ยกปี 2568 ปีทองของกลุ่มสามารถฯ ตั้งเป้ารายได้ 13,500 ล้านบาท โต 30 %

i & Tech

กลุ่มสามารถฯ เผยทิศทางธุรกิจปี 2568 ยกเป็นปีทองในรอบ10 ปี เน้น  “ปีแห่งการพลิกโฉมธุรกิจ สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน” ตั้งเป้ารายได้ 13,500 ล้านบาท โต 30 %  ชูธุรกิจไอซีที และการบินมาแรง

           นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทสามารถในปี 2568  ว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล อย่างเต็มรูปแบบ มีการรุกไปในธุรกิจใหม่และรักษาการเติบโตในธุรกิจเดิม สร้างรายได้ผ่านโมเดลธุรกิจ B2G2C มากขึ้น ด้วยการศึกษาความต้องการของหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาด้านการให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แล้วเข้าไปลงทุนพัฒนาและติดตั้งระบบให้ก่อน

           ดังนั้นเพื่อสะท้อนการเป็นปีทองของกลุ่มสามารถในรอบ 10 ปี จึงกำหนดจุดมุ่งเน้นทางธุรกิจในปีนี้ว่า  “ปีแห่งการพลิกโฉมธุรกิจ สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน” หรือ Year of Reinvention โดยจะใช้ Diversity & Unity เป็นกลยุทธ์สำคัญในการปรับเปลี่ยน เสริมแกร่ง และสร้างโอกาสสู่ความยั่งยืน  โดยUnity เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ส่วน Diversity คือการสร้างพอร์ตในหลากหลายธุรกิจ เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงและสร้างโอกาสทางธุรกิจ  ตั้งเป้ารายได้รวมปีนี้ไว้ที่ 13,500 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 30 % เมื่อเทียบกับปี 2567 โดยพุ่งเป้าในการสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งด้วยการเพิ่มรายได้ประจำขึ้นประมาณ  25  %  ทั้งนี้มีปัจจัยบวกหลายอย่างมาเสริมความมั่นใจ

           โดย สายธุรกิจ Digital ICT Solutions นำโดย บมจ.สามารถเทลคอม  มีความชำนาญในการคัดสรรนวัตกรรมเทคโนโลยีครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน ปีนี้มุ่งแสวงหาฐานลูกค้าและพันธมิตรใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง พร้อมลดความเสี่ยงจากปัจจัยรอบด้าน มุ่งเน้นการสร้างโครงการใหญ่ เพื่อช่วยให้ลูกค้าลดภาระด้านงบประมาณ ด้วยรูปแบบ Outsource Services สร้างรายได้ประจำระยะยาว เพื่อความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ

           ปัจจุบันมีงานในมือแล้วมูลค่ากว่า  5,500  ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้ในปีต่อ ๆไป  โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2568 อยู่ที่ 6,500 ล้านบาท มั่นใจว่าปีนี้สายธุรกิจ ICT จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 40 %   ด้วยโอกาสจากหลายโครงการที่เลื่อนมาจากปีที่แล้ว ประกอบกับโครงการใหม่จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ จากภาครัฐ รวมถึงนโยบายบูรณาการด้านเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดการให้บริการด้านต่าง ๆ คาดว่าในปีนี้ จะมีโครงการใหม่ ๆ ที่จะเข้าร่วมประมูล ทั้งโครงการรูปแบบ Outsource Services ขนาดใหญ่หลักหมื่นล้านบาท  และโครงการเป้าหมาย มูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินงานของ 3 สายธุรกิจ ได้แก่ 1. สายธุรกิจ Network Solutions ให้บริการโซลูชันครบวงจรด้านโครงข่ายพื้นฐานสื่อสารความเร็วสูง 2. Enhanced Technology Solutions โซลูชันครบวงจรที่ผสมผสานเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และ 3. Business Applications แอพพลิเคชันที่สนับสนุนด้านการประกอบธุรกิจด้วยซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นชั้นสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของลูกค้า

           ทั้ง 3 สายธุรกิจสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนในวงกว้าง ทั้งในด้านการติดต่อสื่อสารและส่งผ่านข้อมูลได้อย่างฉับไว ด้วยเทคโนโลยี FTTx, MPLS หรือ VSAT   ในด้านการบริหารจัดการ Operation ขององค์กร ด้วยระบบบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร หรือ ERP และในด้านการพัฒนาบุคลากรด้วย e-Learning Solutions อีกทั้งยังสามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม ด้วยนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งานเฉพาะด้าน อาทิ โซลูชันด้านสาธารณูปโภคไฟฟ้า เช่น AMR, AMI และ Smart Meter,  ระบบงานด้านการเงินและการธนาคาร เช่น Core Banking Solutions และ e-Payment Solutions, บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการในธุรกิจภาคการขนส่ง เช่น Electronic Data Interchange (EDI) และ Supply Chain Management นอกจากนี้ ยังมีบริษัทในเครือที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิต Tailored-Made Software ที่มีการนำเทคโนโลยีล่าสุด อย่าง AI และ Machine Learning เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโซลูชันที่นำเสนอ เพื่อมอบความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า

