สกสว. – สวทช.ปั้นกลุ่ม “ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม” หนุนระบบบุคลากรวิทย์ไทยเข้มแข็ง

News Update

สกสว. – สวทช. รุกปั้นกลุ่ม “ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม” หนุนระบบบุคลากรวิทย์ไทยเข้มแข็ง พร้อมจัดการงานวิจัยไทยให้ใช้ได้จริง ในหลักสูตร RDI Manager ด้านเศรษฐกิจ รุ่นที่ 3

           กรุงเทพฯ 21 มกราคม 2568 –สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมพัฒนาศักยภาพหน่วยงานและบุคลากรในระบบ ววน. โดยการจัดอบรมหลักสูตร “การพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม
ด้านเศรษฐกิจ รุ่นที่ 3” เพื่อเสริมสร้างให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) มีระบบและบุคลากรด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและยกระดับประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงต่อไป

           รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแล สำนักพัฒนาระบบ ววน. กล่าวว่าสกสว. มีพันธกิจสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบ ววน. และบุคลากรด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง สามารถส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบสนองความต้องการการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (Research Development and Innovation Manager: RDI Manager) ด้านเศรษฐกิจ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศที่สนับสนุนการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อยกระดับประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรม เศรษฐกิจของประเทศ ให้ไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค (High Tech) ที่มีมูลค่าสูงขึ้น

           “ในปีที่ผ่านมา สกสว. และ สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต สวทช. ได้ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจ รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้ผ่านการอบรมสามารถนำความรู้ เครื่องมือที่ได้เรียนรู้ ไปปรับใช้กับการทำงานได้จริง และมีการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานในระบบ ววน. มีบุคลากรด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้พัฒนาต่อยอดหลักสูตรดังกล่าว ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายตามประเภทหน่วยงานในระบบ ววน. มากยิ่งขึ้น”

           ด้าน ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ สวทช. ได้รับโอกาสจาก สกสว. ในการร่วมพัฒนาโครงการ RDI Manager ด้านเศรษฐกิจ เพราะเป็นการพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากรที่รับผิดชอบงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักในการจัดการงานวิจัย ใน 4 ด้านหลัก คือ 1. แหล่งทุน สิทธิประโยชน์และมาตรการภาษี 2. ศักยภาพตลาดและการเตรียมความพร้อมด้านการเงิน การลงทุน 3. การบริหารจัดการงานวิจัยและประเมินมูลค่าผลงาน และ 4. ทักษะเพื่อการขับเคลื่อนผลงานสู่การใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับบุคคลที่หลากหลาย ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

            โดยในครั้งนี้มีผู้ผ่านคัดเลือกเข้าอบรมจำนวน 40 ท่าน จาก 29 หน่วยงาน ที่จะได้เข้าร่วมอบรมทั้งการบรรยายเชิงปฏิบัติการ การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กิจกรรมการศึกษาดูงานการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาทางธุรกิจ รวมถึงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ

           ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชลิตา ศรีนวล ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ด้านพัฒนาระบบเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานและบุคลากร ววน. สกสว. กล่าวเสริมถึงความสำคัญของ RDI Manager ด้านเศรษฐกิจต่อระบบ ววน. โดยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการบริหารจัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ที่เน้นสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม โดยอาจอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ กระบวนการหรือบริการใหม่ และขับเคลื่อนไปสู่เชิงพาณิชย์ ที่มีเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตหรือการบริการ เสริมสร้างความสามารถด้านการแข่งขัน หรือลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

           ทั้งนี้ สกสว. ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ SRI for ALL มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศ ด้วยกลยุทธ์ในการขับเคลื่อน SILK คือการสานพลัง Stakeholders & Strategic Partners พร้อมยกระดับระบบ ววน. ให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส มุ่งเน้นการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายและสร้าง New S-Curve ตลอดจนการสร้างระบบ/แพลตฟอร์มเพื่อนำองค์ความรู้ของระบบ ววน. ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง