ผู้เชี่ยวชาญฯเผยผลศึกษาองค์ประกอบฝุ่น PM 2.5 ไม่ว่าวิธีการใดล้วนชี้แหล่งมาจากน้ำมือมนุษย์

Cover Story

               วช. ร่วมกับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศฯ  จัดเสวนา “ไขข้อสงสัยมีอะไรบ้าง อยู่ในฝุ่น PM2.5 ที่พบในประเทศไทย”   ดึงผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาฝุ่นอย่างถูกที่ ถูกเวลา ย้ำนักวิจัยไทยทำเรื่องฝุ่นมากว่า 20 ปี มีศักยภาพในการเก็บฝุ่นและวิเคราะห์ได้ภายในประเทศ พร้อมยืนยันผลทางวิทยาศาสตร์ ฝุ่นแต่ละสถานที่แต่ละเวลา มีองค์ประกอบไม่เหมือนกัน และไม่ว่าจะใช้ตรวจสอบวิธีการใด ทั้งในระดับภาคพื้น หรือระดับความสูงขึ้น ล้วนบ่งชี้ว่าถ้าเป็นในเมืองแหล่งกำเนิดสำคัญมาจากยานพาหนะ คมนาคมขนส่ง   ถ้าอยู่นอกเขตเมือง พื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า จะเป็นเรื่องของการเผาชีวมวลและไฟป่า

              ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า    วช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศไทย  โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่สูงเกินมาตรฐานและข้อกังวลจากประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดข้อสงสัยถึงแหล่งที่มาของฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงสารองค์ประกอบในฝุ่น  วช.จึงร่วมกับศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (HTAPC)  จัดเสวนา “ไขข้อสงสัยมีอะไรบ้าง อยู่ในฝุ่น PM2.5 ที่พบในประเทศไทย”  ขึ้นภายในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2568    เพี่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณะ ผ่านผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ   เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้กับประชาชน  และนำไปสู่การบริหารจัดการปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสม     

                ดร.สุพัฒน์  หวังวงศ์วัฒนา  ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ  (HTAPC)   กล่าวว่า  แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่อง PM 2.5 ถ้าหากจะทำให้ยั่งยืน ต้องกลับไปแก้ไขที่ต้นเหตุ ว่า  PM2.5  ถูกปลดปล่อยมาจากแหล่งกำเนิดอะไรบ้าง   แหล่งกำเนิดใดมีลำดับความสำคัญอย่างไร  และเข้าไปดำเนินมาตรการควบคุม ให้ปล่อย PM2.5 ให้น้อยลง ปัญหาของPM2.5 ก็จะบรรเทาขึ้น  สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน แต่การจะทำอย่างนั้นได้จำเป็นต้องรู้ก่อนว่า  PM2.5 มีแหล่งกำเนิดอะไรบ้าง  ซึ่งการจะไปสืบค้นหาว่าแหล่งกำเนิดอะไรอยู่ที่ไหน เป็นตัวการที่ปล่อย PM2.5  ออกมา  มีเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถทำได้ ด้วยการนำเอาตัวอย่างของ PM2.5   ที่ลอยอยู่ในอากาศ มาดูองค์ประกอบว่ามีสารใดอยู่บ้าง เหมือนกับ Finger print ที่จะสืบค้นกลับไปได้ว่า PM2.5  มาจากอะไร มาจากรถยนต์ มาจากการเผา หรือว่าเกิดขึ้นเองในอากาศที่เราเรียกว่าเป็นฝุ่นทุติยภูมิ 

              “ เราเสวนากันในเรื่องนี้ เพื่อคลายข้อสงสัย ว่าที่ผ่านมา เรามีงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้หรือไม่ว่า ฝุ่น  PM2.5 . ในเมืองไทย เราพบสารอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง และสืบค้นกลับไปถึงแหล่งที่มาได้ การแก้ไขปัญหาก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด ทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อบรรเทาปัญหาเท่านั้น ปีถัดไปก็จะกลับมาอีก จึงมีคำถามว่าเมื่อไหร่มันจะหมดสักที

                ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร  จันทระ  หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวถึงวิธีการหาสารองค์ประกอบในฝุ่น PM2.5   ด้วยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ ว่า  การศึกษาเกี่ยวกับเรื่ององค์ประกอบทางเคมีมีความสำคัญ เพราะจะนำไปสู่การที่จะสามารถจำแนกได้ว่าแหล่งกำเนิดของฝุ่น  PM2.5 มาจากที่ไหน อย่างไรบ้าง  อย่างเช่นที่ จ. เชียงใหม่ มีสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ  ซึ่งจะพบว่าในแต่ละปี ฝุ่น PM 2.5 จะมีปัญหาในช่วงประมาณกลางเดือนก.พ. ถึงกลางเดือนเม.ย.  ซึ่งแต่ละปีก็จะมีค่าฝุ่นมากน้อยต่างกันไป แต่ว่าทุกปี ก็จะมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ไปหลายเท่าในช่วงหน้าแล้ง

               “การหาแหล่งกำเนิดของ PM2.5 เราได้มีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติไปแล้วเมื่อปี  2567  ในการศึกษาดังกล่าว มีการทำเรื่องของการประเมินแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ทั้งแบบปฐมภูมิและทุติย โดยสามารถทำการเปรียบเทียบแหล่งกำเนิดได้ทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงเวลา ยกตัวอย่างในเชิงพื้นที่ เช่น ฝุ่นที่เชียงใหม่กับฝุ่นที่กรุงเทพ ก็จะมีแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน  ขณะที่ในเชิงเวลา หากศึกษาที่เชียงใหม่ จะเปรียบเทียบในช่วงที่มีการเผาที่เป็นฤดูหมอกควัน กับช่วงนอกฤดูหมอกควันว่าจะมีแหล่งกำเนิดต่างกันอย่างไร  ซึ่งมีวิธีการเก็บตัวอย่างฝุ่นและนำมาวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีในห้องปฏิบัติการ  ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ใช้เครื่องมือเก็บตัวอย่างฝุ่นและนำมาวิเคราะห์ทางเคมี   และนำผลมารันในแบบจำลอง ที่เรียกว่า Positive Matrix Factorization  (PMF) เพื่อที่จะบอกว่าองค์ประกอบของฝุ่นที่เก็บได้มีอะไรบ้าง”   

              ทั้งนี้  ผลการศึกษาจากการใช้โมเดลแบบจำลอง  สามารถแบ่งกลุ่ม และสรุปได้ว่าฝุ่น PM2.5 ที่พบใน จ.เชียงใหม่  ซึ่งใช้ข้อมูลของปี 2563 และ2564 รวมกัน  โดยโฟกัสที่ช่วงฤดูหมอกควันของแต่ละปี  พบว่าค่าฝุ่นของปี 2563 จะสูงกว่า 2564 แต่ว่าสัดส่วนของแหล่งที่มาจะแตกต่างกัน ถ้าเป็นการจราจร จะใกล้เคียงกันตลอดทั้งปี แต่ถ้าเป็นจากการเผาไหม้ชีวมวล ของปี 2563 จะสูงกว่าปี2564  แต่ฝุ่นทุติยภูมิมาเจอที่ปี 2564 มากกว่าปี2563  และทำให้สรุปได้ว่า ในแต่ละเวลาแม้จะเก็บจากพื้นที่เดียวกันก็ให้ค่าองค์ประกอบของฝุ่นแตกต่างกัน และมีที่มาของฝุ่นก็แตกต่างกันด้วย  คือ ปี 2563 เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงชีวมวลเป็นในพื้นที่มากกว่า ส่วนปี 2564  การเผาในพื้นที่ลดลง แต่มีฝุ่นทุติยภูมิมากขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากระยะไกล เพราะมีการรันโมเดลที่เป็นการเคลื่อนที่ของมวลอากาศแล้วพบว่าส่วนใหญ่ ลมจะมาจากทางทิศตะวันตกในช่วงฤดูหมอกควัน

              ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ หัวหน้ากลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวว่า  องค์ประกอบทางเคมี จะมี Finger print ของแต่ละกิจกรรมอยู่ กิจกรรมเหล่านี้คือสิ่งที่จะบอกว่า ผู้ต้องสงสัยคือใคร และมาเยือนตรงนั้นหรือไม่  ถ้ามาเยือนองค์ประกอบทางเคมีเหล่านั้นจะถูกตรวจพบทันที  โดยจะใช้เป็นกลุ่มขององค์ประกอบทางเคมี   นำไปวิเคราะห์โดยโปรแกรม PMF   ซึ่งหลักการก็คือการวิเคราะห์องค์ประกอบ Factor Analysis หรือเป็นกลุ่มก้อนขององค์ประกอบที่คาดว่ามีผลเกี่ยวข้อง

              “ตรงนี้เองจึงเป็นจุดที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะใช้กระบวนการไหนในการวิเคราะห์  ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยหรือเป็นต่างประเทศทำ ก็เป็นหลักการเดียวกัน คือวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมี จัด Factor Analysis  สรุปกลุ่มก้อน แล้วบอกว่ามาจากอะไร  ดังนั้นไม่ว่าข้อมูลจะมาอย่างไร  สิ่งที่สำคัญ “ตัวฝุ่น”คือตัวหลักฐาน  การวิเคราะห์และจำนวนตัวอย่างที่ทำจริง คือเครื่องยืนยัน  ถ้ามีการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี ในเวลาที่สนใจเราสามารถสรุปออกมาได้   ผมเน้นย้ำว่า  แต่หากยังไม่วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีอย่างแท้จริงจะสรุปค่อนข้างยาก  การที่จะไปเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาอื่นๆ  ต้องพิจารณาว่ามีสถานที่หรือปัจจัยต่าง ๆ เหมือนกันหรือไม่  ถ้าเหมือนหรือใกล้เคียงกัน ข้อมูลจะออกมาในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดในการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี”

                รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์  กล่าวว่า  จากการศึกษาในแต่ละพื้นที่ ที่มีลักษณะของพื้นที่ต่างกัน เช่น พื้นที่เมือง  พื้นที่เกษตร หรือพื้นที่อุตสาหกรรม   พบว่าในแต่ละพื้นที่องค์ประกอบของฝุ่นจะไม่เหมือนกัน   ดังนั้นการทำงานวิจัยจะต้องเอากิจกรรมในพื้นที่  ณ เวลานั้น มาประกอบกับข้อมูลที่มีอยู่ในมือด้วย  การจะเอาผลจากพื้นที่หนึ่งไปเปรียบเทียบกับอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีกิจกรรมในพื้นที่ต่างกัน จะเทียบกันไม่ได้เพราะคนละบริบทกัน

              “ เรามีห้องปฏิบัติการอยู่ในมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่ง เช่นเดียวกับที่คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตร มีเครื่องมือเหล่านี้มาแล้วกว่า10 ปีแล้ว ดังนั้นองค์ประกอบทางเคมี เทคนิควิธีการวิเคราะห์ มีการพัฒนามาจนเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับนานาชาติ และเป็นเครื่องยืนยันถึงผลงานวิจัย ที่ทำมาพร้อม ๆ กับนักวิจัยคนอื่น ๆ นั้น ยืนยันได้ว่าเราเห็นอะไร เพราะเราทำมากับมือ ”

              นอกจากนี้ งานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์  ยังทำในพื้นที่ที่ระดับความสูงที่แตกต่างกัน โดยใช้ เคยู ทาวเวอร์  ที่ม.เกษตร เป็นสถานีเก็บตัวอย่างฝุ่นที่แปรเปลี่ยนไปตามความสูง  โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์   กล่าวว่า  เคยู ทาวเวอร์เป็นเสาที่ใช้สำหรับศึกษาอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน มีความสูง 117 เมตร  จุดที่เก็บสูงสุด คือ110 เมตร จุดถัดมาคือ 75 เมตร และ 30 เมตร  ข้อดีของเคยู ทาวเวอร์  คือ นอกจากเก็บตัวอย่างฝุ่นแล้ว  ยังตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน แบบเรียลไทม์ ควบคู่กันไปด้วย ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของฝุ่น  ที่ใช้คำว่าพฤติกรรม เพราะว่า ฝุ่นกว่าจะเกิดขึ้นมาได้ นอกเหนือจากการเผาไหม้ที่เป็นกิจกรรมหลักและอื่น ๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องมองก็คือ ฝุ่นเกิดขึ้นในสภาวะใด

