ปัจจุบัน AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ถูกนำมาเป็นเครื่องมือใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกที แต่ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนใกล้เคียงฝีมือแรงงานมนุษย์ แถมยังก้าวข้ามขีดจำกัดบางอย่างที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ กลายเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมพร้อมในการรับมือ ทั้งการนำไปใช้ประโยชน์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ หากมีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงความพร้อมในการรับมือผ่าน “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2565

ล่าสุด… ประเทศไทย ประกาศความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ จัดงานระดับโลก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion”
โดยงานดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 กระทรวงหลักคือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพฯ
คาดว่าจะมีผู้นำและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกยูเนสโก กว่า 194 ประเทศ รวมกว่า 800 คน เข้าร่วมงาน นับเป็นการจัดการประชุมนานาชาติครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนจริยธรรม รวมถึงยกระดับการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI ของโลก สู่การปฏิบัติจริงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างยั่งยืน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่ควรต้องเป็นไปตามหลักการสำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยมีแผนและการเตรียมการในการนำ AI มาใช้ในองค์กรเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2567 สูงถึง 73.3% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 20% (ข้อมูลจากรายงาน AI Readiness Measurement 2024) ที่จัดทำโดย ETDA และ สวทช.

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้มีการประกาศ แนวทางการกำกับดูแลโดยมี “แนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหาร” และ “คู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” เพื่อประโยชน์ในการนำแนวทางและคู่มือไปประกอบการพิจารณาการนำ AI มาใช้ในระดับองค์กรเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น จากศักยภาพของประเทศในมิติต่างๆ จึงได้นำไปสู่ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพร่วมเพื่อจัดงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ในปีหน้านี้ จะมีทั้งเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ การส่งเสริมความร่วมมือในระดับพหุภาคี รวมไปถึงการเสริมสร้างความสามารถในการกำกับดูแล AI ในประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ถือได้ว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลก ที่ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และแสดงให้เห็นว่าไทยเองมีความสามารถในการเป็น “แหล่งเรียนรู้” ในด้าน AI Governance ที่พร้อมร่วมมือกับ UNESCO อีกด้วย
“ภายใต้ความร่วมมือกับ UNESCO มี 2 เรื่องหลักที่มีความสำคัญ เรื่องแรกคือการเป็นเจ้าภาพจัดงาน “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ซึ่งถือว่าเป็นงานที่มีความสำคัญของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และเรื่องที่สองเป็นการประเมินความพร้อมของประเทศไทย ตามกรอบแนวทางของ UNESCO หรือ UNESCO AI Readiness Assessment (UNESCO RAM) ซึ่งเป็นกรอบการประเมินความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ สะท้อนศักยภาพของการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างรับผิดชอบ โปร่งใส เป็นธรรม ตามมาตรฐานสากล ครอบคลุมหลายมิติ ทั้งด้านกฎเกณฑ์ ด้านสังคม วัฒนธรรมและด้านเศรษฐกิจ ด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือในครั้งนี้แสดงให้เห็นความพร้อมและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการส่งเสริมและการพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งเรายึดหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาลเป็นหัวใจสำคัญ”

ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึง ความพร้อมของประเทศไทยจากบทบาทของ กระทรวง อว. ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยไม่เพียงเน้นสร้างนวัตกรรมเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีหน่วยงาน ภายใต้กระทรวง อว. คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ที่ร่วมผลักดันการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม AI ที่จะช่วยตอบโจทย์ระดับประเทศ รวมถึงการมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนากรอบจริยธรรม AI ที่มุ่งเน้นความสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล
ประกอบกับ ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมและพัฒนาความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ผ่านการเตรียมทำการประเมินความพร้อมด้าน AI ตามกรอบแนวทางของ UNESCO RAM ที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ไทยได้เข้าใจสถานการณ์ความพร้อม ซึ่งครอบคลุมในมิติต่างๆ อีกทั้งข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ จะพัฒนาไปเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสนับสนุนการวางแผนสำหรับประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนการปรับปรุงในมิติที่จำเป็น ภายใต้บริบทของไทยให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การร่วมจัดงาน Global Forum on the Ethics of AI 2025 ในปีหน้านี้ จะช่วยสะท้อนถึงการผนึกกำลังที่เข้มแข็งระหว่างกระทรวง อว. พร้อมด้วยกระทรวงดีอี และกระทรวง ศธ. จากประเทศไทย ในการทำงานร่วมกับ UNESCO เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืนสำหรับทุกคน

ขณะที่ นายซิง ฉวี่ รองผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยในความเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลจริยธรรม AI และการผลักดันความร่วมมือระดับนานาชาติ พร้อมเน้นย้ำว่าภารกิจของยูเนสโก ในการสร้างสันติภาพผ่านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตของผู้คน พร้อมยังกล่าวถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าในโครงสร้างพื้นฐาน AI ของภูมิภาค จนอาจนำมาสู่ความท้าทายที่เกิดขึ้น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และผลกระทบต่อการจ้างงานจากระบบอัตโนมัติอย่าง AI เป็นต้น
ซึ่งการที่ประเทศไทยได้มีการนำกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมด้าน AI ของยูเนสโก (UNESCO RAM) มาใช้นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของกรอบการทำงานในการประเมินความพร้อมด้านการประยุกต์ใช้ AI ของไทย ที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมส่งเสริมการใช้ AI ด้วยโปร่งใส ตามกรอบธรรมาภิบาลและจริยธรรมตามมาตรฐานสากล โดย Global Forum on the Ethics of AI 2025 จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับการเจรจาระดับโลกในการร่วมพัฒนาจริยธรรมการประยุกต์ใช้ AI ที่เคารพสิทธิมนุษยชน โปร่งใส เป็นธรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านธรรมาภิบาลจริยธรรม AI อย่างแท้จริง