“ มดกัต ” ดีฟเทคสตาร์ทอัพกับการต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านไมโครไบโอม

Cover Story

                  “ การดูแลสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกายโดยเฉพาะจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร  ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ ” 

                  หนึ่งในบทสรุป … ผลจากการศึกษาเรื่อง  Gut  Microbiome  หรือระบบนิเวศของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร  ซึ่งในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา   นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั่วโลกต่างให้ความสนใจในการศึกษาความสัมพันธ์และบทบาทของจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนเราอย่างต่อเนื่อง  

                 และได้มีการศึกษาวิจัยด้าน Gut Microbiome ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์แบบเฉพาะตัวบุคคลเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด   โรคบางชนิดอาจเกิดจากความไม่สมดุลของกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร หรือมีจุลินทรีย์บางชนิดที่เพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติ  การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของจุลินทรีย์ ในระบบทางเดินอาหาร  สามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ได้  โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพของผู้ป่วย ทำให้วิธีการดังกล่าวกลายเป็นที่ยอมรับ และพัฒนาให้เป็นแนวทางในการรักษา หรือป้องกันโรคเฉพาะบุคคลได้

                 ด้วยความสำคัญของ  Gut Microbiome  “ บริษัทมดกัต จำกัด”   ดีฟเทคสตาร์ทอัพสัญชาติไทย  จึงเกิดขึ้น โดยนำผลการศึกษาจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัยด้านไมโครไบโอม (Microbiome) มาต่อยอดเป็นชุดตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์ในลำไส้เพื่อการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล   พร้อมตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางของฐานข้อมูลความรู้ด้านจุลินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน

                  บริษัทมดกัต จำกัด   ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี  2564  ภายใต้การบ่มเพาะจาก “ ANT Accelerator” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)     ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ที่เป็นแกนหลักในการดำเนินงานและสนับสนุนทุนพัฒนาดีฟเทคสตาร์ทอัพไทย ในช่วง Pre venture building  

                 คุณนิจพร จงอุดมฤกษ์  CEO บริษัทมดกัต จำกัด  เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของมดกัต  ว่า เกิดจากทีมนักวิจัยไมโครไบโอม  นำโดย  “ รศ.ดร. สุภาภรณ์  ชีวะธนรักษ์”  จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  ซึ่งค้นพบความลับของกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร (Gut Microbiome) ที่มีความเชื่อมโยงกับสุขภาพของมนุษย์    โดย รศ.ดร. สุภาภรณ์ และทีมวิจัย  ได้เข้าร่วมการตรวจจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารกับโครงการ “ American Gut Microbiome”   มีการส่งตัวอย่างอุจจาระของคนไทย ประมาณ 10 ตัวอย่าง ไปยังโครงการดังกล่าวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  ผลการตรวจโดยใช้ฐานข้อมูลจุลินทรีย์ของอเมริกา พบว่า ตัวอย่างของคนไทยมีรูปแบบของกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ที่แตกต่างจากกลุ่มคนเชื้อชาติอื่นๆ  ซึ่งมีวัฒนธรรมในเรื่องการรับประทานอาหารที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแบบตะวันตก  และมีการค้นพบที่น่าสนใจ คือ รูปแบบจุลินทรีย์ของคนไทยบางคนมีความคล้ายคลึงกับรูปแบบจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของคนอ้วน ทั้งที่จริงๆ แล้วคนไทยคนนั้นไม่ได้เป็นคนอ้วนเลย   

                  ทำให้สามารถสรุปได้ว่า  รูปแบบจุลินทรีย์ของคนไทย และคนในภูมิภาคอื่นๆ นั้นมีความแตกต่างกัน  เนื่องด้วยปัจจัยต่าง ๆ  โดยเฉพาะรูปแบบของอาหารที่รับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน  ดังนั้นเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์ ฯ  ทีมนักวิจัยจึงมุ่งหวังที่จะสร้างฐานข้อมูล และองค์ความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของคนไทยและในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะ  เพื่อที่จะดูแลสุขภาพของคนไทยและอาเซียนได้อย่างเหมาะสม  จึงได้ดำเนินโครงการการตรวจกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ของบุคลากร และนักศึกษาใน มจธ. และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการมดกัต และได้สปินออฟ (Spin Off) ออกมาจัดตั้งเป็น บริษัท มดกัต จำกัด ในเวลาต่อมา

                …หลังจากก่อตั้งเป็นบริษัทในปี 2564   ได้มีการต่อยอดองค์ความรู้ออกมาเป็น 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ชุดตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์ในลำไส้ และผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก

                “ โดยชุดตรวจวิคราะห์จุลินทรีย์ในลำไส้ จะเหมือนกับการตรวจเลือด แต่เปลี่ยนเป็นตรวจอุจจาระ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ออกมาจากลำไส้ แล้วนำมาผ่านกระบวนการการวิเคราะห์หาลำดับดีเอ็นเอ (DNA Sequencing) ของจุลินทรีย์ ซึ่งเหมือนกับการหาลำดับดีเอ็นเอของมนุษย์   มีการใช้เทคโนโลยีที่ใช้ตรวจวัดยีน 16 S rRNA  เครื่องเดียวกันกับการตรวจดีเอ็นเอในมนุษย์   ซึ่งจะบอกได้ว่าเจ้าของตัวอย่างที่นำมาตรวจ มีภาวะเจอจุลินทรีย์ตัวใดบ้าง เป็นจุลินทรีย์ตัวร้ายหรือตัวดีมากน้อยแค่ไหน ทำให้สามารถประเมิน และทำนายการเกิดโรคบางอย่างได้ “

            สำหรับจุดเด่นของชุดตรวจ ฯ ที่พัฒนาขึ้นนี้  คุณนิจพร  บอกว่า นอกจากบริษัทจะมีองค์ความรู้ที่นักวิจัยค้นพบและฐานข้อมูลที่เป็นจุลินทรีย์ในลำไส้ของคนไทยแล้ว   บริษัทได้มีการต่อยอดงานวิจัยโดยลงทุนพัฒนาอัลกอริทึ่ม หรือขั้นตอนในการนำข้อมูลมาแปรผล  เพื่อเป็นแพลตฟอร์มของการให้บริการตรวจวิเคราะห์ ที่สะดวกและรวดเร็ว  และใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในทุกขั้นตอน  ตั้งแต่การสั่งซื้อ  ลงทะเบียน  การรับตัวอย่างส่งตรวจผ่านไปรษณีย์   การรับข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีการตรวจและวิเคราะห์จากฐานข้อมูลจุลินทรีย์ที่เป็นบิ๊กดาต้าขนาดใหญ่มาก  ไม่สามารถที่จะใช้มนุษย์ในการอ่านข้อมูลหรือแปรผลได้  การประมวลผล รายงาน จนถึงการส่งผลตรวจทางอีเมล์ให้กับผู้ใช้บริการ  ซึ่งจะเป็นแบบอัตโนมัติทั้งหมด

                ทั้งนี้ในส่วนของฐานข้อมูลปัจจุบันที่มีเกือบ 1 หมื่นตัวอย่าง  ครอบคลุมตัวอย่างที่หลากหลาย  ซึ่ง “มดกัต”  ได้มีความร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็นจาก รพ.รามา ฯ รพ.จุฬาฯ  รพ.ศิริราชฯ   ม.สงขลานครินทร์    ม.ขอนแก่น  ม.เชียงใหม่ และ ม.ธรรมศาสตร์  ซึ่งแต่ละแห่งจะทำการศึกษาวิจัยในแต่ละโจทย์ที่แตกต่างกัน   เช่น การทำงานกับผู้ป่วยไขมันฟอกตับ  เพื่อดูรูปแบบของจุลินทรีย์ว่าเปลี่ยนไปอย่างไร และสัมพันธ์กับการทานอาหารแบบไหน   การทำงานร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อมอัลไซเมอร์   ผู้ป่วยมะเร็งตับ รวมถึงการวิจัยแปรผลการปลูกถ่ายอุจจาระ   เป็นต้น  

                ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดนี้ถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญของคนไทย  และตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางของฐานข้อมูลความรู้ด้านจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

                นอกจาก”ชุดตรวจวิคราะห์จุลินทรีย์ในลำไส้”  แล้วจากการศึกษาของทีมวิจัยจนรู้ว่าจุลินทรีย์แต่ละสายพันธุ์ทำงานอย่างไร     มดกัต  ได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก  หรือ  ฟังชันนัลไบโอติก    สำหรับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ จำนวน 4 สูตร  โดยสูตรแรก เน้นการช่วยปรับความสมดุลลำไส้   ทำให้ลำไส้แข็งแรงขึ้น  สูตรสองช่วยลดอาการภูมิแพ้  ผื่นคันต่าง ๆ  สูตรสามช่วยเรื่องการผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น  และสูตรสุดท้ายเป็นเรื่องการลดน้ำหนักและลดไขมันตับ  ทั้ง 4 สูตรนี้ เป็นการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในร่างกาย ซึ่งเป็นธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี และมีงานวิจัยรองรับในทุกผลิตภัณฑ์

                 อย่างไรก็ดีสำหรับแผนการดำเนินการต่อไป    “มดกัต” จะต่อยอดบริการการตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์ในลำไส้ ไปสู่วิธีการแก้ไขด้วยการกินอาหารที่ถูกต้องแบบเฉพาะรายบุคคล  ซึ่งจะมีการออกอัลกอริทึมใหม่ในปีหน้า  และอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาจุลินทรีย์สำหรับใช้เป็นยารักษาโรค  ซึ่งเป็นไปตามโรดแมปของบริษัท และโรดแมปของบริษัทด้านไมโครไบโอมทั่วโลก  ด้วยตลาดนี้มีการเติบโตสูงถึง  20-30  % ต่อปี และเป็นเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง .