บพข.หนุนทีมวิจัยม.มหิดลฯ พัฒนา “Sulfite Sniffer” เซนเซอร์พร้อมเครื่องวัดสารกันเสียซัลไฟต์ตกค้างในกุ้งและอาหารทะเลแช่แข็ง อ่านผลได้เร็วใน 3 นาที ขั้นตอนใช้งานง่าย ไม่ต้องแยกสกัด หัววัดคงทนและมีอายุการใช้งานนาน 1 ปี สามารถทดแทนการนำเข้า ช่วยยกระดับความปลอดภัยในอาหาร
ปัจจุบัน “สารซัลไฟต์” ซึ่งมีคุณสมบัติในการถนอมอาหาร ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของ ยีสต์ รา และแบคทีเรีย และยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสีของอาหาร ทำให้มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง
แต่เนื่องจาก “สารซัลไฟต์” เป็นสารก่อภูมิแพ้ หากการบริโภคสารดังกล่าวมากเกินไปจะก่ออันตรายให้กับร่างกายได้ หลายประเทศจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารแสดงข้อมูลบนฉลากของผลิตภัณฑ์ กรณีใช้หรืออาจปนเปื้อนสารในกลุ่มซัลไฟต์ในกระบวนการผลิต ซึ่งประเทศไทยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้มาตรฐานเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา มีข้อกำหนดว่าการใช้ สารซัลไฟต์ ในรูปของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์น้ำแช่แข็ง ไม่ควรมีปริมาณเกิน 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ที่ผ่านมานักวิจัยทั่วโลกได้มีการพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่น นวัตกรรมดั้งเดิมของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) รุ่น Biofish 300 SUL ที่เป็นแบบไบโอเซนเซอร์ พัฒนาโดยกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีการนำไปต่อยอด เป็นเครื่องมือตรวจวัดวิเคราะห์ซัลเฟอร์ในอาหาร ออกจำหน่ายในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี นวัตกรรมการตรวจวิเคราะห์ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานต่าง ๆ อย่างเช่น ต้องจัดเก็บหัววัดแบบแช่เย็น ต้องแช่น้ำก่อนใช้งานครั้งแรกเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมงและมีอายุการใช้งานเพียง 15 วัน และก่อนทำการวัดต้องมีขั้นตอนการสกัดเสียก่อน
จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้กลุ่มวิจัย จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท Diamond Pi พัฒนา นวัตกรรม “ เซนเซอร์พร้อมเครื่องวัดสารกันเสียซัลไฟต์ตกค้างในกุ้งและอาหารทะเลแช่แข็ง รุ่น Sulfite Sniffer V2023 ” ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) แผนงานอาหารมูลค่าสูง ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัย เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
“รศ.ดร.กาญจนา อุไรสินธว์” จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ต้นแบบ “Sulfite Sniffer V2023” เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่กลุ่มวิจัยพัฒนาขึ้น โดยเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้วัดระดับสารซัลไฟต์ ซึ่งปกติต้องเฝ้าระวังมิให้มีตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งเกินกว่าระดับมาตรฐานที่ได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายของทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก
การพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวใช้หลักการวัดเป็นแบบ “Sniff technology” ของไอระเหย โดยเครื่องมีน้ำยาเคมีที่แปลงซัลไฟต์ในตัวอย่างอาหารให้กลายเป็นสารระเหยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้บนฝาปิดตรวจจับสารระเหยนี้ และอ่านเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่สัมพันธ์กับความเข้มข้นของสารกันเสียในอาหาร
สำหรับจุดเด่นของ “Sulfite Sniffer V2023” คือสามารถอ่านผลเร็วใน 3 นาที และไม่มีขั้นตอนแยกของการสกัด หัววัดคงทน มี shelf-life อย่างน้อย 1 ปี ไม่ต้องกระตุ้น ไม่ต้องแช่เย็นก่อนใช้งาน และเนื่องจากใช้ Sniff technology ตรวจวัดสารในรูปของไอระเหย จึงปราศจากตัวรบกวนในตัวอย่างอาหาร ทำให้ใช้ต่อเนื่องได้อย่างน้อย 500 ครั้งขึ้นไป
ทั้งนี้งานวิจัยมีความพร้อมทางเทคโนโลยีอยู่ในระดับ TRL-4 สามารถพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยมีต้นทุนต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแบบไบโอเซนเซอร์ 10 เท่า สามารถใช้เทคโนโลยีในประเทศไทยสร้างและผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก สามารถทดแทนการนำเข้าเครื่องมือวัดสารกันเสียซัลไฟต์จากต่างประเทศ
นักวิจัยคาดหวังว่าภาครัฐจะให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการวิเคราะห์ความปลอดภัยของอาหารเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทย และผลักดันแนวทางวิจัยให้ได้มาตรฐาน ได้รับการยอมรับในการตรวจสอบคุณภาพอาหารของไทยและสามารถใช้ในระดับสากลได้มากขึ้น.