กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดกิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้ในการสร้างดาวเทียมผ่านโครงการ School Satellite Competition 2024 ปี 2 โดยรอบแรกผ่านการคัดเลือกจำนวน 18 ทีมจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศได้เข้าร่วมอบรมศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาดาวเทียม ในระหว่างวันที่ 10 – 14 กันยายน 2567 ณ Holiday Inn & Suites อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
นายพีร์ ชูศรี รองผู้อำนวยการภารกิจด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ GISTDA กล่าวว่า โครงการ School Satellite Competition 2024 ปี 2 เป็นความตั้งใจของทาง GISTDA ที่ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถให้กับเยาวชน ผ่านการถ่ายทอดจากวิศวกรดาวเทียมที่สร้างดาวเทียม THEOS-2A กิจกรรมนี้ต้องการกระตุ้นความสนใจของเยาวชนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนในระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิด ออกแบบและสร้างดาวเทียมขนาดเล็กด้วยตนเองซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและเปิดโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีมากกว่าในห้องเรียน สู่การพัฒนาบุคคลากรพร้อมใช้งานในภาคอุตสาหกรรมอวกาศต่อไปในอนาคตและที่สำคัญเยาวชนจะได้รู้จักถึงกระบวนการคิด การออกแบบดาวเทียมให้เหมาะสมกับภารกิจของตนเองที่ได้คิดไว้เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ
รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อว่า หลังจากเปิดรับสมัครโครงการฯ ได้รับการตอบรับที่ดีมาก มีสถานศึกษาจากทั่วประเทศสนใจสมัครเข้าร่วมแข่งขันกว่า 100 ทีม จากนั้น GISTDA ได้พิจารณาผู้ผ่านเข้ารอบเหลือเพียง 18 ทีม ได้แก่ รร.กำเนิดวิทย์ ระยอง, รร.ราชวินิตบางแก้ว สมุทรปราการ, รร.เตรียมอุดมศึกษา กทม., รร.สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, รร.ยุพราชวิทยาลัย เชียงใหม่, รร.ปิยะมหาราชาลัย นครพนม, รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กทม., รร.สุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นครราชสีมา, รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ นครปฐม, รร.อัสสัมชัญสมุทรปราการ, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2 ทีม, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 ทีม, ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ม.ศิลปากร และ ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ โดยแต่ละทีมต่างนำเสนอผลงานตามโจทย์ที่ทาง GISTDA กำหนดภายใต้ธีม Global Environmental Surveillance ซึ่งเป็นการติดตามสภาพสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เป็นภารกิจการสังเกตการณ์ วิเคราะห์ ติดตามการเปลี่ยนแปลงหรือประเมินสถานะของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศสิ่งแวดล้อมทั่วโลกด้วยดาวเทียม Cubesat เพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มความสามารถในการจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
“วันนี้เราได้ 6 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ได้แก่ ทีมสัปปะรด จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, ทีม CUBESIT NONG CUBESAT จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ฝ่ายมัธยม), ทีมวิศวะขอบตาดำ จากโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว, ทีม VanillaPudding จาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, ทีมสาหร่ายทะเล ลดความเกเรของชายหาด(Naughty Seaweed) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและ ทีม EM (Elephas Maximus) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ “
ทั้ง 6 ทีมนี้จะได้สิทธิเข้าร่วมรับการถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาดาวเทียมในรูปแบบ online และลงมือปฏิบัติจริง Workshop & Training โดยแต่ละทีมจะประกอบและทดสอบดาวเทียม School Satellite Engineering model จำนวน 1 ดวง/ทีม และคัดเลือกตัวแทนแต่ละตำแหน่งจาก 6 ทีม เพื่อเข้าร่วมประกอบและทดสอบดาวเทียม Cubesat Filght Model จำนวน 1 ดวงพร้อมนำส่งดาวเทียมจริงร่วมกับทีมวิศวกร GISTDA ต่อไป