ความขัดแย้ง “คนกับช้างป่า” (ตอนที่ 2): กุยบุรีโมเดล “ปฏิบัติการคน-ช้างป่า” อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

News Update

                “ช้าง2 ศูนย์ช้าง ว2 ครับ 24 นาฬิกา พบ 59 บริเวณทางสำโหรง กล้อง 72 ครับ”

                เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (True Smart Early Warning System) ส่งเสียงแจ้งระบุพิกัดของช้างป่าที่ปรากฏขึ้นบนจอมอนิเตอร์ของศูนย์ฯ ผ่านทางวิทยุสื่อสาร

                อรรถพงษ์ เภาอ่อน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ฉายภาพว่า งานผลักดันช้างป่าถือเป็นแนวทางที่สำคัญต่อการลดความเสียหายทางด้านทรัพย์สินและผลผลิตทางการเกษตรของราษฎร ทว่า…การผลักดันให้ช้างกลับเข้าป่า ไม่รุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ล้วนประกอบด้วยปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายอย่างมาก ทั้งการวางโครงสร้างและกำหนดหน้าที่ให้การปฏิบัติงานราบรื่น การคำนึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานเฝ้าระวัง รวมถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวัง ที่ทำหน้าที่เผชิญหน้ากับช้างป่า

เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพงานผลักดันช้าง

                ด้วยเหตุนี้ จึงได้ริเริ่มก่อตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ขึ้น เพื่อส่งเสริมงานผลักดันช้างป่าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ และทรู คอร์ปอเรชั่น ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการและบูรณาการแนวทางแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ทำหน้าที่มอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวของช้างป่าตามจุดต่างๆ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ร่วมกับกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Real-Time Camera Trap) และระบบเตือนภัยล่วงหน้า (True Smart Early Warning System) ที่สนับสนุนโดย “ทรู คอร์ปอเรชั่น” เพื่ออำนวยสะดวกและส่งเสริมการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ฯ อย่างมีประสิทธิภาพ

                รมมุก เพียจันทร์ Senior Leader, Project Development ส่วนงานพัฒนาที่ยั่งยืน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายว่า True Smart Early Warning System เป็นโซลูชั่นที่ผ่านการศึกษา วิจัย และออกแบบ เพื่อสนับสนุนงานผลักดันช้างป่าให้มีประสิทธิภาพ จากแนวคิด “Tech For Good” ซึ่งมีองค์ประกอบ Empathy-Insights-Technology สู่การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีระบบการทำงาน ดังนี้

                1. กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำหน้าที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวของวัตถุในบริเวณที่ติดตั้งด้วยระบบอินฟราเรด เพิ่มทัศนวิสัยในเวลากลางคืน สอดคล้องกับพฤติกรรมการกินของช้างที่ออกหาอาหารในเวลากลางคืน ทั้งนี้ กล้องดักถ่ายภาพจะติดตั้งพร้อมกับซิมการ์ดและแบตเตอรี่ภายใน ทำให้การติดตั้งสะดวกมากขึ้นและสามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือน เมื่อมีวัตถุเคลื่อนที่ผ่านกล้องได้อย่างเรียลไทม์ ปัจจุบัน มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติทั้งสิ้น 25 จุด บริเวณ “ด่านช้าง” ซึ่งเป็นเส้นทางที่ช้างป่าใช้ออกเดินทางสู่พื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 500 แปลง ตลอดแนว อช.กุยบุรี

                2. โปรแกรมจัดเก็บข้อมูลและประมวลผล เมื่อกล้องมีการบันทึกภาพ ระบบคลาวด์ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายในจะช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์และจำแนกประเภทของวัตถุ เนื่องจากสีและลักษณะผิวช้างจะกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมในตอนกลางคืน ยากต่อการจำแนกด้วยสายตาเพียงลำพัง

                3. เสาสัญญาณและอุปกรณ์รับแจ้งเตือน เมื่อจำแนกข้อมูลสำเร็จ ระบบจะแสดงผลการวิเคราะห์ภาพและข้อมูลที่เกี่ยวข้องส่งผ่านเสาสัญญาณของทรู บริเวณบ้านย่านซื่อและหมู่บ้านรวมไทย ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ควบคุมต่อไป

                4. ศูนย์ควบคุม จะมีเจ้าหน้าที่ประจำ 24 ชั่วโมง ทำหน้าที่เหมือน “วอร์รูม” ส่งต่อข้อมูลและประสานงานกับชุดปฏิบัติงานทำการผลักดันช้างได้อย่างทันท่วงที โดยแสดงผลผ่านแอปพลิเคชั่น Smart Adventure สามารถติดตามสถานะ วิธีการ ผลการผลักดัน และความเสียหาย (หากมี) ได้เรียลไทม์ ทั้งยังมีการเก็บสถิติและแสดงผลข้อมูลอย่างเป็นระบบ

                นอกจากการสนับสนุนทางเทคโนโลยีแล้ว ทรู ยังได้มอบกรมธรรม์และสมาร์ทโฟนแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยเล็งเห็นถึงความเสียสละและการอุทิศตนของเหล่า “ฮีโร่” ผู้ปฏิบัติงานภายใต้ความเสี่ยงที่มีชีวิตเป็นเดิมพันอีกด้วย

                นับตั้งแต่โครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าระหว่างกรมอุทยานฯ และทรู ถือกำเนิดขึ้นในปี 2559 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ระบบ True Smart Early Warning System ช่วยให้งานผลักดันช้างป่าของชุดปฏิบัติการมีประสิทธิภาพมากขึ้น สัดส่วนความเสียหายพืชผลทางการเกษตรเปรียบเทียบกับการปรากฏตัวของช้างป่ามีลักษณะสวนทางกัน กล่าวคือ ระบบช่วยตรวจจับการเคลื่อนตัวของช้างป่า ส่งต่อและแจ้งเตือนแก่ชุดปฏิบัติการอย่างทันท่วงที ลดอัตราความเสียหายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน

วีรบุรุษผู้ปิดทองหลังพระ

                ณัฐวุฒิ อัสแสง เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวัง กล่าวว่า เดิมทีก่อนมีการใช้ระบบ True Smart Early Warning System เข้ามา ทีมชุดปฏิบัติการฯ จะทำหน้าที่ลาดตระเวนร่วมกับการเเจ้งเบาะแสจากชาวบ้านเป็นหลัก แต่ด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นที่รับผิดชอบ ขณะที่การเดินทางเข้าไปค่อนข้างลำบาก มักเป็นเส้นทางเดินของสัตว์ป่า เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงจุดที่ได้รับแจ้ง ทำให้การเดินทางแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10-30 นาทีเลยทีเดียว ทำให้กว่าจะเข้าถึงจุดที่ได้รับแจ้ง ช้างก็เคลื่อนตัวหนีไปแล้ว

                เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังมีการทำงานเป็นทีม โดย 1 ทีมจะมีสมาชิกราว 5-10 คน ประจำตามพื้นที่ของแต่ละหมู่บ้าน โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ 5 โมงเย็นและลากยาวไปถึง 6 โมงเช้าของอีกวัน หรือจนกว่าช้างจะกลับเข้าป่าหมด ทั้งนี้ เวลาในการออกหากินของช้างจะขึ้นกับ “ฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศ” บางครั้ง พวกมันก็เริ่มออกหาอาหารตั้งแต่ 3 โมงเย็น หากอากาศเย็น เนื่องจากช้างป่าเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบอากาศร้อน พวกมันจึงใช้เวลาพลบค่ำออกหาอาหารและลากยาวไปจนเช้า จึงจะกลับเข้าป่าไปนอน

                เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเหล่านี้ ล้วนปฏิบัติการภายใต้ความเสี่ยงที่มี “ชีวิต” เป็นเดิมพัน เมื่อเข้าใกล้หน้างานหรือบริเวณที่ได้รับแจ้งการปรากฏตัวของช้างป่าแล้ว ทีมปฏิบัติการฯ จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยใช้ประสบการณ์จากการปฏิบัติงานประเมิน “จำนวน” ช้างในบริเวณนั้นๆ เสียก่อน และอย่างน้อยจะต้องมีสมาชิกอีกคนประกบหลังให้

                “เมื่อถึงตำแหน่งที่ได้รับแจ้งแล้ว เราจะต้องนับให้มั่นใจว่ามีช้างกี่ตัวกันแน่ เพราะหากเราเห็นเพียงตัวเดียว แต่ในความเป็นจริงมีมากกว่านั้น พวกมันอาจเดินเงียบๆ มาทางด้านหลัง และเสี่ยงที่จะทำร้ายเราจนถึงแก่ความตายได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เท้าเหยียบ การใช้งวงฟาด การเอางาแทง อย่างเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว หนึ่งในเจ้าหน้าที่ได้เสียชีวิตจากการทำร้ายของช้างป่า” ณัฐวุฒิ กล่าว

                เขาอธิบายเสริมว่า การผลักดันช้างควรดำเนินการอย่างละมุนละม่อม เพราะหากเริ่มต้นด้วยความรุนแรง จะทำให้ช้างมีพฤติกรรมก้าวร้าวและเปลี่ยนรูปแบบและพฤติกรรมการออกหากิน ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งทางธรรมชาติและการจัดการเชิงระบบ

                ทั้งนี้“เสียงและแสง” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อการผลักดันช้างอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะโดยธรรมชาติ ช้างมีประสาทการรับรู้ทางเสียงที่ดีมาก สามารถได้ยินเสียงได้ในระยะ 1-2 ไมล์ ดังนั้น การส่งเสียงด้วยแตรรถ ตะโกนไล่ ก็ทำให้ช้างตกใจและกลับเข้าพื้นที่ป่าได้แล้ว แต่ในกรณีที่ช้างป่าบางตัวมีพฤติกรรม “ดื้อ” ไม่สนใจเสียงไล่ เจ้าหน้าที่ก็จะเพิ่มระดับ โดยใช้ “ลูกโป้ง” หรือ “อุปกรณ์คล้ายประทัดทำให้เกิดเสียง” จุดไฟและเขวี้ยงไปยังบริเวณที่ช้างอยู่ เพื่อให้เสียงจากลูกโป้งทำหน้าที่ไล่ช้างให้กลับเข้าสู่พื้นที่ป่า

                ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาด มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำ นั่นจึงเป็นอีกความท้าทายของเจ้าหน้าที่ต้องหาทางหนีทีไล่ เพื่อหลอกล่อและผลักดันให้ช้างกลับเข้าป่า ขณะเดียวกัน ช้างเองมีความคุ้นชินกับมนุษย์มากขึ้น มีพฤติกรรม “ดื้อ” บ้าง โดยแสดงอาการฟึดฟัด บ่งบอกถึงความไม่พอใจ เนื่องจากไปรบกวนการกินอาหาร

                “ช้างมันจำเสียงรถของเจ้าหน้าที่ได้ แยกแยะออกว่าใครเป็นใคร บางครั้ง ถ้าช้างเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่แค่คนเดียว มันจะไม่เกรงกลัว ต่อให้เสียงดังใส่มัน มันก็จะทำเป็นไม่สนใจ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่หลายคน มันจะหันหัวกลับเข้าป่าในทันที และเดี๋ยวนี้ พอมันรู้ด้วยว่าทางไหนที่มีกล้องหรือเจ้าหน้าที่ดัก มันจะเปลี่ยนเส้นทางเดินไปเลย และด้วยความฉลาดของช้างนี้เอง ก็ทำให้พวกเราทีมชุดปฏิบัติการทำงานลำบากขึ้น”

                หัวหน้า อช.กุยบุรี ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากแผนการและแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมของราษฎรในพื้นที่ ถือเป็น 2 ปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีการสื่อสารที่ถือเป็นปัจจัย สำคัญในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งอากาศยานไร้คนขับหรือ Drone ที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยกล้องอินฟาเรด ทำให้มีความสามารถมองเห็นวัตถุในตอนกลางคืน เปรียบเสมือน “ตาดวงที่ 3” ให้กับเจ้าหน้าที่ สามารถเดินทางเข้าไปผลักดันช้างได้อย่างมีทิศทางและแม่นยำ ช่วยเรื่องความปลอดภัยอีกด้ว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก IUCN และ WWF

คน-ช้างป่า: ถนนคู่ขนานที่ไม่มีทางบรรจบ?

                แม้สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวจะก่อให้เกิดนานาความรู้สึกและอารมณ์ ทั้งความตระหนก หวาดกลัว วิตกกังวล แต่ลึกๆ ในใจของพวกเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน เจ้าหน้าที่อุทยาน ชุดเฝ้าระวัง ต่างล้วน “ผูกพัน” กับช้างป่าที่เห็นและเติบโตร่วมกันมา

                “พวกเราควรยอมรับโดยดุษฎีว่า มนุษย์ไม่สามารถเอาชนะช้างป่าได้ เพราะที่นี่คือบ้านของพวกเขา ดังนั้น ทางออกของปัญหาจึงต้องเริ่มจากการเปลี่ยนมายด์เซ็ตต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคนและช้างป่า” หัวหน้า อช.กุยบุรี กล่าว

                ด้วยเหตุนี้ อช.กุยบุรีจึงอาสาเป็นตัวกลางสมานฉันท์ความสัมพันธ์ระหว่างคนและช้างป่าผ่านกระบวนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ผ่านกิจกรรมส่องสัตว์ โดยใช้หลักการทางวิชาการจัดทำ“โซนนิ่ง” ที่เหมาะสมทางนิเวศวิทยา ขณะเดียวกันส่งเสริมการรวมกลุ่มของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า มาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในการชมสัตว์ป่าในพื้นที่ที่ได้จัดทำโซนนิ่งสำหรับการท่องเที่ยว จนเกิดเป็นรายได้เสริมแก่ราษฎรในอีกทาง

                ด้าน นเรศณ์ เสือทุเรียน  ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าในกลุ่มป่าแก่งกระจาน WWF ประเทศไทย มองว่า นอนาคต ถ้ายังมีช้างป่าอยู่ ช้างก็จะออกมาอย่างนี้จนสิ้นอายุขัย ไม่สามารถห้ามช้างออกมาได้ “การลดผลกระทบ” จึงเป็นแนวทางสำคัญที่เป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

                ปัจจุบัน พี่ตุ้ย – จันท์จิรา ภูฆัง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านรวมไทย จากคนที่เคยเกลียดช้าง เธอเปลี่ยนทัศนะ โดยกล่าวว่า “เราอยู่ที่นี่หนีช้างไม่ได้ จะย้ายที่อยู่ก็ยาก ดังนั้น เราจึงต้องปรับตัวเอง ตระหนักรู้ว่าเราจะทำเพียงเกษตรอย่างเดียวไม่ได้”

                วันนี้ พี่ตุ้ยเรียนรู้ที่จะอยู่อาศัยในพื้นที่นี้กับช้างป่าอย่างสันติสุข หันมาทำเกษตรผสมผสาน กระจายความเสี่ยง ปลูกพืชมีกลิ่นอย่างตะไคร้ เลี้ยงผึ้งชันโรง นอกจากจะช่วยป้องกันช้างป่าแล้ว ยังสร้างรายได้ พร้อมกันนี้ เธอยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน จัดตั้งกองทุนชดเชยรายได้จากความเสียหายพืชผลจากช้าง เพราะความเข้าใจและการปรับตัวของมนุษย์ คือ กุญแจสำคัญของการอยู่ร่วมกันกับช้างป่าอย่างสันติสุข