NIA เผยเทรนด์สตาร์ทอัพไทย “เอไอ-ความยั่งยืน” มาแรง พร้อมผลักดันสู่ตลาดโลก ขณะที่นักลงทุนให้ความสนใจดีพเทคสตาร์ทอัพมากขึ้น
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า ภาพรวมการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย ปี 2567เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่ามีการเติบโตต่อเนื่อง โดยมีอัตราการระดมทุนในรอบ Seed เพิ่มขึ้น 4 % เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีการเติบโตสะสมตั้งแต่ปี 2564 เพิ่มขึ้น 3.3 % ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสตาร์ทอัพในฐานข้อมูลประมาณ 2,100 ราย แบ่งเป็นระยะ Pre-seed 700 ราย และระยะ Go-to market หรือ Growth 1,400 ราย โดยสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ 3 กลุ่มแรกคือ สตาร์ทอัพทางด้านเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) 2.สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่มีการนำไปใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม และ 3 .สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน เช่น GreenTech และ Climate Tech ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการทรานสฟอร์มไปสู่การดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน
อย่างไรก็ดี จากผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศสตาร์ทอัพโลก (Global Startup Ecosystem Index) ในปี2567 โดย StartupBlink (ศูนย์กลางข้อมูลด้านระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ครอบคลุมทั่วโลก) ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 54 ของโลก อันดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทย ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางที่น่าสนใจสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจนี้
สำหรับ ปี 2568 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายของธุรกิจสตาร์ทอัพจากทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมการบริโภค และคลื่นเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดย 3 กลุ่มสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในปี 2567 ยังคงเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพด้านสุขภาพ และอาหาร ที่เติบโตตามสังคมสูงวัย
ดร.กริชผกา กล่าวอีกว่า ในปีนี้ ภายใต้บทบาทผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม NIA ยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดผ่านกลไกและเครือข่ายที่มีอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่ม “Impact Tech” ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์และการยอมรับประเทศไทยในฐานะ “ชาตินวัตกรรม”
โดยกลไกการสนับสนุนของ NIA นั้นครอบคลุมทุกระยะตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจจนออกสู่ตลาดในระดับสากล ภายใต้แนวคิด Groom – Grant – Growth – Global โดยเริ่มต้นจากกลไกการบ่มเพาะความรู้และสร้างเครือข่าย (GROOM) ผ่านสถาบันวิทยาการนวัตกรรม หรือ NIA Academy ที่มีหลักสูตรร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร และการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านออนไลน์ (MOOCs) และโครงการ Startup Thailand League ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพและความสามารถด้านนวัตกรรมแก่เยาวชนในระดับอุดมศึกษา ให้มีทักษะและมุมมองในการเป็นผู้ประกอบการ พร้อมก้าวเข้าสู่โลกแห่งการเป็นสตาร์ทอัพที่ต้องออกสู่ตลาดจริง การสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า (Grant) ในหลากหลายรูปแบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อเอื้อต่อการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมครอบคลุมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น แพลตฟอร์มส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แพลตฟอร์มส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมรายภูมิภาค และทุนสำหรับนวัตกรรมเพื่อสังคม เช่น โครงการหมู่บ้านนวัตกรรม โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน เป็นต้น
สำหรับกลุ่มที่ต้องการเร่งการเติบโตเพื่อออกสู่ตลาด NIA มีการสร้างโอกาสขยายผลเพื่อการเติบโตทางธุรกิจ (GROWTH) ผ่านโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งการเติบโตสตาร์ทอัพใน 4 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีอาหาร (โครงการ SPACE–F) เทคโนโลยีเกษตร (โครงการ AGROWTH) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech) และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) รวมถึงการส่งเสริมและเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จทางนวัตกรรมผ่านโครงการนิลมังกร ซึ่งมีการต่อยอดเป็นนิลมังกร 10X ที่เน้นสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมคุณภาพสูงให้เข้าสู่ตลาดทุนโดยตั้งเป้ายอดขายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทใน 3 ปี โดยมุ่งขยายและสร้างโอกาสต่อยอดสู่ระดับโลก (Global) ผ่าน Global startup hub ที่จะช่วยส่งเสริมการขยายตลาดไปยังตลาดต่างประเทศ โดย NIA ได้ร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรกับหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และประเทศกลุ่มนอร์ดิก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีกลไกส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบ Corporate Co-Funding ร่วมกับสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ TVCA ที่จะสนับสนุนเงินลงทุนมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยยังมีหน่วยงานที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ด้วยมาตรการส่งเสริมสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง โดยให้เงินสนับสนุน 20 – 50 ล้านบาท กับสตาร์ทอัพในระยะ Pre-Serise A+ ขึ้นไป และกองทุนวันอินโนเวชั่นจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนในงบประมาณภายใต้วงเงิน 1,000 ล้านบาท รวมถึงบีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล ได้จัดตั้ง Beacon Impact Fund ที่เน้นลงทุนด้าน ESG ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 1,200 ล้านบาท นอกจากปัจจัยและกลไกต่างๆ ที่ NIA ได้ริเริ่มและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ยังมี “พระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น” หรือ พ.ร.บ. สตาร์ทอัพ ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยมีความเข้มแข็ง และเอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับแนวทางการพัฒนาสตาร์ทอัพ มีทั้งการเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพให้กับระบบฯ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพจากภาคมหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่เป็นดีพเทค ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้ยังตั้งเป้าผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์นในประเทศไทย 1-2 ราย ซึ่งมองว่ากลุ่มที่มีโอกาสและมีศักยภาพสูง คือ กลุ่มเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก เพราะหลายองค์กรให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG มากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ทำให้ตลาดเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 25 % ตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ด้วยโซลูชันใหม่ที่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด และการจัดการขยะ หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม