วช.โชว์ผลงานนักประดิษฐ์นักวิจัยไทย คว้ารางวัลปีนี้แล้ว 385 ผลงานจาก 7เวทีนานาชาติ

News Update

วช.มอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดี แก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่คว้ารางวัลจาก 7 เวทีนานาชาติปีนี้ ได้รางวัลแล้ว 385 ผลงาน

               เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดี แก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ (Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony) โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตร

                ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า พิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดี แก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ (Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony) ที่จัดขึ้น มีวัตถุประสงค์ในการแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์นักวิจัยไทยในการสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย พร้อมทั้ง สร้างแรงจูงใจให้แก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ในการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมและนวัตกรรมที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 

               วช.ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักประดิษฐ์นักวิจัยไทย พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลงาน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ โดยกลไกในการแข่งขันและประกวดในเวทีนานาติ ได้สร้างแรงกระตุ้นในการพัฒนาคุณภาพผลงานประดิษฐ์คิดค้น นวัตกรรม และผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยวช.ได้รับการประสานงานและได้รับมอบหมาย จากองค์กรด้านการประดิษฐ์คิดค้นจากนานาประเทศ อาทิ International Federation of Inventors’ Associations หรือ IFIA , World Invention Intellectual Property associations หรือ WIIPA , Korea Invention Promotion Association หรือ KIPA เป็นต้น ในการนำผลงานประดิษฐกรรมและนวัตกรรมจากประเทศไทยเข้าร่วมประกวดแข่งขันและจัดแสดงในเวทีนานาชาติ

               พร้อมกันนี้ จากกลไกคุณภาพในการดำเนินงานและมาตรฐานของผลงานของไทย นานาประเทศได้ตอบรับการนำผลงานเข้าร่วมเวทีการประกวดและแข่งขันระดับนานาชาติของประเทศไทยเช่นเดียวกันพิธีมอบประกาศนียบัตรฯ ในครั้งนี้ เป็นผลสำเร็จของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่ระดับสากล ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา นอกจากนี้ เป็นการกระตุ้นให้มีการยกระดับศักยภาพมาตรฐานของประเทศไทยในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม  และส่งเสริมให้เกิดการนำประดิษฐกรรม นวัตกรรมและผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

               สำหรับในปีนี้ นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย สามารถคว้ารางวัลจากการประกวด  385 ผลงาน จาก 7 เวทีระดับนานาชาติ ประกอบด้วย

              1.เวที “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน จำนวน 4 รางวัล คือ ผลงานเรื่อง “PlasOne เทคโนโลยีพลาสมาเย็นจากอากาศเพื่อการฟื้นฟูเส้นผม” โดย ดร.พิพัฒน์ ปรมาพิจิตรวัฒน์ และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ผลงานเรื่อง “กาแฟอะราบิกาจากกระบวนการผลิตใหม่ Facultative Anaerobic Yeasts (FAY) process”  โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขุมาภรณ์ กระจ่างสังข์ และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ผลงานเรื่อง “ความยั่งยืนในการเก็บเกี่ยว: แนวทางที่เป็นนวัตกรรมสำหรับผลพลอยได้จากถั่วแมคคาเดเมียและโซลูชั่นด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์สะอาด” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร บุญยืน และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผลงานเรื่อง “”วายู เบรทโทโลจี” นวัตกรรมเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจากลมหายใจ” โดย ดร.เธียร์สิทธิ์ นาสัมพันธ์ แห่ง บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด

              ในเวทีนี้ยังได้ เหรียญทองจำนวน 16 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 42 รางวัล และเหรียญทองแดง จำนวน 31 รางวัล นอกจากนี้ประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ยังได้รับรางวัล Special Prizes on stage จากองค์กรนานาชาติ on stage  เช่น  ผลงานเรื่อง “เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการขยะชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน” โดย ดร.เรวดี อนุวัฒนา และคณะ แห่ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  จาก Hong Kong Delegation เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน   ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ปรับองศาข้อมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษากระดูกข้อมือหลังการผ่าตัด” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  จาก The Energy Educational Institute (N.I.E.C.I) สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน  ผลงานเรื่อง “CRA Ambulance Boat : เรือฉุกเฉินต้นแบบเพื่อนำส่งผู้ป่วยในพื้นที่ทุรกันดารที่มีการประสานผ่านระบบ Telemedicine”โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล และคณะ แห่ง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  จาก The Polish Inventors and Rationalizers Association สาธารณรัฐโปแลนด์   และ ผลงานเรื่อง “โดรนอัจฉริยะ” โดย นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล และคณะ แห่ง สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับจาก The Saudi Arabian Delegation ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

              2.เวที “The 35th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2024) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล ITEX 2024 Best Invention Award International และ ITEX 2024 Best Invention Award Individual ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน

              โดยผลงานที่ได้รางวัล ITEX 2024 Best Invention Award – International คือ “ผลิตภัณฑ์จักสานสร้างสรรค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านงานหัตถกรรม” โดย นายฐิติกร วงค์เลื่อน และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  ส่วนรางวัล ITEX 2024 Best Invention Award – Individual คือผลงานเรื่อง “C Can PLUS CBD” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น และคณะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

              ในเวทีดังกล่าวยังมีผลงานที่ได้เหรียญทองจำนวน 41 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 29 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 2 รางวัล

              3.เวที “The 17th International Invention and Innovation Show” (INTARG 2024) ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล Platinum Award และรางวัล Diamond Award ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน และเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่เหรียญทองจำนวน 25 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 11 รางวัล

              4.เวที “The 7th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo 2024” ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เหรียญทองจำนวน 41 รางวัล และเหรียญเงินจำนวน 10 รางวัล

              5.เวที “Japan Design, Idea and Invention Expo” (JDIE 2024) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เหรียญทองจำนวน 49 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 20 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 4 รางวัล

              6.เวที  “WorldInventTM Singapore 2024″ (WoSG) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล World Champion ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน และเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เหรียญทองจำนวน 18 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 9 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 6 รางวัล

              7.เวที “Indonesia Inventors Day 2024” (IID 2024) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล Grand Prize ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน จาก ผลงานเรื่อง “เครื่องดื่มสารสกัดเนื้อผลกาแฟคอฟโฟจีนิกดริ๊งค์” จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา ศรีมะเริง วรรธนะภูติ และคณะ  และเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เหรียญทองจำนวน 14 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 9 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 4 รางวัล