เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ : NECTEC-ACE 2024”

Cover Story

              “เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ : The Next Era of Thai Intelligent Sensors”

               นี่ก็คือเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญที่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ร่วมกับพันธมิตร นำมาเป็นธีมของการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคประจำปี 2567   หรือ NECTEC-ACE 2024 ” ที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา  

               เพราะว่า “เซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์” เป็นพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยีต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน  โดยเฉพาะกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือไอโอที (IoT) ที่ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกันและสื่อสารกันได้  ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และมีผลในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ  ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ  ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน รวมถึงระบบอัจฉริยะต่าง ๆ  

               ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย  ผู้อำนวยการเนคเทค  สวทช. กล่าวว่า   งาน NECTEC-ACE มีเป้าหมายในการผลักดันเทคโนโลยีและผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง  เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ   ซึ่งในแต่ละปี งานดังกล่าวจะเสนอธีมสำคัญ ๆ ที่คิดว่าน่าจะเป็นเทรนด์ของประเทศที่ควรจะต้องขยับในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี   การวางแผน เรื่องของการพัฒนากำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

               โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา  ธีมการจัดงาน NECTEC-ACE  มีทั้งเรื่องเทคโนโลยี AI  ที่เนคเทคพัฒนา  AI for Thai  แพลตฟอร์มให้บริการ AI สัญชาติไทย  ซึ่งปัจจุบันมีกว่า  60 เซอร์วิสที่อยู่บนแพลตฟอร์มนี้  และมีผู้ใช้งานรวมแล้วกว่า 50 ล้านครั้ง    การเปิดศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC   เพื่อให้บริการเทคโนโลยีในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC   การพูดถึง Agriculture Sustainability  ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของประเทศ ซึ่งเนคเทคได้ส่งมอบผลงานวิจัยสำคัญ ๆ ด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm)  เช่น  HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ที่ผนวกเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่ายทนทานต่อสภาพแวดล้อม  ปัจจุบันใช้งานไปแล้วกว่า 3,000ฟาร์ม  และเรื่องของข้อมูล หรือ DATA ที่เนคเทคมีการนำเสนอ  Open DATA  ไปแล้วหลายชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับประเทศ

                “ สำหรับในปีนี้ เรากลับมาดูเรื่องความเชี่ยวชาญของเนคเทค   ที่เรามุ่งเน้นใน  3 ส่วนหลัก คือ 1. Intelligent Sensors 2. Network & Communication  และ 3. AI&Big Data  ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้  ขาดกันไม่ได้ ในโลกของเทคโนโลยีดิจิทัล  ที่ผ่านมาเรื่อง AI, Big Data  หรือ  IoT   มีการพูดอย่างมากในเวทีการประชุมวิชาการต่าง ๆ แต่น้อยครั้งที่จะมีการพูดถึงเทคโนโลยีที่เป็นต้นน้ำและขาดไม่ได้ ก็คือ Intelligent Sensors”

               NECTEC-ACE 2024 จึงนำเสนอเรื่องราวของ “เทคโนโลยีเซนเซอร์” ที่มีบทบาทสำคัญในยุคดิจิทัลและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่  เสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมทั้งในระดับประเทศและสากล

               สำหรับเส้นทางการพัฒนาเซนเซอร์ของเนคเทค   เริ่มตั้งแต่การก่อตั้ง  Thai Microelectronics Center (TMEC) เป็น MEMS Foundry แห่งแรกของไทย ในปี 2538  โดย เปิดให้บริการพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ MEMS และเซนเซอร์ ในกลุ่ม More Than Moore ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การสร้างต้นแบบ การทดสอบไปจนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ในปริมาณน้อยถึงปานกลาง    ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมา ได้แก่  MEMS Pressure Sensors, Silicon Particle Detector, Si MEMS Microphones, Si MEMS Gyroscopes และ Ion-Sensitive Field-Effect Transistor (ISFET)