              สภาวะหรือลักษณะอุตุนิยมวิทยาที่ต่างกัน  จะทำให้ฝุ่นหน้าตาไม่เหมือนกัน   เช่น กรุงเทพ ฝุ่นส่วนใหญ่มาจากการจราจร  และกิจกรรมของมนุษย์   ฝุ่นจะมีหน้าตาแบบหนึ่ง  ต่างจากการเผาไหม้ชีวมวล ซึ่งในกรุงเทพก็มีแต่น้อย ดังนั้นหากพบฝุ่นที่มีองค์ประกอบที่บ่งชี้ว่ามาจาการเผาไหม้ทางชีวมวลในกรุงเทพ ต้องศึกษาว่าจะมาจากแหล่งไหน   มาจากข้างนอกหรือข้างใน ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้โดยใช้เรื่องของอุตุนิยมวิทยาในการเอามาประกอบ  คล้ายกับการทำดับเบิ้ลเชค เมื่อมีองค์ประกอบทางเคมีแล้วสภาวะตอนที่เกิดเป็นแบบใด  ใช้ทั้งสองแบบควบคู่กันไป  ซึ่งชั้นของอากาศที่แตกต่างกันจะมีเรื่องอุณหภูมิเรื่องของลมและเรื่องของทิศทาง ที่ส่งผลให้ฝุ่นที่พบในแต่ละชั้นของอากาศไม่เหมือนกัน  ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องที่จะต้องทำความเข้าใจ ในแต่ละแพทเทิร์นของฝุ่นที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา  ถึงจะแก้ไขได้ถูกที่และถูกเวลา

              ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นเรศ  เชื้อสุวรรณ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี    กล่าวว่า  ลักษณะของฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้กลม แต่จะเป็นทรงอะไรก็ได้   และมีองค์ประกอบที่หลากหลาย ฝุ่นก้อนเดียวไม่ได้มีแค่น้ำหนัก แต่มีองค์ประกอบที่อยู่ภายในนั้น  และแต่ละก้อนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน  ทั้งนี้หากเรียงลำดับสิ่งที่มีอยู่ในฝุ่นเยอะ ๆ ก็คือ สารอินทรีย์คาร์บอน   และจากการศึกษาฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล และที่จ.หนองคาย จะพบว่า องค์ประกอบของฝุ่นไม่คงที่ ในแต่ละช่วงเวลาของปี ตามฤดูกาล  และในแต่ละพื้นที่แม้จะเป็นจังหวัดใกล้เคียงกัน ก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งองค์ประกอบทางเคมีจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงแหล่งที่มา ซึ่งเรื่องของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ไม่ใช่เรื่องใหม่  เรามีข้อมูลมากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2545  ซึ่งได้ทุนวิจัยจาก สกว.  จึงมีการทำวิจัยเรื่องฝุ่นกันมาตลอดในประเทศไทย

              สำหรับประเด็นผลวิจัยจากการบินสำรวจมลพิษทางอากาศในประเทศไทยเมื่อปี 2567  ในโครงการ ASIA – AQโดยความร่วมมือจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) และทีมนักวิทยาศาสตร์ไทยโดยมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เป็นพาร์ทเนอร์หลักในการลงนามความร่วมมือ   ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรรมภูมิสารสนเทศ  GISTDA    กล่าวว่า   โครงการดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อให้เข้าใจเรื่องของฝุ่น  และรู้ลึกมากขึ้น   ซึ่งข้อมูลจากนักวิจัยในปัจจุบันทำให้เรารู้ข้อมูลเชิงพื้นที่ แล้วว่ามาจากแหล่งไหน  ขณะที่ GISTDA  ดูเรื่องดาวเทียม จะเห็นการเคลื่อนที่ของฝุ่น  ดังนั้นช่วงรอยต่อระหว่างสถานีภาคพื้นดินกับ ดาวเทียมเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้ 

              ทั้งนี้จากเที่ยวบินสำรวจคุณภาพอากาศของ NASA ในเดือนมีนาคม 2567 ภายใต้โครงการ ASIA-AQ ที่ผ่านมา ปัจจุบันทีมนักวิจัยไทยจากหลากหลายหน่วยงานทั้งจาก GISTDA  กรมควบคุมมลพิษ  มหาวิทยาลัยต่าง  ๆ รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ  ได้ช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อศึกษาหาสาเหตุการเกิดฝุ่น  องค์ประกอบของฝุ่น รวมถึง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไป  และได้กำหนดเผยแพร่ผลการสำรวจ ฯ ในระยะ1 ปีในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ ที่โรงแรมอัศวิน กรุงเทพ ฯ

               และเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน  จากผลการวิเคราะห์เบื้องต้นที่ได้นำเสนอในการประชุม ASIA-AQ Science Team ที่จัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 20-24 มกราคมที่ผ่านมา  พบว่า การเผาชีวมวล  หรือ Biomass Burning  เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษจากฝุ่นละอองในภาคเหนือของประเทศไทย    ซึ่งข้อสรุปนี้ตรงกับงานวิจัยของหลาย ๆ ท่าน และได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานหลายประการ รวมถึงปริมาณละอองลอยอินทรีย์ (Organic Aerosol) ปฐมภูมิและทุติยภูมิที่วัดได้จากอุปกรณ์บนเครื่องบินของ NASA ตลอดจนสารประกอบในบรรยากาศที่เกี่ยวข้องกับการเผาไหม้ รวมถึงการใช้ข้อมูลการตรวจวัดภาคพื้นดินที่ดำเนินการโดยนักวิจัยจากสหพันธ์สาธารณรัฐเกาหลีใน จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วง ASIA-AQ Campaign อีกด้วย  

              ขณะที่มลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ   พบว่า เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ร่วมกับการเผาชีวมวล  ความแตกต่างกันของแหล่งที่มาเหล่านี้ เน้นย้ำให้เห็นความจำเป็นในการเข้าใจความแตกต่างของการเกิดมลพิษในระดับภูมิภาคเพื่อการวางกลยุทธ์ในการบรรเทาผลกระทบ   การทำความเข้าใจแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศต้องมีความระมัดระวังในการแยกแยะละอองลอยจากแหล่งกำเนิดโดยตรง และละอองลอยทุติยภูมิ ซึ่งในเบื้องต้น ในช่วง ASIA-AQ Campaign พบว่า PM2.5 ส่วนใหญ่เป็นละอองลอยที่ผ่านปฏิกิริยาเคมีในชั้นบรรยากาศ ที่มาจากทั้งกิจกรรมของมนุษย์และควันเก่าจากการเผาชีวมวล เน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจและให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากการเผาไหม้

              ดร.สุพัฒน์  กล่าวสรุปการเสวนาว่า  ที่ผ่านมา วช.ให้ความสำคัญกับการหาแหล่งกำเนิดของ PM 2.5 ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง การเสวนานี้ ได้นำเสนอเทคนิควิธีการหนึ่งที่ใช้ในการหาที่มาแหล่งกำเนิดของ  PM 2.5 ในอากาศ ซึ่งผลที่ออกมาจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในระดับผิวพื้นทั้งในพื้นที่กรุงเทพและเชียงใหม่ และในระดับความสูงที่แตกต่างกันจากเคยู ทาวเวอร์ และจากการบินของ NASA    ซึ่งค่อนข้างสรุปได้ชัดเจนในภาพรวมว่า ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นปฐมภูมิหรือฝุ่นทุติยภูมิ  สุดท้ายก็จะต้องกลับไปจัดการที่ตัวแหล่งกำเนิดที่ปล่อยออกมา

              ซึ่งทั้งหมดต่างชี้ไปที่ถ้าเป็นในเขตเมือง คือ ยานพาหนะ การคมนาคมขนส่ง ถ้าอยู่นอกเขตเมืองเป็นพื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า จะเป็นเรื่องของการเผาชีวมวล เรื่องของไฟป่า     สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ประมวลกันมาจากผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านที่ทำกันมา ทั้งหมดเกิดจากฝีมือมนุษย์ เพียงแต่ว่าออกไปโดยตรงขึ้นสู่อากาศ หรือว่าปล่อยออกไปแล้วถูกไปเปลี่ยนแปลงด้วยปฏิกิริยาเคมีในอากาศแล้วเป็นฝุ่นทุติยภูมิขึ้นมา    สิ่งที่คาดหวังมากก็คือ งานวิจัยเหล่านี้อยากให้ทางรัฐบาลนำไปใช้ประโยชน์ในการวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้ถูกที่ และลำดับความสำคัญในการดำเนินการ    ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลให้กับรัฐบาลต่อไป