ยินดีกับประเทศไทย… ที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของการนำข้อมูลภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ
ซึ่งเมื่อ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านภูมิสารสนเทศของประเทศ ระยะ 5 ปี และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบทิศทางและแนวทางดำเนินงานภายใต้แผน ฯดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความพร้อมด้านระบบภูมิสารสนเทศเพื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ คือ1. การพัฒนาชั้นข้อมูลพื้นฐานของประเทศให้มีความพร้อม 2. การพัฒนาระบบให้บริการกลางของประเทศ รวมถึงส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลภูมิสารสนเทศ 3. การพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ และ 4. การส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจด้วยภูมิสารสนเทศ
และ “ NGIS Platform” ระบบสืบค้นและบริการภูมิสารสนเทศกลางของประเทศ ก็คือก้าวแรกในการบูรณาการข้อมูลภูมิสารสนเทศสำหรับประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของแผนปฏิบัติการดังกล่าว โดยจะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภูมิสารสนเทศของหน่วยงาน สำหรับประชาชน
ล่าสุด…สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ หรือ กภช. ได้มีการจัดสัมมนาและเปิดตัว “NGIS Platform” แพลตฟอร์มกลางเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลภูมิสารสนเทศ พร้อมบูรณาการข้อมูลให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ
สำหรับการพัฒนา “NGIS Platform” เกิดจากคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ หรือ กภช. ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐ มนตรี เพื่อดำเนินการด้านนโยบายเกี่ยวกับการจัดทำภูมิสารสนเทศ การจัดทำแผนที่ และการสำรวจข้อมูลระยะไกล ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของข้อมูลเป็นผู้อัพเดทข้อมูลเพื่อลดการซ้ำซ้อน พร้อมทั้งสามารถแลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2566 ที่ประชุม กภช. ได้มีมติเห็นชอบ(ร่าง) แผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งเป็นแผนแม่บท ฯ ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยในยุทธศาสตร์ที่ 3 ของแผนแม่บทดังกล่าวมีการกำหนดให้มีแพลตฟอร์มกลางของประเทศที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถนำไปใช้ต่อยอด และแลกเปลี่ยนชุดข้อมูลภูมิสารสนเทศ มีการเปิดเผยแก่ภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสถาบันการศึกษา
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศ และการสื่อสารไร้สายที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับความต้องการใช้งานข้อมูลภูมิสารสนเทศในปัจจุบัน ทำให้ระบบที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการดำเนินการดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาแผนงานต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้าถึงจากภาคเอกชนและประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงเป็นที่มาของโครงการ “NGIS Platform” ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แผนงานรองรับฯ คือ การปรับปรุงข้อมูลฐาน การปรับปรุงชุดข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นฐาน การปรับปรุงมาตรฐานภูมิสารสนเทศ การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลภูมิสารสนเทศของหน่วยงานสำหรับประชาชน และการสร้างความพร้อมด้านภูมิสารสนเทศ
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลเชิงพื้นที่มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ การพัฒนาประเทศทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการภัยพิบัติ การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่เนื่องจากข้อมูลทั้งหลายกระจัดกระจายกันอยู่ในแต่ละหน่วยงาน รวมถึงยังบูรณาการอยู่ในเฉพาะภาครัฐ ทำให้ประชาชนทั่วไปหรือหน่วยงานเอกชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แต่ในอนาคต คณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ หรือ กภช. กำลังทบทวนนโยบายในการกำหนดชั้นข้อมูล การจัดทำ ปรับปรุงข้อมูล รวมถึงนโยบายในการให้บริการที่ต้องเกิดการเผยแพร่ให้ภาคเอกชน ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ในทุกมิติ
ด้านดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กภช. กล่าวว่า ระบบ NGIS Platform เป็นระบบกลางของประเทศที่ทำหน้าที่บูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ การบูรณาการดังกล่าว ไม่ได้เป็นการนำข้อมูลมาไว้ที่ GISTDA แต่เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลจากต้นทางโดยตรง ซึ่งการเปิดตัวระบบ NGIS Platform ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกในการบูรณาการข้อมูลภูมิสารสนเทศสำหรับประชาชน แต่ความสำคัญของการขับเคลื่อน คือการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลเข้ามาและการแบ่งปันทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพการทำงานในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษาของประเทศ
“ที่ผ่านมา กภช. ได้ดำเนินการพัฒนามาตรฐานภูมิสารสนเทศ การพัฒนาระบบสืบค้นและบริการภูมิสารสนเทศกลางของประเทศ การพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรภาครัฐในระดับท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึงการบริการทางภาครัฐ และนำโครงสร้างพื้นฐานภูมิสารสนเทศของประเทศไปพัฒนากระบวนงานบริหารจัดการเชิงพื้นที่และสนับสนุนข้อมูลต่อการตัดสินใจในระดับนโยบาย ซึ่งแผนปฏิบัติการด้านภูมิสารสนเทศของประเทศนี้ มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ของประเทศตามนโยบายรัฐบาลที่จะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย”
สำหรับ “NGIS Platform” ปัจจุบันมีข้อมูลที่มีมาตรฐานสากลให้ประชาชนเข้าถึงและอ้างอิงได้กว่า 2 ล้านจุด โดยมีหน่วยงานภาครัฐร่วมบูรณาการใน 13 ชั้นข้อมูล คือ แปลงที่ดินโดยกรมที่ดิน เขตการปกครองโดยกรมการปกครอง เส้นทางคมนาคม โดยสำนักงานปลัดประทรวงคมนาคม เขตชุมชน/อาคาร โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ป่าไม้โดยกรมป่าไม้ การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยกรมที่ดิน แหล่งน้ำโดยกรมทรัพยากรน้ำ อุทกศาสตร์โดยกรมอุทกศาสตร์ หมุดหลักฐานแผนที่โดยกรมแผนที่ทหาร ความสูงภูมิประเทศเชิงเลข(DEM)โดยกรมแผนที่ทหาร ภาพแผนที่ภูมิประเทศโดยกรมแผนที่ทหาร ภาพถ่ายทางอากาศโดยกรมแผนที่ทหาร และภาพถ่ายดาวเทียมดัดแก้โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
ผู้สนใจ สามารถดูข้อมูลได้ที่ https://ngis.go.th
อย่างไรก็ดี…การวัดความสำเร็จของแพลตฟอร์มนี้ ไม่ได้อยู่ที่การเชื่อมโยงข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากข้อมูลภูมิสารสนเทศ ต่างเห็นตรงกันว่า … อยู่ที่คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการเปิด OPEN DATA จะเป็นตัวเร่งให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ และสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ได้.