เริ่มได้รับความสนใจอย่างจริงจังในปี 2561 จึงถือเป็นกรอบการทำงานที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งยังไม่ได้ปลูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอของบริษัท ดิฉันขอเรียกว่าเป็นวิวัฒนาการที่ต่อยอดมาจากสิ่งที่เราเคยรู้จัก นั่นก็คือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ CSR ซึ่งในขณะที่ CSR เป็นเพียงเช็คลิสต์ ว่าองค์กรนั้นมีพฤติกรรมที่ดี แต่ไม่อาจน่าเชื่อถือได้อย่างแท้จริง ESG เป็นกรอบการทำงานที่เข้มงวดกว่าเพื่อให้องค์กรนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา ซึ่งจำเป็นต้องมีหลักการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง อันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจให้น่านับถือ ได้รับความไว้วางใจ”
ต้องชัดเจน
หนึ่งในกรอบการทำงานดังกล่าว คือการประเมินด้านความยั่งยืนองค์กรของ S&P Global ซึ่งประเมินองค์กรโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์และข้อมูลกว่า 1,000 หัวข้อในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล อนึ่ง ทรู คอร์ปอเรชั่น ติดอันดับ 1 ดัชนีความยั่งยืนระดับโลกดาวน์โจนส์ (DJSI) ด้วยคะแนนสูงสุด ในกลุ่มโทรคมนาคมของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แต่นักลงทุนยังเกิดความสับสนกับการติดอันดับดัชนีความยั่งยืนและใบรับรองต่างๆ ด้าน ESG จากหลากหลายสถาบัน
“แม้ว่าความตระหนักรู้เกี่ยวกับ ESG จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น นักลงทุนต้องการความชัดเจนและมาตรฐานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เรายังไม่สามารถอ้างได้ว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งมีความสมบูรณ์แบบ และเราทุกคนยังมีหนทางอีกยาวไกล” นอรีนอธิบาย “ยิ่งไปกว่านั้น ข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ESG สำหรับทุกอุตสาหกรรมและทุกประเทศ จะแตกต่างกันไปตามปัญหาและประเด็นที่เร่งด่วน และจำเป็นต้องปรับเกณฑ์การประเมินให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย”
สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย นอรีนเห็นว่าการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG มุ่งเน้นในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นอย่างมาก “โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายและเสาสัญญาณทั่วประเทศของบริษัทโทรคมนาคมกระตุ้นให้นักลงทุนสนใจว่าแผนดำเนินงานด้านพลังงานสีเขียวและพลังงานหมุนเวียนของบริษัทเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีความตระหนักเรื่องการขับเคลื่อนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นเหตุผลให้เรากำหนดเป้าหมายชัดเจนสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ขณะเดียวกันเรายังมีการสื่อสารความคืบหน้าในการดำเนินงานของเราอย่างโปร่งใสและสม่ำเสมอ”
ความท้าทายอีกประการหนึ่งของการสร้าง ESG ให้มั่นคง คือ การสร้างความมั่นคงให้แก่ทุกอุตสาหกรรม อาทิเช่น ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่มีการซื้อขายอย่างรวดเร็ว จะเผชิญกับแรงกดดันในการลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวมากกว่าธุรกิจโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโทรคมนาคมต้องยึดมาตรฐานที่สูงกว่าในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เป็นต้น
“โอกาสที่ฉันมองเห็นมากขึ้นในการสร้างเกณฑ์มาตรฐานสากล คือมิติด้านการกำกับดูแล บริษัทที่มีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการกับประเด็นสำคัญๆ เช่น แรงงานเด็ก และการต่อต้านการทุจริต จะได้รับการสนับสนุน บริษัทที่ทำงานร่วมกับคู่ค้าพันธมิตรโดยปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นกัน ในเรื่องความเป็นผู้นำ สัดส่วนของผู้แทนที่สมดุลในคณะกรรมการก็มีความสำคัญต่อนักลงทุน และช่วยสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา” เธอกล่าว
ราคาหุ้นของทรู คอร์ปอเรชั่นที่พุ่งขึ้นกว่า 100% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม แสดงให้เห็นว่านอรีนดูเหมือนจะสามารถสร้างความมั่นใจในกลุ่มนักลงทุนได้อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา และเมื่อนักลงทุนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น กรอบการทำงาน ESG ที่แข็งแกร่งของทรู คอร์ปอเรชั่น จะมีส่วนช่วยดึงดูดและรักษาการลงทุนของนักลงทุนต่อไป เพื่อส่งเสริมองค์กรให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งและยั่งยืน.