               นอกจากนี้ เนคเทคได้มีการสร้างห้องปฏิบัติการโฟโตนิกส์ ขึ้น  โดยเป็นเซนเซอร์ที่ใช้แสง  ไม่ได้ใช้เซมิคอนดักเตอร์ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และได้นำเอาเซนเซอร์เหล่านี้มาใช้ในแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ  ทั้งนี้ TMEC ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศและเสริมสร้างกำลังคนเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต

               ดร.ชัย   กล่าวอีกว่า   20 ปี ที่เนคเทคอยู่ในวงการเซนเซอร์และวงการไอโอที และ ยังคงเดินหน้าต่อไป  ซึ่งแนวโน้มของเซนเซอร์ในอนาคตที่จะก้าวต่อไป จะอยู่ใน 3  กลุ่มหลัก

               กลุ่มแรก คือ Quantum & Terahertz Sensor ซึ่งเป็นเซนเซอร์ที่มีความแม่นยำสูงมากในการตรวจจับสัญญาณ เช่น สัญญาณสมอง  การวัดคลื่นแม่เหล็ก หรือการวัดแรงโน้มถ่วงในระดับที่ละเอียดมาก ส่วนเทราเฮิร์ตเซนเซอร์  จะเป็นการใช้คลื่นย่านใหม่ที่อยู่ระหว่างคลื่นอินฟราเรดกับคลื่นไมโครเวฟ มีคุณสมบัติพิเศษในการทะลุผ่านเนื้อเยื่อโดยไม่ทำลาย ซึ่งใช้ตรวจจับหรือทำการเอกซเรย์ในรูปแบบที่ไม่เป็นอันตราย   คาดว่าจะเป็นคลื่นที่ใช้สัญญาณ  6 จีในอนาคต  

               กลุ่มต่อมาคือ  Low-Power Sensor ซึ่งสามารถทำงานด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้พลังงานจากภายนอก  สามารถที่จะทำงานได้ในพื้นที่ห่างไกลได้ และกลุ่มสุดท้าย  คือ  AI Sensor ที่มีการ embeded AI เข้าไปในเซนเซอร์ ทำให้มีการประมวลผลแบบอัจฉริยะในตัวเซนเซอร์  กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจำนวนมากใน เอดจ์ เทคโนโลยี

               ผู้บริหารเนคเทค มองว่า  Ecosystem เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่ง Ecosystem ของเซนเซอร์อัจฉริยะ  จะต้องดูทั้ง Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ซึ่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จะเป็น Chain ที่ยาวมาก ตั้งแต่การออกแบบ IC Design  ไปจนถึงการประกอบเป็นอุปกรณ์สมาร์ทอิเล็กทรอกนิกส์

               ปัจจุบันสภาพการณ์อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ในประเทศไทย  หากแยกตาม ธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ  พบว่า มีกลุ่มที่เป็น  IC Design    อยู่ส่วนหนึ่ง แต่ในประเทศไทยแทบไม่มี  Wafer Fabrication  เลย จะมีก็คือ  TMEC  ที่ผลิตในสเกลไม่ใหญ่มากเพียงแห่งเดียว  ขณะที่ในส่วนของ  Assembly Testing and Packaging พอมีบ้าง   และ  Electronics Manufacturing Service จะมีเป็นจำนวนมาก   ส่วนด้านการวิจัยและพัฒนาหรือ  R&D  มีแต่สามารถเชื่อมต่อไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้น้อยมาก   และด้าน  promotion ,policy ,Incentives พอมีบ้าง

                จากสภาพการณ์ข้างต้น  ทำให้เห็นว่า “เรายังขาดตอนหลายอย่าง”   และ “ควรเร่งพัฒนา IC Design”    

                “ เนคเทคยินดีเป็นศูนย์กลางในการตั้งโจทย์ของประเทศ  และกลับไปดู Ecosystem ว่ายังขาดอะไรบ้าง   สิ่งไหนต้องสร้างสิ่งไหนต้องซื้อ  จุดนี้เป็นจุดสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และผมอยากให้เกิดในประเทศไทย และทำให้เราปักหมุดได้ว่าเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะในประเทศไทย เราควรจะยืนอยู่ตรงไหน จึงจะคุ้มค่าที่สุด”