เนคเทค-สวทช. จัด “รวมพลคน KidBright Online” ครั้งที่ 3 แข่งขัน KidBright AI Bot Tournament ด้วยภาษาถิ่น พร้อมเปิดตัวชุดสื่อการเรียนการสอน“UtuNoi STATION”ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ข้อมูลด้วยบอร์ดคิดไบร์ท
วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2564) ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) จัดกิจกรรม “รวมพลคน KidBright online” ครั้งที่ 3 KidBright Developer Conference 2021 (KDC21) ภายใต้ธีมงาน: Data Science with KidBright โดย ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการเปิดงาน รวมพลคน KidBright และการแข่งขัน KidBright AI Bot Tournament ด้วยเสียงภาษาถิ่น ซึ่งในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จึงเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเป็นแบบ Online เพื่อให้ผู้สนใจทั่วประเทศสามารถเข้าร่วมกิจกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ยินดีที่มีโอกาสได้มาเห็นความก้าวหน้างานวิจัยด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่พัฒนาโดย สวทช. ได้แก่ KidBright (คิดไบรท์) บอร์ดส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งและสะเต็ม เว็บแอปพลิเคชันสอนวิทยาศาสตร์ข้อมูล และแพลตฟอร์มสอนปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้พัฒนาทักษะแห่งอนาคตและความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย การจัดงานดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะกับทุกช่วงการศึกษา มีการเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมแก่ผู้สนใจให้นำไปต่อยอดในด้านสังคมและเชิงพาณิชย์ ด้วยการเปิด Open source แพลตฟอร์มการสอนปัญญาประดิษฐ์ และ Open Data ข้อมูลจากสถานีวัดสภาพอากาศด้วยบอร์ด KidBright เพื่อใช้ในการเรียนวิทยาศาสตร์ข้อมูล และมีการเผยแพร่กิจกรรมความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกกระทรวง รวมถึงนักพัฒนา หรือเมกเกอร์ และภาคอุตสาหกรรมในการยกระดับรูปแบบการเรียนให้ทันสมัย และขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ด้านดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า งาน“รวมพลคน KidBright” หรือ “KidBright Developer Conference” ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือ COVID-19) แพร่ระบาด จึงทำให้ปีนี้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเป็นรูปแบบ Online ในปี 2560 สวทช. ได้รับงบประมาณสนับสนุนให้จัดทำ โครงการ KidBright : Coding at School project โดยได้แจกบอร์ด KidBright จำนวน 200,000 บอร์ด ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 2,200 โรง และจัดอบรมการสอนโค้ดดิ้งให้กับบุคลากรผู้ฝึกสอน (Trainer) ตามภูมิภาคจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 คน
ทั้งนี้ในปี 2563 ที่ผ่านมา สวทช.ได้รับงบประมาณสนับสนุนใน โครงการพัฒนาครูและสร้างความเข้าใจและพื้นฐานการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับเด็กและเยาวชน จากโปรแกรม (Program) P4 ส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต (AI for All) เพื่อพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โครงการได้นำบอร์ด KidBright มาต่อยอดสร้างเป็นชุดสื่อการเรียนการสอน เรียกว่า “UtuNoi STATION” สถานีวัดสภาพอากาศที่ส่งข้อมูลผ่านบอร์ด KidBright ขึ้นบนระบบอุตุน้อย เพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศนำข้อมูล มาวิเคราะห์ร่วมกัน จึงเป็นที่มาของธีมในงาน: “Data Science with KidBright”
