อว. โดย GISTDA จับมือ UNOOSA และรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Space Law Technical Advisory Mission in Thailand เน้นสร้างความรู้กฎหมายอวกาศสากล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ ร่วมกับสํานักงานกิจการอวกาศ แห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Outer Space Affairs หรือ UNOOSA) และ Ministry of Foreign Affairs of Japan จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Space Law Technical Advisory Mission in Thailand” ระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2568 เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในกฎหมายอวกาศระดับสากลและการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ให้แก่บุคลากรในหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “อว. ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการพัฒนาเทคโนโลยีต้องควบคู่กับกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งอวกาศเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องทำงานร่วมกับนานาชาติ งาน Space Law Technical Advisory Mission ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวันนี้ นับเป็นอีกความก้าวหน้าที่สำคัญของประเทศในด้านกิจการอวกาศ ในงานมีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านอวกาศ การลงทะเบียนวัตถุอวกาศและตัวอย่างรูปแบบการพัฒนากฎหมายอวกาศจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าพรบ.กิจการอวกาศของประเทศไทยที่กำลังจะประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนด้านอวกาศทั้งในและต่างประเทศ ตอบสนองนโยบายของทางกระทรวง อว.ที่ต้องการผลักดันให้กระทรวง อว. เป็นหนึ่งในกระทรวงด้านเศรษฐกิจ
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมาโดยตลอด งานในครั้งนี้ไม่เพียงเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับกฎหมายอวกาศและผลกระทบต่ออนาคตของประเทศอีกด้วยและต้องขอขอบคุณ GISTDA สำหรับความทุ่มเทในการเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในประชาคมอวกาศโลก รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับการสนับสนุนและเป็นผู้สนับสนุนหลักของงานนี้ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความร่วมมือที่ยั่งยืนและแนวทางแก้ไขที่สร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต” ผู้ช่วย รมว.อว. กล่าว
ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวเพิ่มเติมว่า งาน Space Law Technical Advisory Mission เป็นหนึ่งในการดำเนินงานสนับสนุนความรู้ด้านอวกาศของทาง UNOOSA โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประเทศที่กำลังเข้าสู่การดำเนินกิจการอวกาศ ซึ่งเป็นกิจกรรมในระดับสากลได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของกฎหมายอวกาศระหว่างประเทศ รวมไปถึงแนวทางของการบูรณาการกฎหมายและนโยบายด้านอวกาศให้เข้ากับบริบทระดับชาติ โดยในงานจะมีทั้งตัวอย่างของการกำกับดูแล-ออกใบอนุญาตของกิจกรรมด้านอวกาศของประเทศญี่ปุ่น, แนวทางของการทำธุรกิจประกันภัยด้านอวกาศ, รวมไปถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการดำเนินกิจกรรมด้านอวกาศระดับสากล ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ด้านอวกาศในประเทศ และในฐานะหน่วยงานอวกาศแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนขีดความสามารถด้านอวกาศของประเทศไทย GISTDA มีความมุ่งมั่นไม่เพียงแต่ในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความร่วมมือ และการเสริมสร้างศักยภาพในการกำกับดูแลกิจการอวกาศอีกด้วย
“งานในครั้งนี้จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้า ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ที่อยู่ในวงการอวกาศจากหลากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมกันหารือและให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญด้านกฎหมายอวกาศ ผ่านการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญและกิจกรรมเชิงปฏิบัติการที่ผู้เข้าร่วมงานได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์, ถกเถียงและแสดงความคิดเห็น มีสถานการณ์จำลองที่น่าสนใจซึ่งผู้เข้าร่วมและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจะทำการแบ่งปันความรู้ในการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับทั้งในระดับสากลและกฎหมายในประเทศ นอกจากนี้การจัดงานครั้งนี้ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการได้ร่วมงานกับหน่วยงานด้านอวกาศระดับโลก (UNOOSA) ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำคัญต่อการแสดงจุดยืนในการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอวกาศอย่างมีความรับผิดชอบและจะส่งผลที่ดีต่อการขับเคลื่อนกิจการอวกาศของประเทศไทยในระดับสากลต่อไปในอนาคต” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว