บราเดอร์ ปรับตัวรับการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาด ยึดหลัก Speed & Resilience ย้ำวันนี้ไม่ได้ขายแค่สินค้าอย่างเดียว แต่เดินหน้าสร้างอาชีพใหม่ให้ลูกค้า ด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์คุณภาพ
นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าในปีที่ผ่านมาแม้จะต้องเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ บราเดอร์ ก็ยังคงสร้างรายได้ให้เติบโตจากปี 2563 ด้วยการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในเวลาอันรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการใช้กลยุทธ์ 3C ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ Customer, Channel และ Company แล้วบราเดอร์ยังได้ปรับรูปแบบการทำงานที่เน้นเรื่อง Speed และ Resilience เข้ามาเสริมด้วย เพื่อพร้อมทำงานได้อย่างฉับไว สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น เพราะภาพรวมตลาดในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำงานจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบสู่ customize style มากยิ่งขึ้น
“วันนี้บราเดอร์ไม่ได้ขายแค่สินค้าเพียงอย่างเดียว แต่เราเปลี่ยนวิธีคิดในการทำธุรกิจโดยหันมานำเสนออาชีพใหม่ที่สามารถสร้างรายได้และเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่อาชีพเดิมของลูกค้าในปัจจุบันด้วยเช่นกัน สิ่งนี้ทำให้เรายังเติบโตได้แม้ต้องเจอกับวิกฤติระดับโลก เส้นเลือดหลักอย่างเครื่องพิมพ์ มีอัตราเติบโตจากการปรับการทำงานสู่โมเดล work from home หรือ work from anywhere ทำให้ตลาดต้องการเครื่องพิมพ์ขนาดย่อมลงมาเพื่อให้พนักงานใช้ทำงานได้ที่บ้าน หรือแม้กระทั่งการเรียนออนไลน์ หรือการเกิดใหม่ของธุรกิจขนาดเล็กที่หลายคนไม่คาดคิด ก็ดูเหมือนจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ จักรเย็บผ้าก็ถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่เป็นที่ต้องการสูงสุดเช่นกัน รวมถึงเครื่องพิมพ์ผ้ารุ่น GTX ที่สร้างอัตราการเติบโตสูงถึง 30% หรือแม้แต่เครื่องเสียงคาราโอเกะ BMB ก็สามารถขยายตลาดสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ได้ด้วย นับเป็นอีกก้าวที่ท้าทายที่บราเดอร์ตั้งใจพัฒนาเพื่อเติบโตในตลาดใหม่”
นายธีรวุธ กล่าวว่า จาก COVID-19 ได้สร้าง demand ใหม่ ๆ ซึ่งในปี 2564 คาดว่าภาพรวมตลาดเครื่องพิมพ์จะเติบโตในทุก segment และอีกหนึ่งสินค้าที่ได้รับอานิสงค์คือ จักรเย็บผ้า ที่มียอดขายสูงขึ้นถึง 20 % ในปีงบประมาณ 2563 และมีอัตราการเติบโตก็ปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่องเพิ่มจากการทำหน้ากากผ้ามาเป็นงาน DIY เพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพหลักหรือทำเป็นอาชีพเสริม โดยบราเดอร์จะเน้นเป็นการขายสินค้าในเชิงการลงทุนเพื่อให้เกิดรายได้ ให้ลูกค้าทราบถึงวิธีการทำธุรกิจโดยใช้สินค้าของบราเดอร์ และชี้ช่องทางให้สามารถทำธุรกิจด้วยตนเองเพื่อช่วยลดปัญหาการว่างงานที่เกิดจากวิกฤติ COVID-19 โดยในปี 2564 บราเดอร์จะเน้นสร้างการเติบโตทั้งส่วน personal use ที่ใช้กลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบราเดอร์เพื่อเป็นงานอดิเรกหรือใช้เพื่อทำธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็ก และกลุ่ม business use ที่นำไปใช้ทำธุรกิจเต็มรูปแบบ
ด้านนายณเอก สงศิริ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงแผนการพัฒนากลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบราเดอร์ในปีงบประมาณ 2564 ว่า การดำเนินธุรกิจของ บราเดอร์ จะประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 คือ Expansion ที่มุ่งขยายใน 3 แนวทางได้แก่ 1. ขยายไปยังกลุ่มธุรกิจ B2B แบบเจาะลึกยิ่งขึ้น ต่อยอดความสำเร็จที่บราเดอร์ทำได้ดีอยู่แล้วให้พัฒนามากยิ่งขึ้นไปอีก โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจ Healthcare, Retail, Logistic และ Finance 2. การขยายสู่ตลาดใหม่ ด้วยการนำเสนอให้เห็นถึงประโยชน์ของสินค้าบราเดอร์ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจของลูกค้าให้เติบโตยิ่งขึ้น อาทิ ธุรกิจด้านการศึกษาที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากอดีตสู่การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่น่าจับตา และ 3. การนำเสนอ Tailor made solution ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเลือก business model ที่ตอบโจทย์ได้สูงสุด
ส่วนกลยุทธ์ที่ 2 คือ Develop ที่จะพัฒนาใน 3 ส่วน ได้แก่ 1. การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้วยการขยายช่องทางการขายใหม่ๆ โดยจะเน้นให้ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจด้าน e-commerce เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริหารช่องทางการขายระหว่างออฟไลน์และออนไลน์อย่างเหมาะสมกับแต่ละสภาพตลาด 2. การนำศักยภาพของผลิตภัณฑ์มาพัฒนาเป็น Solution ใหม่ๆ นำเสนอสู่ตลาด เช่น Trackmo ซอฟต์แวร์ที่บราเดอร์พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการตรวจสอบทรัพย์สินโดยเพิ่มประสิทธิภาพของ P-Touch ให้เป็นได้มากกว่าเครื่องพิมพ์สติ๊กเกอร์ และ 3. การพัฒนา Customized service model ปัจจุบันบราเดอร์ได้นำแนวคิด Brother one เข้ามาใช้เพื่อประสานความร่วมมือในการเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าและส่งมอบบริการที่ตอบโจทย์ เพื่อความพึงพอใจสูงสุด
และกลยุทธ์สุดท้ายคือ Communication บราเดอร์ต้องการจะพัฒนาศักยภาพในการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้นเริ่มจาก 1. สื่อสารให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยได้พัฒนา content ที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายเพื่อประสิทธิภาพในการสื่อสาร 2. สื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายเห็นถึงความพร้อมของบราเดอร์ ที่สามารถส่งมอบบริการได้ตรงตามความต้องการ และ 3. การให้ความสำคัญกับ Customer voice อย่างต่อเนื่อง โดยยึดปรัชญาการดำเนินธุรกิจ ‘at your side’ เพื่อนำเอาสิ่งที่ได้รับรู้จากตลาดในภาพรวม มาปรับปรุงในทุกส่วนทั้งด้านบริการ ด้านการนำเสนอ Solution ต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่ออย่างยิ่งว่า หากบราเดอร์สามารถดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์หลักทั้ง 3 ที่วางไว้นี้ จะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างแน่นอน