“Cyber Range Thailand 2024” เวทีสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์

News Update

                 ประกาศผลและมอบรางวัลกันไปแล้วเมื่อ  19 ตุลาคม ที่ผ่านมา กับงาน   “Cyber Range Thailand 2024” การประกวดแข่งขันด้าน Cybersecurity ที่  Solar บริษัท คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)  ร่วมกันจัดขึ้น

                 เพื่อส่งเสริมประโยชน์ของ Cyber Range ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและ Cybersecurity ในประเทศไทย  และเพิ่มทักษะให้กับสถาบันการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างองค์กรที่มีความยืดหยุ่นด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์  รวมถึงการมีเครื่องมือและวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

                 โดย Cyber Range  จะเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงเฉพาะทางที่จำลองโครงสร้างพื้นฐาน IT/OT ให้เหมือนกับโลกแห่งความเป็นจริงเพื่อการฝึกอบรม การทดสอบ และพัฒนาทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

                 รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  กล่าวว่า “มจธ. มีนโยบายสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนานวัตกรรม ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงสร้างความตระหนักด้านสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์   ซึ่งการประกวดแข่งขัน “Cyber Range Thailand 2024”  เป็นการพัฒนา สนับสนุน และเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อม ความรู้ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญในสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์  มหาวิทยาลัยจึงสนับสนุนอย่างเต็มที่กับทุกภาคส่วน  เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน นวัตกรรม บุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ ยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การเรียนการสอนให้ได้ปฏิบัติและทดลองจริง ที่จะเป็นพลังสำคัญให้เกิดคุณค่าและความเข้มแข็งของประเทศ”  

                 นาวาเอกหญิง ศิริเนตร รักษ์วงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า “สกมช. มีนโยบายให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อเป็นกลไกและต่อยอดสู่การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่แพร่หลายในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนในประเทศไทย อันนำมาซึ่งการขับเคลื่อนให้มีความแข็งแกร่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน  สกมช.ยินดีการสนับสนุนการประกวดแข่งขันทางด้าน Cybersecurity ในงานดังกล่าว เพื่อให้เกิดความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามและรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งได้รับความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติในสถานการณ์จำลองเสมือนจริง เพื่อให้มีความพร้อมสูงสุดในการรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ และสร้างแรงงานออกสู่ตลาดแรงงานในอนาคต”

                  ด้าน Mr. Artem Padeyskiy, International Sales Director แห่ง Solar  กล่าวว่า “การประกวดแข่งขันในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนเป็นอย่างมาก โดยมีผู้สนใจส่งผลงานมากกว่า 400 คนจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศและประชาชนทั่วไป มีผู้ผ่านรอบสุดท้ายและมาร่วมแข่งชิงชนะเลิศจำนวน 45 คน โดยแบ่งออกเป็น 9 ทีมในวันแข่งขัน ซึ่งเวทีนี้เปิดโอกาสให้ทุกท่านได้แสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ได้ไร้ขีดจำกัด เพื่อรองรับนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลไทย อันจะนำไปสู่การเติบโตอย่างก้าวหน้าในอนาคตต่อไป”

                 ขณะที่นายเอกชัย อรุณสกุล กรรมการผู้จัดการ  บริษัท คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด (CLOUDSEC ASIA COMPANY LIMITED) กล่าวว่า “บริษัทฯ เป็นผู้นำในการให้บริการด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและเทคโนโลยีโซลูชันด้านความปลอดภัยข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยงของความปลอดภัยอย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าช่วยให้รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ และสร้างอนาคตของโลกดิจิทัลให้มั่นคงปลอดภัย สำหรับการประกวดแข่งขันในครั้งนี้ ขอขอบคุณสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่ส่งบุคลากรเข้าร่วมแข่งขันพร้อมกันนี้ขอแสดงความยินดีกับทีมที่ได้รับรางวัล ที่มาร่วมสร้างสรรค์วางแผน ฝึกทักษะ อบรมปฏิบัติ เพื่อพัฒนาประสบการณ์ การเรียนรู้ และแนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและฝึกใช้โซลูชันความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อีกทั้งยังจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผู้เชี่ยวชาญให้กับอุตสาหกรรมต่อไป”

                 สำหรับรูปแบบของการประกวดแข่งขัน “Cyber Range Thailand 2024” ประกอบด้วย 1.การพัฒนาทักษะ โดยมีการอบรมฝึกซ้อมการตอบสนองด้านความปลอดภัยคุกคามทางไซเบอร์ และเปิดรับทักษะใหม่ ๆ ผ่านระบบ Cyber Range ระดับโลก ผู้เข้าร่วมการแข่งขันสามารถมีส่วนร่วมในการตอบสนองต่อการจำลองภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สมจริงผ่านแบบฝึกหัดการตอบสนองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ถูกจำลองขึ้นได้  2. Talent Gap การฝึกอบรมภาคปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างทักษะและลดช่องว่างให้กับบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม 

                 และ 3. การส่งเสริมนวัตกรรม  โดยการแข่งขันจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและนำนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาใช้ บุคลากรที่เข้าแข่งขันสามารถทดสอบแนวคิด แก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและโต้ตอบกับโซลูชันความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สามารถจำลองเหตุการณ์ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจริงได้

                 ทั้งนี้จากผู้ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน  45 คน แบ่งเป็น 9 ทีม  ผลการแข่งขัน ปรากฏว่า ทีมทีมชนะเลิศรางวัลที่ 1  ซึ่งไม่ได้ตั้งชื่อทีม  ประกอบด้วย นายจักรพันธ์ ปาทาน คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าธนบุรี นายเชษฐมาส ตั้งสุขสันต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ผศ.ดร.ชินพงศ์ อังสุโชติเมธี สำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  นายธฤต ทองเปลว ห้องแลป SEC. 520 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)  และร้อยเอกศิระ ทรงพลโรจนกุล  กองทัพบก

                 โดยตัวแทนจากทีมชนะเลิศ  กล่าวว่า “ การเข้ามาแข่งขันครั้งนี้ เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในตลาดไซเบอร์ และเมื่อได้มารวมกันในหลายฝ่ายที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ได้มีการจัดการด้วยการแชร์เอกสารไว้ตรงกลาง  หากใครไปเจออะไรก็ให้นำมาใส่ไว้ตรงกลาง จะได้ไม่มีการทำงานซ้ำซ้อน เวลาจะเข้า VM จะมีการเตรียมตัวกันก่อนว่าใครจะเข้าตรงไหน จะได้ไม่ชนกัน และคุยกันว่าทุกคนมีความเข้าใจในแนวทางเดียวกันว่ากำลังทำอะไรกันอยู่  มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน  และมีการกระจายงาน  การที่ได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้จะนำประสบการณ์ไปต่อยอดในส่วนของไซเบอร์ และการทำงานสายงานนี้ต่อไปในอนาคต”

                 สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลที่ 2 ได้รับเงินรางวัลรวม 10,000 บาทพร้อมใบประกาศเกียรติบัตร ประกอบด้วย นายภูวสิษฏ์ เนื้อไม้หอม และ นายสิปปกร วรวัฒนานุกุล จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น  นายกับตัน พึ่งเป็นสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และนายธนนรินทร์  ใจแจ้ง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยธนบุรี

                 “ ทีมเราไม่ได้ตั้งชื่อทีมเช่นกัน เรามีจุดหมายอยากทำงานในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้  เนื่องจากงานด้านนี้ยังไม่ค่อยมีคนสนใจมากนัก เพราะเป็นการทำงานที่ซ้ำ ๆ เดิม ๆ แต่ภัยทางไซเบอร์มีเกิดขึ้นแบบใหม่ ๆ แปลก ๆ ตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการพัฒนาเพื่อก้าวไปข้างหน้า ที่ผ่านมาไม่มี AI แต่ตอนนี้มี AI และมีศาสตร์ทางด้านโซเชียลเอ็นจิเนียริ่ง และภัยคุกคามก็มีจำนวนมาก การทำงานด้านนี้ยังขาดกำลังคน  การแข่งขันฯ นี้เป็นเหมือนศาสตร์ที่ 2 เพราะทำให้ได้มาต่อยอดการฝึกฝนให้มีความรู้มากขึ้น การได้รับรางวัลจะนำไปทำ portfolio สำหรับการทำงานและอื่น ๆ ต่อไป”  ตัวแทนจากทีมที่ได้รับรางวัลที่2 กล่าว

                 ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลที่ 3 ได้รับเงินรางวัลรวม 5,000 บาทพร้อมใบประกาศเกียรติบัตร  ประกอบด้วย ร.ต.อ.ภาวีร์  วีรวิทยาเศรษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ร.ท.วีรภัทร จันทร์เหล็ก และ ร.ท.กันต์ฐรัตน์ บัวคลี่ จากกองทัพอากาศ  นนอ.กัลยกฤต สุขเกษม โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช  และนายวรวุธ มะโณสงค์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.)

                 หัวหน้าทีมที่ได้รับรางวัลที่ 3 กล่าวว่า “  ตั้งชื่อทีมว่า “เทเบิ้ลเซเว่น” อยากเปิดโลกทัศน์และหาประสบการณ์เกี่ยวกับโลกของไซเบอร์และการแข่งขันอะไรใหม่ ๆ เพราะเพิ่งเรียนจบ จึงอยากเปิดตัวหาเครือข่าย ที่ผ่านมาการแข่งขัน Cyber Range ในประเทศไทยมีน้อย ทำให้ไม่ค่อยได้ฝึกฝนกัน การได้เข้าแข่งขันเป็นการฝึกทักษะและได้รู้ว่าอยู่ในระดับไหน ทำให้ได้ประสบการณ์มาพัฒนาตนเอง และฝึกจากสถานการณ์ที่เหมือนกับการทำงานจริง ๆ ทำให้มีการจัดการและบริหารทีม  ในฐานะหัวหน้าทีม มองว่าทุกคนมีดีในตัวเองอยู่แล้ว จึงบริหารจัดการด้วยการจัดทำ document กลางให้คนในทีมนำข้อมูลมาวางรวมกัน ทุกคนเข้าถึงได้ และเวลาที่ทุกคนมีไอเดียอะไรก็จะนำมาแชร์กัน แล้วก็ไปตาม Flow นั้น และไม่ได้บังคับว่าใครจะต้องทำอะไรเป็นพิเศษ ถ้าเจอคนในทีมว่างอยู่ก็จะขอให้ช่วยทำ

                 สำหรับการแข่งขันครั้งนี้เราไม่ได้ตั้งทีมกันมาก่อน ซึ่งทีมมาจากการเลือกแบบสุ่มแต่ละคนก็จะมีความสามารถฝึกฝนกันมาไม่เหมือนกัน ในการแข่งขันทุกคนก็จะมีเทคนิคในการหาที่ไม่เหมือนกัน อย่างใครที่เคยทำงานมาก่อนก็จะใช้เครื่องมือเป็นสามารถหาข้อมูลและรู้ว่าอยู่ตรงไหน บางคนไม่เคยทำงานนี้มาก่อนก็จะเข้าไปในเครื่องเลยจะไม่ค่อยได้ใช้เครื่องมือในการมอนิเตอร์หาข้อมูล ในการแข่งขันฯ รู้สึกเสียดายที่เตรียมตัวและฝึกยังมายังไม่มากพอ ทีมเราคงทำได้ดีกว่านี้ สำหรับการแข่งขันฯ เป็นการเปิดโอกาสให้ได้แสดงความสามารถทางด้านไซเบอร์ ในประเทศไทยมีเวทีให้แข่งขันน้อย อย่างคนที่มีประสบการณ์เขาก็ไม่รู้ว่าต้องแสดงความสามารถได้ในเวทีไหนบ้าง ซึ่งเวทีนี้จึงเป็นเวทีที่ได้โชว์ความสามารถและประสบการณ์ได้อย่างเต็มที่”