วว. วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศีรษะจากสารสกัดส้มแขกพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ สนับสนุนการต่อยอดเกษตรอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประสบผลสำเร็จวิจัยพัฒนา “ผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศีรษะจากสารสกัดส้มแขก” เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อราที่มีสถิติพบเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น พร้อมตอบสนองนโยบายภาครัฐในการรณรงค์ประชาชนให้ใช้ยาอย่างสมเหตุผล และสนับสนุนการใช้ยาที่พัฒนาจากสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน เพื่อลดค่าใช้ยาด้านยาที่ไม่จำเป็นตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย และตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการพัฒนาต่อยอดเกษตรอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และบริบทของเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบันปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสำคัญของโลก คนไทยเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวปีละ 38,000 คน คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจำนวนผู้เข้าบริการในโรงพยาบาลสำหรับโรคที่ไม่รุนแรงจะลดลง ประชาชนจะหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตนเอง รวมถึงเกิดกระแสตื่นตัวหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรซึ่งมาจากธรรมชาติและมีผลข้างเคียงน้อยเพิ่มขึ้น เนื่องจากการรักษาด้วยยาต้านเชื้อราเมื่อใช้เป็นระยะเวลานานจะเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย เช่น ระคายผิว ผิวแห้ง หรือผิวหนังอักเสบจากการแพ้ยา และเกิดการดื้อยาในผู้ป่วยบางคน
จากปัญหาดังกล่าว ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. จึงมีแนวคิดวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ปรับสมดุลผิวหนังจากส้มแขก ซึ่งเป็นพืชไม้ผลพื้นเมืองเกษตรอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคใต้ มีสรรพคุณรักษาโรคตามตำราแผนโบราณ ได้แก่ รักษารังแค เชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคกลากบนหนังศรีษะ และเชื้อราที่ก่อให้เกิดรังแคและโรคผิวหนังอักเสบบนหนังศรีษะ ทั้งนี้จากสถิติของสถาบันโรคผิวหนังในปี 2566 ระบุว่า โรคผิวหนังอักเสบบนหนังศรีษะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์สูงเป็นอันดับ 7 จาก 10 อันดับของผู้ป่วยทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีรายงานวิจัยที่พบว่า สารสกัดจากผลส้มแขกสายพันธุ์ Garcinia atroviridis ex T. Anders มีฤทธิ์ต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนัง (Trichophyton mentagrophytes, Trichophyton rubrum, Trichophyton tonsurans, Epidermatophyton floccosum, Microsporum canis และ Microsporum gypseum)
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ได้ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศรีษะจากสารสกัดจากผลส้มแขก และฤทธิ์ทางชีวภาพอื่น ๆ เช่น ฤทธิ์ต้านอักเสบยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซต์ในเซลล์ผิวหนังชนิดแมคโคฟาจ RAW 26 และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และได้พัฒนา ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศีรษะจากสารสกัดจากผลส้มแขกในรูปแบบแฮร์โทนิค พร้อมศึกษาประสิทธิภาพต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศีรษะ โดยพบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Trichophyton mentagrophytes DMST 19735) และกลุ่ม Malassezia spp. (Malassezia furfur ATCC 14521 และ Malassezia sloofiae ATCC 96809) สามารถยับยั้งการผลิตสารสื่อการอักเสบชนิด TNF-alpha และ IL-6 ต่อเนื้อเยื่อผิวหนังจำลอง โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อผิวหนังจำลอง Episkin Batch.No 23 RHE 174 รวมถึงศึกษาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ ควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ และได้ดำเนินการยื่นจดอนุสิทธิบัตรเรื่อง สูตรและกรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศีรษะจากสารสกัดส้มแขกเรียบร้อยแล้ว
วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศีรษะจากสารสกัดส้มแขก สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภคและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตสมุนไพรสู่ระดับมาตรฐานสากล โดยมีต้นทุนหรือค่าถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต 300,000 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 หรือที่ “วว. JUMP”