“ในปีที่ผ่านมา ทาง สวทช. ได้เปิดตัว AI Bot ที่ชื่อว่า”น้องขนมชั้น” หุ่นยนต์สอนปัญญาประดิษฐ์ ใน 1 ปีที่ผ่านมา สวทช. ได้ปรับปรุงให้เป็น KidBright AI Platform แพลตฟอร์มการเรียนรู้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การติดป้ายกำกับ การสร้างโมเดล ไปจนถึงการประยุกต์ใช้โมเดลผ่านการสร้างชุดคำสั่งแบบบล็อก ได้อบรมและส่งมอบให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ร่วมกับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 700 โรงเรียน และสร้างเทรนเนอร์ ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน และในปีเดียวกันนี้ทาง สวทช. ได้รับงบประมาณสนับสนุนใน โครงการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ครูและเยาวชนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อจัดการอบรมความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและส่งเสริมทักษะด้าน Computational Science ได้แก่ Coding, Embedded System, Internet of Things (IoT), รวมทั้งการใช้เครื่องมือจาก FabLab เช่น 3D Printer, Laser Cutter เพื่อพัฒนาชิ้นงาน/โครงการนวัตกรรมที่กำหนดขึ้นในค่ายอบรม (Workshop) โดยจะจัดอบรมให้กับครูและเยาวชนในเขตพื้นที่ EEC ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประเทศไทย 4.0”
งาน “รวมพลคน KidBright Online” KidBright Developer Conference 2021 (KDC21): Data Science with KidBright นี้ จะสร้างเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยโจทย์ใกล้ตัว และการที่นักเรียนคิดเองนั้นจะเกิดความสนุก และความภาคภูมิใจทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ในระดับลึกมากขึ้นในระดับอุดมศึกษา สามารถที่จะพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และสร้างสรรค์ผลงานสู่อนาคตต่อไป
การจัดงานดังกล่าว ได้มีการนำเสนอผลงานใน 4 โซนคือ 1. Coding at school 2. AI at school 3.Data Science at school และ 4. กลุ่มพันธมิตร AI for All คือกลุ่มส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ทั้งนี้ สวทช. ยังได้รวมการแข่งขัน: KidBright AI Bot Tournament จากโรงเรียนทั่วประเทศที่ได้ผ่านการอบรม KidBright AI ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง ในรูปแบบ online และ face to face ในช่วงเวลาเกือบ 6 เดือนของการอบรม โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น จำนวน 95 ทีม โดยรอบที่ 1 ได้มีการคัดเลือกเหลือภูมิภาคละ 10 ทีม รวมเป็น 40 ทีม จาก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลางรวมกับภาคตะวันออก และคัดเหลือ 8 ทีมสุดท้าย (ตัวแทนภาคละ 2 ทีม) ซึ่งเข้ารอบชิงชนะเลิศในงานวันรวมพลฯ นี้
สำหรับ UtuNoi PLAYGROUND เป็นเว็บแอปพลิเคชันที่ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ข้อมูล บนพื้นฐานของข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ อุณหภูมิ ความเข้มแสง ปริมาณน้ำฝน ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็ว/ทิศทางลม pm10 และ pm2.5 จากสถานีอุตุน้อย (UtuNoi STATIONs หรือ บอร์ด KidBright ที่ทำงานร่วมกับเซนเซอร์ทางอุตุนิยมวิทยา) โดยในที่นี้ เรียกกว่า “ข้อมูลอุตุน้อย” ทั้งนี้ UtuNoi PLAYGROUND ประกอบด้วย (1) การสร้าง playground เพื่อระบุสถานีอุตุน้อยที่สนใจ และการแสดง playgrounds ที่ได้เคยสร้างขึ้นไว้ (2) การแสดงข้อมูลในรูปตาราง เพื่อรวบรวมข้อมูลอุตุน้อยจากสถานีที่ระบุไว้ (ดำเนินการอย่างอัตโนมัติ) และสนับสนุนการจัดเตรียมข้อมูลให้พร้อมใช้งาน (3) การแสดงข้อมูลในรูปของกราฟ เพื่อสนับสนุนการสำรวจข้อมูล เช่น แนวโน้ม และความสัมพันธ์ เป็นต้น และ (4) การแสดงข้อมูลในรูปของแผนที่ เพื่อสนับสนุนการสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ ข้อมูลจาก UtuNoi PLAYGROUND นี้จะถูกเปิดให้ผู้สนใจเข้าใช้งานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา ซึ่งโรงเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าใช้งานเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนวิทยาศาสตร์ข้อมูลสำหรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา