TCELS เร่งผลักดันผู้ประกอบการชีววิทยาศาสตร์สู่ตลาดทุนเพื่อเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน

News Update

              อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์  เป็นอุตสาหกรรมที่หลาย ๆ ภาคส่วนมองเห็นศักยภาพ และร่วมกับขับเคลื่อนให้เป็น 1ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศสามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของโลก และเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายในการเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ”  ภายในปี 2570

              แต่การจะผลักดัน “อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์” ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทั้งเทคโนโลยี ระยะเวลา และเงินลงทุนที่สูงมาก ดังนั้นการที่จะทำให้ผู้ประกอบการด้านชีววิทยาศาสตร์สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีผู้ร่วมทุนที่ดี

              ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS  ภายใต้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงร่วมมือกับวีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค  และสมาคมการค้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STTA)  จัดงาน “ Bio Asia Pacific 2024” ขึ้น เมื่อวันที่ 11-13 กันยายน ที่ผ่านมา  โดยเป็นงานแสดงนิทรรศการ ผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านชีววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์สมัยใหม่ และการประชุมด้านชีววิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก    

              ทั้งนี้ในงานยังมีการเสวนาที่น่าสนใจคือ  “ Business Forum 2024 : The Age of Life Sciences Industry”ภายใต้ประเด็น Roadmap to Capital Market ซึ่งได้ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์จริงในการผลักดันธุรกิจชีววิทยาศาสตร์เข้าสู่ตลาดทุน มาบอกเล่าประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนมุมมองสำหรับการเติบโตในตลาดทุนของธุรกิจชีววิทยาศาสตร์

              ว่าที่ร้อยเอก ภก.ดร.วฤษฎิ์ อินทร์มา ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน  ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS   กล่าวว่า   ฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฯ  มีภารกิจหลักในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการด้านชีววิทยาศาสตร์ให้สามารถเข้าสู่ธุรกิจหรือเข้าสู่ระดับอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมดังนั้นเป้าหมายหลักของการร่วมจัดงาน Bio Asia Pacific 2024 ก็คือ การทำให้ผู้ประกอบการชีววิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสพบกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพออกสู่ตลาดในระดับสากล   

              “ในปี 2565  อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ไทย มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 89,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากว่า 40 ปี  พบว่ามีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับด้านชีววิทยาศาสตร์ไม่ถึง 30 บริษัท  จากผู้ประกอบการด้านชีววิทยาศาสตร์ไทยในปัจจุบันที่มีกว่า 1,000 ราย ดังนั้นหากทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น  จะช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้สามารถขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น”

              ทั้งนี้บทบาทของ TCELS    ก็คือ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง เข้าสู่ตลาดทุน โดยเฉพาะตลาด Live Exchange ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหุ้นของวิสาหกิจขนาดกลาง (SME) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ซึ่งตลาด  Live Exchange จะเป็นเหมือนสปริงบอร์ด เพื่อให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดเข้าสู่ตลาด SET ได้ง่ายขึ้น

              สำหรับความพร้อมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย  5   กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ  เภสัชภัณฑ์  เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์  เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และบริการทางการแพทย์และสุขภาพ  ว่าที่ร้อยเอก ภก.ดร.วฤษฎิ์  บอกว่า กลุ่มที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดทุนมากที่สุดคือบริการด้านสุขภาพ เพราะตรงตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด   ส่วนกลุ่มที่สามารถทำผลประกอบการได้ดี คือ  บริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลศรีสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการยกระดับธุรกิจชีววิทยาศาสตร์เพื่อเข้าสู่ตลาดทุน และได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ ฯ ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัทไลฟ์ฟินคอร์ป และกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)

              ขณะเดียวกัน กลุ่มยาหรือเภสัชภัณฑ์  ก็มีความพร้อมสูง โดยเฉพาะการผลิตยาที่หมดสิทธิบัตรแล้วหรือ Generic drug ที่สามารถนำมาผลิตในประเทศไทยเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ  ส่วนเครื่องมือแพทย์ ไทยยังมีความสามารถในการผลิตในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ  เช่น ถุงมือทางการแพทย์ ที่ผลิตขายในไทยได้ แต่หากจะขยายไปตลาดต่างประเทศ ต้องผ่านมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันทาง TCELS ได้เข้าไปสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้าไปขายในยุโรปได้

              สำหรับด้านผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ประเทศไทยมีโอกาสในการส่งออกสูงเพราะได้มาตรฐาน ส่วนเครื่องสำอาง แม้มีมาตรฐาน แต่แข่งขันได้ยาก เพราะติดเรื่องแบรนด์สินค้า TCELS จึงสนับสนุนการสร้างเครือข่ายกับบริษัทในต่างประเทศ โดยเน้นให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ส่งวัตถุดิบให้กับแบรนด์ต่าง ๆ

              อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา TCELS มีทุนสนับสนุนผู้ประกอบการด้านชีววิทยาศาสตร์ประมาณปีละ 400 ล้านบาท และยังมีการสนับสนุนด้านอื่น  ๆ เช่น การจัดอบรม และการจัดกิจกรรมจับคู่กับนักลงทุน 

              ปัจจุบันจากการสนับสนุนของ TCELS พบว่ามีผู้ประกอบการประมาณ 13 รายที่ TCELS มองว่ามีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดทุนสูง และคาดว่าภายใน 3-5 ปีนี้ แต่ละบริษัทจะสามารถสร้างมูลค่าได้สูงถึง 3,000-5,000 ล้านบาท.