กระทรวง อว. โดย บพข. จัดงาน PMUC CONNECT ครั้งที่ 2 หวังสร้างความร่วมมือ เผยแพร่บทบาทและมาตรการสนับสนุนเพื่อยกระดับและสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย เผย 5 ปีที่ผ่านมาสนับสนุนทุนวิจัยในแผนงานสุขภาพและการแพทย์ ไปแล้ว 193 โครงการ รวม 1,700 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการขายผลิตภัณฑ์แล้ว 2,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดงาน PMUC CONNECT ครั้งที่ 2 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “บพข. และมาตรการสนับสนุนเพื่อยกระดับและ สร้างความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย” เพื่อเป็นเวทีให้ประชาคมวิจัยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงกันในมิติต่าง ๆ และสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า บพข. ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่พิจารณาสนับสนุนทุนแก่โครงการวิจัยที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยี ในระดับ TRL 4-7 และมุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนและพัฒนาโครงการวิจัยไปสู่การผลิตใช้จริงได้ในเชิงพาณิชย์ในประเทศและในตลาดโลก ทั้งนี้ บพข. ให้ความสำคัญกับการ ทำงานร่วมกันกับพันธมิตรในทุกภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
การจัดงาน PMUC CONNECT ครั้งที่ 2 นี้ มุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และการดูแลสุขภาพของคนไทย โดยการดำเนินงานของ บพข. ตั้งแต่ปี 2563-2567 มีการสนับสนุนทุนวิจัยในแผนงานสุขภาพและการแพทย์ ไปแล้ว 193 โครงการ รวม 1,700 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการขายผลิตภัณฑ์ เฉพาะที่ บพข. ได้รับรายงานถึงปี 2567 แล้วจำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งมีผลงานของนักวิจัยไทยที่น่าสนใจ อาทิ การผลิตเครื่องมือแพทย์เพื่อเสริมสร้างโครงหน้าคนไข้ด้วยไทเทเนียมจากการพิมพ์สามมิติ การจัดตั้ง Point of care ที่ได้มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งในประเทศไทย โครงการต้นแบบสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมถึงโครงการพัฒนาด้าน Herbal and Cosmeceuticals จนกระทั่งประสบความสำเร็จ สามารถผลิตเพื่อใช้งานจริง และมีการต่อยอดอีกมากมาย
ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ที่ปรึกษาแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข. กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย คือ การศึกษาของประเทศที่ไม่รองรับอุตสาหกรรมการแพทย์ ทำให้ผู้ที่เข้ามาในอุตสาหกรรม จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และช่วยเหลือตนเอง และนำประสบการณ์ไปให้คำปรึกษาคนอื่นต่อไป ขณะที่เรื่องของ Valey of Death หรือหุบเขาแห่งความตาย เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เพราะมีถึง 2 ช่วง คือช่วงการพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Valey of Death) และช่วงการผลิตเชิงพาณิชย์ (Commercial Valey of Death) ซึ่งต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะมีช่วงการก้าวข้ามไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เพียงช่วงเดียว
“Technology Valey of Death ของอุตสาหกรรมการแพทย์ มีความยากตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา สร้างต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ การทำมาตรฐาน การขยายสเกลการผลิต เพื่อนำไปสู่การทดสอบทางคลินิก หลังจากนั้นจะไปเจอกับ Commercial Valey of Death ที่ด้านการแพทย์ แม้เราเป็นคนผลิตก็ตาม แต่คนใช้ไม่ได้เป็นคนสั่งซื้อ และคนสั่งซื้อไม่ได้เป็นคนใช้ ระบบจึงไม่ได้เป็นไปตามความพึงพอใจของผู้บริโภคและผู้บริโภคอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังบริโภคอะไรอยู่ ทั้งนี้ในการจัดสรรทุนวิจัยของประเทศไทย ควรมีการ Identify ชัดเจนว่าเทคโนโลยีใดควรจะไปต่อใน TRl4 หรือเทคโนโลยีใดควรหยุด เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่ผิดพลาด ซึ่งจะต้องพิจารณาผู้วิจัยที่สามารถทำได้จริง มีเทคโนโลยีจริง และเทคโนโลยีนั้น ๆ ต้องมีอายุยืนระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันต้องมีขีดความสามารถในการทำราคาที่แข่งขันได้ในตลาด”
สำหรับผู้พิจารณาทุนวิจัย ฯ การจะก้าวข้าม Valey of Death ของอุตสาหกรรมการแพทย์ได้นั้น ศ.ดร.ศันสนีย์ กล่าวว่า สิ่งแรกจำเป็นที่จะต้องรู้จักความต้องการของตลาดและดูว่าผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตมีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ทั้งด้านเทคโนโลยีและราคา สิ่งต่อมาคือต้องเข้าใจคำว่าการวิจัยพื้นฐาน (Basic research) การค้นพบ (Discovery research) และการวิจัยเพื่อพัฒนาและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ (Research for development and commercialization) ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ดังนั้นการใช้ทักษะหรือ Skill sets ก็แตกต่างกันด้วย สิ่งที่สามคือ มีการรับรอง IP ที่เหมาะสมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีถือเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นก่อนที่จะส่งมอบให้กับภาคเอกชน และสุดท้าย คือ ความสามารถในการขยายขนาด รวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดระดับโลก การเลือก CDMO/CMO ที่มีความสามารถที่เหมาะสม ความเชี่ยวชาญ และน่าเชื่อถือ ความเร็วและต้นทุน ถือเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ
ขณะที่ รศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานวิจัยทางด้านสุขภาพและการแพทย์ของ บพข.ในมุมของการขอรับรองมาตรฐาน ซึ่งสรุปได้ว่าการจะออกสู่เชิงพาณิชย์ได้นั้นจำเป็นต้องมีมาตรฐาน และควรเป็นระดับสากล ซึ่งปัญหาสำคัญเรื่องการขอรับรองมาตรฐานของอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ไทย คือ นักวิจัยไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการที่ถูกต้อง ครบถ้วน และยังขาดแคลนที่ปรึกษาในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าว
นอกจากนี้ในงาน PMUC CONNECT ครั้งที่ 2 ได้มีนำเสนอประสบการณ์ในการขอรับทุนจากบพข.เพื่อพัฒนาและยกระดับงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ จากนักวิจัยที่มีผลงานเด่นในด้านต่างๆ อาทิ รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่วงศ์วัฒน จาก บริษัท เมติคูลี่ จำกัด ซึ่งทำการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการซ่อมแซมกระดูกบนใบหน้าคนไข้ด้วยกระบวนการออกแบบการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิทัลและการผลิตเครื่องมือแพทย์เพื่อเสริมสร้างโครงหน้าคนไข้ด้วยไทเทเนียมจากการพิมพ์สามมิติเพื่อการส่งออก ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร จาก บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ที่พัฒนาโครงการต่อยอดการแพทย์ครบวงจรที่จุดการรักษา ด้วยกระบวนการออกแบบการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิทัลและการผลิตเครื่องมือแพทย์เฉพาะบุคคลด้วยไทเทเนียมจากการพิมพ์สามมิติที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่พัฒนาโครงการต้นแบบแบบห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในภาคใต้ของประเทศไทย และ รศ.ดร.ณฐินี จินาวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยมหิดลที่พัฒนาโปรแกรมทดสอบความชำนาญ สำหรับตัวอย่างทางชีวภาพมนุษย์ โดยเครือข่ายความร่วมมือธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งในประเทศไทย
รวมถึงการนำเสนอ “Journey to impact.. Herbal and cosmaceuticals product from lab to market” จาก บริษัท แนบโซลูท จำกัด เจ้าของเทคโนโลยี HyaSphereX (ชื่อเดิม Hy-N) ซึ่งเป็นนวัตกรรมไบโอพอลิเมอร์ ระบบนำส่งสารสำคัญรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเวชสำอาง ยาและวัคซีน ปัจจุบันสามารถผลิตเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ ศ.ดร.กรกนก อิงคนินันฺท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงเส้นทางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร พรมมิพลัส และ รศ.ดร.ภก.เนติ วระนุช หัวหน้าศูนย์วิจัยเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงการพัฒนาอนุภาคไคโตซานไมโครพาร์ติเคิลสำหรับกักเก็บสารสกัดน้ำสมุนไพรตรีผลาเพื่อใช้ประโยชน์ทางเวชสำอางและการทดสอบประสิทธิภาพของอนุภาคไมโครพาร์ติเคิลสารสกัดสมุนไพรตรีผลาในผลิตภัณฑ์เวชสำอางต้นแบบทางคลินิก