เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เป็นเทคโนโลยีที่หลายประเทศนำไปประยุกต์ใช้งานอย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และปัจจุบันได้เข้ามาใกล้กับการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้นทุกที ด้วยความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีนี้ ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญ สร้างงานวิจัยและพัฒนา เพื่อรองรับการเข้ามาของเทคโนโลยี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

… เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยี AI โดยอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายสถาบันการศึกษา ภายใต้สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงภาครัฐ และภาคเอกชน เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering Institute; AIEI) ภายใต้เครือข่ายความร่วมมือ 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงาน “ AI Engineering & Innovation Summit 2024” ขึ้นเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Generating the Future with Generative AI” โดยมี นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน ฯ

นางสาวสุชาดา กล่าวว่า การจัดงาน Al Engineering & Innovation Summit 2024 เป็นการรวมตัวกันของผู้นำด้านเทคโนโลยี AI เพื่อวางแผนกลยุทธ์ สำรวจพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและศักยภาพของ AI แสดงให้เห็นถึง แนวโน้มในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งการประยุกต์ใช้AIในด้านต่าง ๆ งานดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันผลักดันและพัฒนาเทคโนโลยี AI ซึ่งจะเป็นก้าวที่สำคัญในการกำหนดอนาคตของประเทศไทย ทั้งนี้ AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือทางเทคโนโลยี แต่ยังเป็นหนทางในการสร้างอนาคตที่เท่าเทียมกันและยั่งยืนมากขึ้น การให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการศึกษา การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม การปรับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI และการปรับกลยุทธ์ระดับชาติให้สอดคล้องกับเป้าหมายเหล่านี้ จะทำให้ประเทศไทย มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกด้าน AI ได้อย่างแท้จริง

ด้าน รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. เปิดเผยถึงบทบาทของ บพข. ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากเทคโนโลยี AI ว่า บพข. จะร่วมขับเคลื่อนนโยบาย อว. For AI โดยจะเป็นหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนการจัดทำโครงการด้าน AI for education Tech โดยที่ผ่านมา บพข.โดยแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ และเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้ 1. ดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ 2. การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมูลค่าสูงสมัยใหม่ 3. ในด้านสุขภาพการแพทย์ ได้แก่ AI assistant system in diagnostic (Radiology), Tele-health และ Tele-medicine เป็นต้น 4. ในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ การสร้างธุรกิจบน Metaverse platform, AR/VR หรือดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวยุคใหม่, อัลกอริทึม และ Applications เพื่อสนับสนุนธุรกิจบริการ เป็นต้น 5. ในด้านการผลิต เพื่อลดต้นทุน หรือเพิ่ม Productivity และ 6. เพื่อรองรับ Emerging technologies ได้แก่ เทคโนโลยี AI ใน Autonomous vehicle, Edge AI, และ Cyber security เป็นต้น
“ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2567 บพข.ได้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยด้าน AI ไปแล้ว 98 โครงการ โดยเป็น pure AI จำนวน 7 โครงการ สำหรับในปีงบประมาณ 2568 นี้ ในแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์มจะมุ่งเน้นเทคโนโลยี AI ในเรื่องของ Infrastructure for AI, AI for intelligence Manufacturing, AI for Digital Health, AI for Digital Tech as a Services และ AI for Smart City ”

สำหรับการจัดงาน Al Engineering & Innovation Summit 2024 ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายสถาบันการศึกษาภายใต้สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIEI) มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สหรัฐอเมริกา และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) โดยเป็นวิทยาเขตต่างประเทศแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่ผ่านมาได้มีบทบาทในการเป็นผู้นำสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่วิจัยพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการแพทย์ ที่ในช่วงโควิด-19 ได้มีการใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ของมหาวิทยาลัย ฯ ในการระบุสายพันธุ์ SAR-Cov2 ของโควิด และการระบุตำแหน่งการระเหิด RF สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อรักษาโรคหัวใจ ด้านการเกษตร มีการพัฒนาการตรวจจับพฤติกรรมสุกรด้วยเซ็นเซอร์ เพื่อสนับสนุน ปัญญาประดิษฐ์สำหรับเกษตรอัจฉริยะ และการวิจัยเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะสำหรับผู้พิการ และการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
อนาคต … สถาบันฯ มีแผนการดำเนินงานที่น่าสนใจต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือกับโรงพยาบาลเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการพัฒนาเป็นโรงพยาบาลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI แห่งแรกของประเทศไทย การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายสร้างวิศวกรและนักวิจัย มากถึง 15,000 คนใน 5 ปี การสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาทักษะและนวัตกรรม AI ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย การพัฒนา AI สำหรับเมืองอัจฉริยะ และโครงการ GPU Cloud Credits สำหรับสตาร์ทอัพ พร้อมเงินทุน 1แสนบาท เพื่อทดลองและพัฒนาAI

อย่างไรก็ดี ภายในงาน Al Engineering & Innovation Summit 2024 Al Engineering & Innovation Summit 2024 ได้มีการแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มปัจจุบันในด้าน AI ผ่านการบรรยายและอภิปรายจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา พร้อมทั้งนำเสนอผลงานวิจัย และพัฒนาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้เครือข่าย AIEI
นอกจากนี้ยังมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)ระหว่าง สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ กับ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) รวมกันเป็นเครือข่าย 9 มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมพัฒนางานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ และเปิดโอกาสให้ใช้ทรัพยากรระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาอย่างสูงสุด
และความร่วมมือกับอีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Federation of Thai Industries – FTI) เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนการใช้งาน และพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับ SME ในเครือข่ายของ FTI และสยาม เอไอ คอร์เปอเรชั่น (Siam AI Cloud) เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการวิจัย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบปัญญาประดิษฐ์ เหล่านี้ ล้วนนับเป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือด้านวิชาการและนวัตกรรม AI อีกด้วย.