สวทช.จัดงาน NAC2021 พร้อมเสิร์ฟงานวิจัยบนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ ภายใต้แนวคิด “30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” 25-30 มีนาคมนี้
วันนี้ (2 มีนาคม 2564) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับวิถี New Normal ในปีนี้ สวทช. ได้จัดงาน NAC2021 ขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ ซึ่งทุกกิจกรรมจะเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ทั้งสัมมนา นิทรรศการ การจัดกิจกรรมเยี่ยมชม Open House การรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี S&T Job Fair และกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน ผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac
โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ระบบเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 โดยประกาศเป้าหมายให้ BCG เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง และประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2564-2569 ซึ่งประกอบด้วย 4 แผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในฐานความหลายหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศไทย
“ที่สำคัญในพิธีเปิดงาน NAC2021 ครั้งนี้ สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดและทรงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “20 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” จากการที่ประเทศไทยได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับเซิร์น (The European Organization for Nuclear Research: CERN) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดําริและทรงเล็งเห็นว่าหากนักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสทํางานวิจัยร่วมกับเซิร์น ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงชั้นนําระดับโลก ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย”
ด้านดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า การจัดงานในรูปแบบออนไลน์ปีนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เต็มอิ่มกับเนื้อหาสาระที่ สวทช. เตรียมมานำเสนอ และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาโดยเฉพาะหัวข้อการสัมมนาที่มีมากกว่า 34 หัวข้อ เช่น การพัฒนาวัคซีนโควิด-19, นาโนโรโบติกพิชิตมะเร็ง, การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านการคมนาคมขนส่งในระบบราง รวมถึงการเปิดแนวคิด เทรนด์อุตสาหกรรมด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นคุณค่าและทำให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล เป็นแนวทางสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ในส่วนของนิทรรศการออนไลน์ ประกอบด้วยโซนเทิดพระเกียรติครบรอบ 20 ปี ความร่วมมือไทย-เซิร์น (CERN) โซน BCG Model ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ 1.เกษตร 2.อาหาร 3.พลังงานและวัสดุ 4.ยาและวัคซีน 5.เครื่องมือแพทย์ 6.ท่องเที่ยว 7.เศรษฐกิจหมุนเวียน และ 8.ความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ในนิทรรศการแต่ละเรื่องจะมีนักวิจัยเจ้าของผลงานมานำเสนองานวิจัยในรูปแบบ VDO Online ทั้งหมด
“นอกจากนี้ยังมีการสัมมนาออนไลน์ ผ่านระบบ VDO Conference ของซิสโก้ (cisco) เว็บเอ็กซ์ มีทติ้ง (webex meeting) โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนา สามารถลงทะเบียนที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac โดยเลือกหัวข้อที่สนใจตามวันและเวลาที่สะดวก ระบบจะส่ง Link URL ไปให้ทางอีเมล เพื่อใช้เข้าร่วมฟังการสัมมนา โดยผู้เข้าฟังสามารถรับชมผ่านโปรแกรม webex meeting ซึ่งติดตั้งได้ ทั้งบนคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน หากไม่สามารถเข้าร่วมฟังในเวลาที่ลงทะเบียนไว้ ก็สามารถรับชมย้อนหลังได้อีกด้วย”
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. กล่าวว่า อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจคือ Open House หรือการเปิดบ้านให้ผู้ประกอบการนักลงทุนได้เยี่ยมชมแบบออนไลน์ถึง 2 วันเต็ม คือในวันที่ 25-26 มีนาคม มีการนําเสนอ 47 เรื่องไฮไลต์ใน 8 กลุ่มธุรกิจสําคัญ ซึ่งความพิเศษของการจัดในรูปแบบออนไลน์ คือ สวทช. เปิดบ้านให้เห็นห้องปฏิบัติการวิจัยผ่านวีดีโอแบบใกล้ชิด และหากมีคำถามก็สามารถแชทข้อความสอบถามได้ทันที เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ทั้งนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสและแรงบันดาลใจสามารถนำไปเป็นแนวทางต่อยอดธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“อีก 1 ไฮไลต์คือกิจกรรมรับสมัครงานในตำแหน่งงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุค New Normal โดยเปิดรับสมัครในรูปแบบออนไลน์จาก 30 บริษัทชั้นนำของไทย มากกว่า 2,000 อัตรา รวมทั้งยังมีหัวข้อกิจกรรมสัมมนาพิเศษ Knowledge Sharing ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ชีวิตทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการทำงานในสายวิทยาศาสตร์ การสร้างธุรกิจนวัตกรรมในแบบของตนเองที่ประสบความสำเร็จบนเวทีโลกมาแล้ว ที่สำคัญยังมีกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน การเสวนาสำหรับครูอาจารย์และผู้สนใจทั่วไปในรูปแบบออนไลน์ และกิจกรรมแบบ interactive ที่ผู้เข้าร่วมไม่เพียงได้รับความรู้จากวิทยากรที่บรรยายเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถลงมือประดิษฐ์ ทดลองเสมือนอยู่ในห้องปฏิบัติการจริง”
ทั้งนี้ สวทช. ได้นำ 7 ตัวอย่างผลงานวิจัยที่จะนำเสนอผ่านระบบออนไลน์ในวันจัดงานจริง มาแสดงในงานแถลงข่าวด้วย อาทิ ด้านอาหารทางเลือก : ผลงาน M-Pro Jelly Drink เครื่องดื่มโปรตีนสูงชนิดเจลจากโปรตีนถั่วเขียว ที่มีปริมาณโปรตีนสูงมากกว่า 20 % มีการเสริมแคลเซียมกว่า 10 % เหมาะสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ผลิตภัณฑ์พัฒนาขึ้นโดยอาศัยกระบวนการที่เหนี่ยวนำให้เกิดโครงสร้าง และขนาดอนุภาคของโปรตีนตามต้องการ ร่วมกับการใช้ไฮโดรคอลลอยด์ในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อช่วยในการพยุงโครงสร้าง และช่วยในการกระจายตัวของโปรตีน ทำให้ได้เครื่องดื่มโปรตีนสูงชนิดเจลจากโปรตีนพืชที่มีลักษณะปรากฏเป็นเนื้อเดียวกัน
ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืช (Plant-based chicken meat) พัฒนาขึ้นโดยอาศัยองค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างของอาหาร และคุณสมบัติของโปรตีน ประกอบกับการใช้สารที่ทำหน้าที่ยึดเกาะ และเส้นใยอาหารที่เหมาะสมในการสร้างเนื้อสัมผัสให้คล้ายคลึงกับเนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถปั้นขึ้นรูปได้ง่ายภายหลังการปั่นผสม และสามารถนำไปปรุงเป็นเมนูอาหารต่างๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแช่แข็ง เช่น วิธีการทอด ย่าง ผัด หรือ แกง ทำให้ง่ายต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมี ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจาก Mycoprotein หรือเนื้อเทียมประเภท ‘มัยคอโปรตีน’ ไม่มีคอเลสเตอรอลและมีไขมันอิ่มตัวต่ำ นวัตกรรมสำหรับต่อยอดในธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ
ส่วนผลงานด้าน Big DATA เช่น ระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการค้าของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ครอบคลุมการพัฒนาทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ด้านสื่อการเรียนการสอนสำหรับเยาวชน เช่น ผลงานสถานีวัดสภาพอากาศ หรือ อุตุน้อย Playground ด้วยบอร์ด KidBright ซึ่งเป็นสถานีที่มีการติดตั้งเซนเซอร์เพื่อตรวจวัดสภาพแวดล้อม ได้แก่ ความเร็วลม ทิศทางลม ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง โดยใช้บอร์ด KidBright เป็นอุปกรณ์รับส่งข้อมูลจากเซนเซอร์ไปยังระบบคลาวด์ สามารถนำมาแสดงเพื่อให้เห็นภาพรวมของข้อมูลแบบ Real-time และ ผลงาน ZpecSen เครื่องสเปกโตรมิเตอร์แบบพกพาราคาประหยัด ที่ใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน สามารถตรวจวัดคุณสมบัติเชิงแสงวัสดุทั้งของแข็งหรือของเหลว ตรวจวัดความยาวคลื่นในช่วง 450-700 นาโนเมตร หรือตรวจวัดแหล่งกำเนิดแสงชนิดต่างๆ ผ่านทางโมบายแอปพลิเคชัน ZpecSen app เหมาะกับสื่อการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ หลักสูตรแกนกลาง ของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแสง และสเปกตรัม ซึ่งสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้แกนกลางในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 5 หรือใช้แทนเครื่องมือพื้นฐานในห้องปฏิบัติการที่มีราคาแพง
สำหรับด้านนาโนเทคโนโลยี เช่น นวัตกรรมตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อชุมชน โดยผลงาน ‘บ้านน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ระบบ UF’ เป็นเทคโนโลยีการกรองด้วยเมมเบรนละเอียด มีความเหมาะสมในการนำมาผลิตน้ำดื่ม สามารถกรองเชื้อโรคในน้ำได้ดีและสามารถคงแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายมนุษย์ได้มากกว่าระบบรีเวอร์สออสโมซิส (Reverse osmosis – RO) ผลงานดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคด้วยพลังงานสะอาดร่วมกับระบบการกรองที่มีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจะช่วยผลิตน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย ยังช่วยยกระดับห่วงโซ่อุปทานด้านน้ำในพื้นที่ และลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ทำให้สามารถเป็นกลไกหนึ่งในการขยายการเติบโตของเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืนบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว