ฝุ่นมาแล้ว ! ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูกาลที่ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศอย่าง PM 2.5 อีกครั้ง
ด้วย “PM 2.5” เป็นภัยร้ายขนาดจิ๋วที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กมากขนาดที่ขนจมูกยังไม่สามารถกรองได้ ทำให้เมื่อสูดดมเข้าไปสามารถเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด ก่อให้เกิดการระคายเคือง แสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะ หากสะสมเป็นเวลานานอาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดในที่สุด นอกจากนี้บางอนุภาคของ PM2.5 อาจเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น เส้นเลือดสมองตีบ และ หัวใจวายเฉียบพลันได้
การอยู่ในพื้นที่ ที่มี PM 2.5 เกินมาตรฐานย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นหากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษให้หมดไปได้ “การแจ้งเตือน” เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงต่อสุขภาพ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
และเป็นที่มาของการพัฒนา แอปพลิเคชัน “ เช็คฝุ่น ” ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่เป็นผลพลอยได้จากการวิจัย และเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการตรวจวัดเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม
ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ ของ GISTDA เปิดเผยว่า ปัจจุบันข้อมูลการตรวจวัดจากภาพถ่ายดาวเทียมได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษามลพิษในสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ เนื่องจากเทคโนโลยีดาวเทียมสามารถตรวจวัดและบันทึกข้อมูลได้อย่างสม่ำเสมอ และตรวจวัดได้เป็นวงกว้างในทุกพื้นที่ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ตอบโจทย์เรื่องการบริหารจัดการการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ได้ และลดข้อจำกัดของการใช้เครื่องมือตรวจวัดภาคพื้นดินที่แม้จะมีความแม่นยำสูงในบริเวณที่ติดตั้ง แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่
ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมอย่างจริงจัง โดยใช้ดูทุกเรื่องตั้งแต่ ทรัพยากรธรรมชาติ การเกษตร สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการประเมินเรื่องการดูดซับคาร์บอน สำหรับทวีปเอเชีย ประเทศไทยถือเป็นผู้นำเรื่องการใช้ประโยชน์จากดาวเทียม โดยเฉพาะ GISTDA ที่มีการผลักดันการสร้างแอปพลิเคชันเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลจากดาวเทียม และเรียกได้ว่าเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเรื่องการพัฒนาแอปพลิเคชัน ที่สามารถดูได้ทั้งพื้นที่เกษตร ทะเล ภัยพิบัติ น้ำท่วม เรื่องคาร์บอน รวมถึงจุดความร้อนต่าง ๆ
ทั้งนี้ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีอวกาศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดาวเทียมมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถตรวจวัดได้แบบละเอียดและลงลึกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบปัญหาในบางเรื่องที่เรายังหาคำตอบไม่ได้ อย่างเช่น ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่นอกจากเราจะใช้ดาวเทียมในการตรวจวัดปริมาณฝุ่นแล้ว ยังรวมไปถึงใช้ในการศึกษาองค์ประกอบของฝุ่นในแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลา เพื่อรู้ถึงแหล่งที่มา และเข้าใจ “ พฤติกรรมของฝุ่น” เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา PM2.5 ในอนาคต
ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีดาวเทียมทำให้เราเห็นในสิ่งตามองไม่เห็น และเป็นการเห็นแบบองค์รวม GISTDA มีการเก็บข้อมูลจากดาวเทียมมามากว่า 20 ปี และเริ่มตรวจวัดเรื่องฝุ่นมาประมาณ 7 ปี เมื่อเรารู้จักเรื่องฝุ่นแล้ว ข้อมูลดาวเทียมที่โคจรรอบโลกมากว่า 20 ปี ได้มีการบันทึกข้อมูลไว้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อย้อนหลังดูพฤติกรรมของฝุ่นที่เกิดขึ้นในอดีต จะพบว่าพฤติกรรมของฝุ่นเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง และทำให้เห็นผลกระทบในระยะยาวของฝุ่นที่มีต่อสุขภาพของคนไทย ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก
การศึกษา “ฝุ่น” ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งดูปริมาณความเข้มข้นของ PM2.5 จึงเป็นการมอนิเตอร์ให้คนระวังเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ โดยแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น”
เป้าหมายเรื่องฝุ่น ของ GISTDA ไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” เพื่อแจ้งเตือนประชาชน แต่เป้าหมายที่แท้จริง คือ การมุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ช่วยในการวางแผนเชิงนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล และทำได้จริง
สำหรับแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” มีการเปิดตัวเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา GISTDA ได้มีการพัฒนาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลฝุ่นมีความละเอียดและแม่นยำมากขึ้น โดยมีฟีเจอร์หลัก คือ ดูปริมาณฝุ่น PM2.5 ณ ตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้งาน ดูข้อมูลฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชม. ตามมาตรฐานการรายงานคุณภาพอากาศ หรือสามารถดูค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงได้ เพื่อวางแผนทำกิจกรรมประจำวัน มีการสรุปเป็นรายอำเภอ รายจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของฝุ่น กับปัจจัยต่าง ๆ เพื่อพยากรณ์อนาคต ซึ่งปัจจุบันสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 3-4 ชั่วโมง
ผู้ใช้งานสามารถเรียกดูข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นได้ตลอดเวลา โดยในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหา PM2.5 จำนวนมากในแต่ละปี พบว่ามีผู้เข้ามาใช้บริการแอปกว่า 2 แสนครั้งต่อวัน
อย่างไรก็ดี…ในช่วงที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษทางอากาศให้หมดไปจากประเทศไทยตามจุดมุ่งหมาย GISTDA มีแผนพัฒนาแอปพลิเคชัน “ เช็คฝุ่น” เพิ่มเติม ซึ่งนอกจากจะขยายพื้นที่การใช้งานไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคแล้ว ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพิ่มเติมสำหรับผู้พิการทางสายตา ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลในการเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 ได้ โดยจะมีการเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้
ผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “ เช็คฝุ่น ” ได้ทั้ง iOS และ Android เพียงค้นคำว่า “เช็คฝุ่น” ใน App Store และ Play Store