มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรม Academy เสริมศักยภาพให้ผู้เข้ารอบ 30 คน จากโครงการคัดเลือก “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “เกษตรพื้นถิ่นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเกษตรไทย” โดยเน้นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทยอย่างยั่งยืน
คุณณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ ผู้แทนมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และผู้จัดการทั่วไป บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด กล่าวว่า โครงการ “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” ภายใต้มูลนิธิร่วมด้วยช่ว่ยกันสำนึกรักบ้านเกิด มีเป้าหมายหลักเพื่อยกย่องเกษตรกรต้นแบบที่มีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ได้จัดกิจกรรม Academy เสริมศักยภาพให้ผู้เข้ารอบ 30 คน จากโครงการคัดเลือก “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “เกษตรพื้นถิ่นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเกษตรไทย”
โดยกิจกรรมครั้งนี้มุ่งเน้นเสริมศักยภาพเกษตรกรใน 4 มิติสำคัญ ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ที่รักษ์สิ่งแวดล้อม, การนำเทคโนโลยีมาเสริมอาชีพเกษตรกร, การยกระดับมาตรฐานการผลิต และการสร้างแบรนด์สินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ในปี 2024
ภายในงานนี้มี คุณปุณยนุช วงศธรวรกุล ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแสดงความยินดีกับเกษตรกรผู้เข้ารอบ 30 คนของโครงการฯ และได้รับความร่วมมือจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญหลากหลายภาคส่วนมามอบความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อพัฒนาเกษตรกรไทยในมิติใหม่ ดังนี้
- คุณคงพัฒน์ ประสารทอง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ True Farm ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป และ คุณศจีวรรณ หิรัญสถิตย์พร ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ True Farm ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันบรรยายในหัวข้อ พัฒนาทักษะ Digital ให้ Smart Farmer โดยนำเสนอการนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างโอกาสในธุรกิจการเกษตร ผ่านโซลูชันการเกษตรอัจฉริยะของทรู ฟาร์ม (True Farm) ที่ครอบคลุมทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจเกษตร โดยใช้เทคโนโลยี 5G ในการเชื่อมโยงข้อมูลและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนยิ่งขึ้น
- คุณธีรพัชส ประสานสารกิจ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร กล่าวถึง การทำเกษตรอินทรีย์โดยผสมผสานกับแนวคิดเกษตรอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพในการจัดการฟาร์ม พร้อมเชื่อมโยงแนวคิดเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูดินและการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน เพื่อสร้างระบบเกษตรที่ยั่งยืน
- อาจารย์วรเกษมสันต์ สิริศุภรัชต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับสินค้าเกษตรเพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการแปรรูปอย่างมีคุณภาพ และการส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ โดยชี้ให้เห็นว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปไม่เพียงช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก แต่ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้เข้าถึงผู้บริโภคใหม่ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางการตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล
- อาจารย์ภูสิษฐ์ จาตุรงคกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาดและการสร้างแบรนด์ แบ่งปันเคล็ดลับการสร้างมูลค่าสินค้าให้ชนะใจด้วยบรรจุภัณฑ์ Packaging Trend 2024 ซึ่งบรรจุภัณฑ์ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ผ่านการออกแบบที่ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคและตอบโจทย์แบรนด์
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่ร่วมจัดกิจกรรมนี้ ต่างมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและสร้างสรรค์เกษตรกรรมที่ยั่งยืนในประเทศไทยเพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเกษตรกรและผู้บริโภคต่อไป