           ขณะที่สายธุรกิจ Utilities & Transportations นำโดย บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่น ตั้งเป้ารายได้ที่ 6,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9 % ด้วยโอกาสทางธุรกิจหลายด้าน โดยเฉพาะ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่น ผู้ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาภายใต้ CATS คาดว่ารายได้จะเติบโตกว่า 8% ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจการบินเริ่มขยายตัวเต็มที่หลังวิกฤตโควิด รัฐบาลกัมพูชามีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยช่วงปลายปี 2567 ได้มีการเปิดให้บริการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ดาราสาคร ที่เกาะกง  และภายในปีนี้จะมีการเปิดสนามบินนานาชาติพนมเปญแห่งใหม่ คาดว่าปีนี้จำนวนผู้โดยสารอาจมีมากถึง 7 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 24 % เมื่อเทียบกับปีก่อน และเที่ยวบินโดยรวมเพิ่มขึ้นถึงกว่า 1 แสนเที่ยวบิน ซึ่งจะส่งผลให้ SAV มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจที่เป็นบวกอย่างโดดเด่นในปีนี้

           ธุรกิจด้าน Power Construction & Services  โดยบริษัทเทด้าและทรานเส็ค มีงานในมือปัจจุบันรวม กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ยังมีแผนรุกเข้าสู่การให้บริการ upgrade สถานีไฟฟ้าแบบเดิมให้เป็น Digital Substation ด้วย โดยมีแผนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆในปีนี้กว่า 3,000 ล้านบาท  , ด้าน โครงการ Direct Coding ปัจจุบันยังเหลือสัญญาอีก 5 ปี เฉลี่ยรายได้ปีละกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทยังมีแผนที่จะขยายฐานธุรกิจบริการระบบพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ หรือ Direct Coding ไปสู่การจัดเก็บภาษีสินค้าอื่นๆ อาทิ ยา อาหารเสริม น้ำมัน และ Soft Drink อีกด้วย

           สำหรับสายธุรกิจ Digital Communications นำโดย บมจ.สามารถดิจิตอล  ตั้งเป้ารายได้ปี 2568  ที่ 1,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนมากกว่า 50% และจะเป็นปีแรกในรอบ 10 ปีที่ SDC จะหยุดการขาดทุน และกลับมามีผลการดำเนินงานเป็น “บวก” จากการวางรากฐานทางธุรกิจที่เริ่มแข็งแรง เพื่อโอกาสสร้างรายได้ประจำให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อไป  โดยเฉพาะโครงการ DTRS มีการรับรู้รายได้จากการจำหน่ายเครื่องวิทยุลูกข่ายและค่าใช้บริการ Air Time ประมาณ 800 ล้านบาท และพุ่งเป้าขยายจำนวนผู้ใช้บริการไปยังหน่วยงานผู้ให้บริการประชาชน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ การปกครองส่วนท้องถิ่น, บรรเทาสาธารณภัย และการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น โดยตั้งเป้าจะมีผู้ใช้บริการ 9 หมื่นรายในปีนี้ และ 1.2 แสนราย ในปี 2026

           ส่วนธุรกิจสายมูโดยบ.ลัคกี้เฮงเฮง นำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาประยุกต์ใช้กับศาสตร์สายมูเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิตอล โดยการนำเสนอบริการ AI Horo ผ่านทางพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ดีๆ ใหม่ๆ ของสายมู  รวมถึงการรุกตลาดธุรกิจของบริการทำบุญของ Thai Merit อีกด้วย

           นายวัฒน์ชัย กล่าวอีกว่า “แม้ในปีที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัว แต่ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาของเรายังอยู่ในระดับที่ดี   ส่วนปีนี้จะเป็นปีที่ดีที่สุดของกลุ่มสามารถในรอบ 10 ปี ทั้งการรุกไปในธุรกิจใหม่ และรักษาการเติบโตในธุรกิจเดิม ที่สำคัญเรามีแผนใหญ่ โดยจะขยายธุรกิจพลังงานที่อยู่ในบ.เทด้า ที่เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบ จัดหาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และก่อสร้างสถานีไฟฟ้า ให้ออกมาครอบคลุมเรื่องพลังงานสะอาด และสิ่งแวดล้อม รับกับเทรนด์ที่ภาคธุรกิจให้ความใส่ใจกับความยั่งยืนมากขึ้น โดยกำลังศึกษาเกี่ยวกับ Carbon Credits ซึ่งเราหวังว่าธุรกิจใหม่ของเราจะสร้างรายได้ประจำให้กับกลุ่มสามารถต่อไป”