AI ไทยมาแรง! อว. – บพข. ทุ่มงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และงานวิจัยมุ่งยกระดับอุตสาหกรรม “ AI – Semiconductor ” ของประเทศ

Cover Story

                “ เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะรวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีศักยภาพในระดับสากล  และตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ  การเกษตรและอาหาร ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการภาครัฐและยกระดับภาคการศึกษาไทยโดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรม ”

               นี่คือ…เป้าหมายสำคัญของ “แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม” หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

               ด้วยภารกิจหลักของ บพข. คือ  สนับสนุนทุนเพื่อทำให้งานวิจัยเกิดมูลค่าและสามารถนำไปใช้งาน เชิงพาณิชย์ได้  ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยและทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้

               ผศ. ดร.วรรณรัช   สันติอมรทัต  ที่ปรึกษาแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. และประธานคณะทํางานขับเคลื่อนงานวิจัยด้าน Semiconductor และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง กล่าวว่า  แผนงานกลุ่มดิจิทัลฯ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563  พร้อมกับการก่อตั้ง บพข. โดยมุ่งเป้าใน  2 เทคโนโลยีหลักคือปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) เทคโนโลยีมาแรงที่มีความสามารถและฉลาดใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้นทุกที และเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่

                ทั้งนี้การสนับสนุนกลุ่มเทคโนโลยี AI ในช่วงแรก  บพข. เริ่มจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน  ที่จำเป็นในการพัฒนา AI   โดยในปี 2563 ได้สนับสนุนทุนให้กับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ในการพัฒนา “แพลตฟอร์มข้อมูลเพื่องานด้านปัญญาประดิษฐ์ในสถานการณ์โควิด-19” ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มและสถาปัตยกรรมข้อมูลระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถบูรณาการข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ และรองรับงานวิจัยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งโครงการได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า  “Goliath”  ที่เป็นระบบประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลสมรรถนะสูงที่เน้นการใช้งานบน GPU  เปิดโอกาสให้นักวิจัย ผู้ประกอบการ นักศึกษา สามารถเข้าถึงและใช้งานชุดข้อมูลต่าง ๆ ได้

                “ จากจุดเริ่มต้นในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันเริ่มมีการให้ทุนในการต่อยอดโมเดลหรือชุดข้อมูลที่ได้จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมรวมถึงภาคธุรกิจต่าง  ๆ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายคือ ภาคการผลิตที่ต้องปรับตัวรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ  กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ที่มีการใช้เอไอในการช่วยสร้างแบบจำลอง วิเคราะห์และวินิจฉัยโรค และกลุ่มที่พัฒนาเอไอ เพื่อให้บริการในรูปแบบ  as-a-Service เช่น สตาร์ทอัพต่าง ๆ”

               ขณะที่ในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์   ได้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการใน Ecosystem ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้เกิดพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย  รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาสมาร์ทมิเตอร์ขึ้นใช้เองในประเทศเพื่อลดการนำเข้า  นอกจากนี้ในแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม ยังสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์  ระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการทางด้านดิจิทัลอีกด้วย

               สำหรับผลงานวิจัยเด่นที่ได้รับทุนสนับสนุนจากแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อย่างเช่น  Dronebox แพลตฟอร์มประมวลผลภาพโดรนผ่านระบบคลาวด์ ผลงาน “ผศ.ดร.ดวงเดือน อัศวสุธีกุน”  จากบริษัท โดรน เอไอ โซลูชั่นส์ จำกัด โดยมี บริษัท แมพพิเดีย จำกัด เป็นผู้ร่วมทุน  โดย Dronebox พัฒนาขึ้น  เพื่อให้การประมวลผลภาพจากโดรนเป็นเรื่องง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น  สามารถเข้าถึงได้บนระบบคลาวด์  สามารถสร้างภาพถ่ายทางอากาศที่ถูกต้องตามภูมิศาสตร์ สร้างแบบจำลองความสูงดิจิทัล (DEM) เพื่อวิเคราะห์ภูมิประเทศ  สร้างแบบจำลองสามมิติของพื้นที่หรือวัตถุที่สนใจ เป็นเครื่องมือสำหรับการวัดระยะทาง พื้นที่ และปริมาตร  รองรับการทำงานร่วมกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)

               Senovate AI  ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาประสิทธิภาพการผลิตโคนม   ผลงาน “รศ.น.สพ.ดร.ชัยเดช อินทร์ชัยศรี” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีบริษัทเลโนเวท เอไอ จำกัดเป็นหน่วยงานร่วมทุน  โดยผลงานดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบและอุปกรณ์เซนเซอร์ติดตามการเคลื่อนไหวของวัว  เหมาะสำหรับฟาร์มโคนมในเขตร้อนชื้น  มีความแม่นยำสูงในการติดตามพฤติกรรมเพื่อบ่งชี้การติดสัดในโคเพื่อการผสมเทียม และบ่งชี้เมื่อโคมีปัญหาด้านสุขภาพเพื่อการรักษา ช่วยลดความสูญเสียจากปัจจัยทางสุขภาพและโอกาสในการผสมเทียมลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์ ต้นทุนการผสมเทียม

                และ ZTRUS แพลตฟอร์มสำหรับระบบงานเอกสารอัจฉริยะ  ผลงาน “ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม” จากบริษัทแอ็คโคเมท จำกัด ที่นำเทคโนโลยีด้านการรู้จำตัวอักษรหรือ OCR กับเทคโนโลยีการสกัดข้อความในระดับความเข้าใจภาพเอกสาร เข้ามาช่วยลดปริมาณงานที่คนต้องทำงานซ้ำๆ เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพัฒนา AI ช่วยในการวิเคราะห์และตัดสินใจข้อมูลตามเกณฑ์เดียวกับที่ผู้ใช้งานใช้ตัดสินใจทำให้สามารถลดปริมาณงานของคนทำงานได้มากกว่าการอ่านเอกสารเพียงอย่างเดียว

               อย่างไรก็ดีในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม ได้สนับสนุนงบวิจัยและพัฒนา ประมาณ 150-200 ล้านบาทต่อปี รวมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วยราวๆ 600 ล้านบาท ปีละ 20-25 โครงการ โครงการส่วนใหญ่  50 %  จะเป็นด้านเอไอ  อีก 30 %  เป็นด้านเซมิคอนดักเตอร์ และอีก 20 % จะเป็นเทคโนโลยี อื่นๆ  เช่น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

               สำหรับแผนดำเนินงานปี 2568  ผศ. ดร.วรรณรัช กล่าวว่า  บพข. ยังคงมุ่งเน้นใน 2 เทคโนโลยีหลักคือ เอไอ และเซมิคอนดักเตอร์ อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เปลี่ยนมุมให้ออกไปสู่การใช้งานมากขึ้น โดยในส่วนของ  AI จะเน้น ในเรื่องของ Infrastructure for AI, AI for intelligence Manufacturing, AI for Digital Health, AI for Digital Tech as a Services และ  AI for Smart City 

               นอกจากนี้ บพข. ยังมีแผนที่จะร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และชวนนักลงทุน มาร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มเอไอที่เป็นอีคอมเมิร์ซ  เพื่อช่วยให้ SME พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องมือในการวิเคราะห์ตลาดต่าง ๆ  ได้.