“ระบบการจัดการจราจรอวกาศ” จาก GISTDA คว้าผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี จาก วช.

News Update

               ปัจจุบันในอวกาศเต็มไปด้วยวัตถุอวกาศจำนวนมากกว่า 550,000 ชิ้น และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการโคจรด้วยความเร็วสูงของวัตถุอวกาศต่างๆ เหล่านี้เป็นภัยคุกคามกับดาวเทียมหรือยานอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศ  เพราะจะทำให้ดาวเทียมเกิดความเสียหายส่งผลให้ประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจลดลงหรือไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อไป นอกจากนี้ เศษซากดาวเทียมจะกลายเป็นขยะอวกาศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของการชนกับดาวเทียมเพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้อีก

               ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)   โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ใช้บริการข้อมูลจากหน่วยงาน Combined Space Operations Center (CSpOC) ของสหรัฐอเมริกา ในการแจ้งเตือนและวิเคราะห์โอกาสความเป็นไปได้ของการพุ่งชน โดย CSpOC จะส่งการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ GISTDA ก่อนล่วงหน้า 3 วัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการดาวเทียมสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

               อย่างไรก็ดี การใช้บริการข้อมูลจากหน่วยงานต่างประเทศก็มีข้อจำกัดและมีความเสี่ยงในการที่ผู้ให้บริการไม่สามารถติดต่อได้ แจ้งล่าช้า หรือระงับการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลต่อการติดตามการจราจรการชนของดาวเทียมไทยทุกดวง

               GISTDA เล็งเห็นว่าระบบการจัดการจราจรอวกาศเพื่อติดตามและแจ้งเตือนการชนเพื่อลดและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับดาวเทียมเป็นระบบที่มีความสำคัญมาก    ทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ S-TREC  GISTDA  นำโดย ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ ดร.สุวัฒน์ ศรีเสวต  หัวหน้าห้องปฏิบัติการกลศาสตร์วงโคจรจร (AstroLab)  นายกีรติ  พุทธสุวรรณ  นักพัฒนานวัตกรรม  และ นายพศวีร์ เสียงเย็น นักพัฒนานวัตกรรม  จึงพัฒนาระบบการจัดการจราจรอวกาศที่เรียกว่า “ ZIRCON”  ขึ้น

                เพื่อให้สามารถบริหารจัดการอวกาศได้ด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขอใช้บริการจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศภายในประเทศตามนโยบาย National Roadmap ของการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ หรือ Earth Space System Frontier Research : ESS เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ

               การดำเนินงานที่ผ่านมา GISTDA ประสบความสำเร็จในการใช้งานระบบการจัดการจราจรอวกาศ หรือ ZIRCON ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยสามารถแจ้งเตือนการพุ่งชนของวัตถุอวกาศกับดาวเทียมไทยโชตตามที่ CSpOC แจ้งเตือน ให้ทราบล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน และช่วยวิเคราะห์การเปลี่ยนวงโคจรได้อย่างดี ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิง และ ลดความเสี่ยงได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การติดตามการประเมินสถานการณ์และคาดการณ์จุดตกของสถานีอวกาศเทียนกง-1 กลับสู่โลก การแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี ตกสู่พื้นโลก หรือการแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี วาย4 ตกสู่พื้นโลก เป็นต้น

               ปัจจุบันทางทางองค์การอวกาศฟิลิปปินส์ หรือ Philippine Space Agency มีประสานหารือขอใช้บริการของระบบ ZIRCON  ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ตามร่างนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ (แผนโยบายและแผน SSA&STM) ภายใต้คณะนโยบายอวกาศแห่งชาติ  GISTDA มีหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแจ้งเตือนความเสี่ยงการชนในอวกาศกับดาวเทียมสัญชาติไทย ความเสี่ยงวัตถุอวกาศตกลงมากระทบประเทศไทย รวมไปถึงการทำฐานข้อมูลและปรับปรุงตำแหน่งของดาวเทียม หรือ Two line element (TLE) ดังนั้น GISTDA มีแผนพัฒนาต่อยอดขีดความสามารถให้พร้อมบริการการจัดการจราจรอวกาศตามที่ระบุหน้าที่ GISTDA ในร่างนโยบายและแผน SSA&STM

               ทั้งนี้ “ ZIRCON”  ระบบการจัดการจราจรอวกาศ   จาก GISTDA  ได้รับ “รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี รางวัลการวิจัยแห่งชาติ” ประจำปีงบประมาณ 2568 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  โดยทีมนักวิจัยของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ  จะเข้ารับพระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อไป