ไทยขยับ! ดัชนีนวัตกรรมโลกสู่อันดับที่ 41 ตอกย้ำ “มาถูกทาง”และต้องผลักดันเป็น “วาระแห่งชาติ”

Cover Story

“ดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) อันดับที่ 30  ภายในปี 2573”   ก็คือเป้าหมายในการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทยที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2563   แม้จะดูว่ายังอีกยาวไกล  แต่ “เป้าหมาย”  ก็ยังไม่สำคัญเท่าเส้นทางการพัฒนา  ที่วันนี้…คงบอกได้ว่า “มาถูกทาง”

 การที่ประเทศไทยขยับขึ้น  2 อันดับของดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2567 (Global Innovation Index 2024 หรือ GII 2024) จากอันดับที่ 43 ในปี 2566 มาสู่อันดับที่ 41 จาก 133 ประเทศ หลังจากที่เคยหยุดนิ่งอยู่ในอันดับที่ 43-44 มาตั้งแต่ปี 2561 จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี 

และถือว่าเป็นอันดับที่ดีที่สุดของประเทศไทย  ในช่วงกว่า 10 ปี นับตั้งแต่เข้ารับการจัดอันดับของดัชนีนวัตกรรมโลก  ที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)  จัดทำขึ้น เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศทั่วโลก  ซึ่งในปีนี้การจัดอันดับดังกล่าว จัดขึ้นภายใต้ธีม   ปลดล๊อกศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Unlocking the Promise of Social Entrepreneurship)

ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA  เปิดเผยว่า การจัดอันดับดัชนี GII ในปีนี้ ให้ความสำคัญกับประเด็นการปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระแสการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ประกอบการเพื่อสังคมจำนวนมากที่กำลังค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาสังคมที่สำคัญด้วยนวัตกรรม  ซึ่งการศึกษาเรื่องนี้ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายนวัตกรรมและโครงการสนับสนุนด้านนวัตกรรมสามารถขยายและปรับปรุงโครงการของผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่สามารถขยายขอบเขตการดำเนินงาน  เพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้างที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ในปีนี้นับเป็นข่าวดีของวงการนวัตกรรมไทยที่ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2567 หรือ GII 2024 ประเทศไทยขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 ด้วยคะแนน 36.9  จากอันดับที่ 43 ในปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยมีอันดับดีขึ้น ทั้งปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input subindex) ขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 (เดิมอันดับ 44) และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output subindex) ขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 39   (เดิมอันดับ 43) ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพของปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลผลิตทางนวัตกรรมได้ออกมามากกว่าปัจจัยนำเข้าที่ใส่ลงไปเพื่อพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม”

 ทั้งนี้ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่คาดหวังตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ  ซึ่งประเทศไทยมีพัฒนาการด้านนวัตกรรมดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (Upper middleincome economies) ในทุกปัจจัย   เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบนจำนวน 34 ประเทศ เช่นเดียวกันในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย  ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จากจำนวน 17 ประเทศ และยังคงอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเกือบทุกประเทศในอาเซียน มีอันดับดัชนี GII ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่ก้าวกระโดดสูงขึ้น 7อันดับ อยู่อันดับที่ 54เวียดนามดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 44และประเทศมาเลเซียดีขึ้น 3 อันดับ อยู่อันดับที่ 33 

 และ เมื่อพิจารณาความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ทั้ง 7 ปัจจัย ประเทศไทยมีอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้นในเกือบทุกปัจจัยจากปีที่แล้ว   โดยเฉพาะปัจจัยด้านระบบธุรกิจ (Business Sophistication) ขยับดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 41  โดยตัวชี้วัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวม ภายในประเทศสำหรับ
การวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนโดยองค์กรธุรกิจต่างๆ (GERD financed by business) ประเทศไทยยังคงครองอันดับที่ 1 ติดต่อกัน 5 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

ดร. กริชผกา  กล่าวว่า การจะทำให้อันดับความสามารถด้านนวัตกรรมประเทศไทย ขยับขึ้นได้นั้น จำเป็นต้อง  อาศัยหลายๆปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งการสร้างบุคลากร  สร้างผลิตภัณฑ์ มีทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ประโยชน์ รวมถึงมีการขับเคลื่อนในรายอุตสาหกรรมเป้าหมาย  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน   การขับเคลื่อนในเรื่องนี้ จึงควรผลักดันให้เป็น “วาระแห่งชาติ”   ร่วมกันคิดยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ที่จะทำให้ผลการจัดอันดับดีขึ้น อย่างน้อยในปีหน้าอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกของประเทศไทยก็จะไม่แย่ไปกว่าเดิม    

 ทั้งนี้ NIA  ได้เปิดเวทีเสวนา “การพัฒนาระบบนวัตกรรมและการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรม”  โดยเครือข่ายพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม  เข้าร่วม ทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) องค์การการค้าโลก(WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)    กล่าวว่า  ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกของประเทศไทยในปีนี้  แสดงให้เห็นว่าเรามาถูกทิศทาง  การจะทำให้อันดับดีขึ้นอย่างรวดเร็ว  จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย  ๆ ภาคส่วน ผสานพลังกัน และออกแบบการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ไปด้วยกัน   ซึ่งในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ  จะมีสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ   ซึ่งมีกรรมการจากหลากหลายหน่วยงานจากกระทรวงต่าง ๆ    เพื่อผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ดีการจะก้าวไปข้างหน้า ต้องมีการมุ่งเป้าอย่างชัดเจน  และมีเครื่องมือในการปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งด้านงบประมาณ และระบบนิเวศนวัตกรรม ซึ่งต้องส่งเสริมการมองตลาดทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกด้วย

นอกจากนี้ในเวทีเสวนายังมีการกล่าวถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหากมีการส่งเสริมให้มีการยื่นขอการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากจะปกป้อง คุ้มครองนวัตกรรมแล้ว ยังสามารถนำไปซื้อขายสร้างรายได้ และมีส่วนทำให้การจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกของประเทศไทยดีขึ้นได้อีกด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องข้อมูลด้านนวัตกรรมของประเทศ ที่มีผลต่อการจัดอันดับ  ดร. กริชผกา กล่าวว่า ในส่วนของข้อมูลที่ยังไม่มีหรือขาดการอัพเดท  จะมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในเร็ว ๆ นี้  อย่างไรก็ดีปัจจุบันตัวเลขการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน  ดังนั้นภาครัฐจึงควรลงทุนเพิ่มเข้าไป    เพราะมีหลาย ๆ ประเทศ ที่ลงทุนด้านด้านวิจัยและพัฒนาถึง  4-5 % ของ GDP ขณะที่ประเทศไทย ยังไม่ถึง 2 %  ต่อ GDP จึงต้องพยายามที่จะข้ามจุดนี้ไปให้ได้  นอกจากนี้ควรส่งเสริมการใช้สินค้านวัตกรรมของไทย และนำออกสู่ตลาดโลก

 “ เป้าหมาย 2573 เป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก ในการขยับประเทศไทยให้อยู่ในอันดับที่ 30  แต่เป็นเป้าหมายที่เราทำได้  ถ้าเราทำด้วยกัน ”  ดร. กริชผกา  กล่าว