“ตัดตอนโรค TiLV ในปลาทับทิม” ด้วยวัคซีนฝีมือนักวิจัย ม.เกษตรบพข.หนุนขยายการผลิตเพื่อขยับสู่เชิงพาณิชย์ตัวแรกของโลก!

Cover Story

               โรคไวรัสทิลาเปียเลค (Tilapia Lake Virus : TiLV ) หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคตายเดือน   เป็นหนึ่งในสาเหตุการตายที่สำคัญของลูกปลานิลและปลาทับทิมในช่วงอายุ 1 เดือนแรก ซึ่งหากติดเชื้อ TiLV จะทำให้มีอัตราการตายสูงสุดถึง 80 %

               ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวพบได้ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก  สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลและปลาทับทิม  ขณะเดียวกันก็ยังไม่มี  “วัคซีนเฉพาะ” สำหรับควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว 

               ทีมวิจัยนำโดย “รศ.ดร.ศศิมนัส อุณจักร์”  ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จึงพัฒนา “วัคซีน  TiLV ” ขึ้น เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในปลาทับทิม โดยวัคซีน TiLV  ที่พัฒนาขึ้นเป็นวัคซีนชนิดรีคอมบิแนนท์   ที่ผลิตโดยใช้ชิ้นส่วนของไวรัส TiLV ที่มีคุณสมบัติกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ โดยใช้เทคนิคทางด้านรีคอมบิแนนท์ดีเอ็นเอ

               รศ.ดร.ศศิมนัส  อธิบายว่า  โรคตายเดือนที่มาจากติดเชื้อไวรัส TiLV  จะเกิดกับปลาเล็กในช่วงแรกหลังจากออกจากโรงเพาะเลี้ยง ซึ่งมีการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทำให้เกิดความเครียดและตายในช่วง 1 เดือนแรกเป็นจำนวนมาก  โดยสาเหตุการตายหลักๆ  มาจากการติดเชื้อไวรัส TiLV  ซึ่งทีมวิจัยได้มีการวิเคราะห์พันธุกรรมไวรัสแล้ว  พบว่ามีความคล้ายคลึงกับเชื้อที่เกิดขึ้นในประเทศอิสราเอล  จึงออกแบบในการพัฒนาวัคซีนชนิดรีคอมบิแนนท์ขึ้น โดยใช้ชิ้นส่วนที่มีความจำเพาะในหลายๆ สายพันธุ์

                วัคซีนดังกล่าวผ่านการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว โดยสามารถป้องกันปลาทับทิมจากโรค TiLV ได้เป็นอย่างดี และมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้จะไม่ผันกลับไปก่อโรคได้เช่นเดียวกับวัคซีนที่พัฒนาจากตัวเชื้อ  เช่น  วัคซีนเชื้ออ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine)

                จุดเด่นของวัคซีน TiLV  จากการทดสอบพบว่าสามารถช่วยลดอัตราการตายจากโรค TiLV  จาก  80 %  เหลือเพียง 10 %   ไม่มีสารตกค้างในตัวปลาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเพิ่มอัตรารอดในลูกพันธุ์ปลาที่ย้ายลงสู่กระชังหรือบ่อดิน

               จากความสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการและได้รับตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ  เพื่อให้เกิดการต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในแผนงานอาหารมูลค่าสูง  ประจำปี 2565  ในโครงการ “การเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไวรัสเพื่อใช้ในการผลิตพ่อแม่พันธุ์และลูกพันธุ์ปลาทับทิม”  ระยะเวลา 3 ปี โดยมีบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)  เป็นหน่วยงานร่วมวิจัย  

               รศ.ดร.ศศิมนัส กล่าวว่า  โครงการที่ได้รับทุนจาก บพข. เป็นการวิจัยในการขยายกำลังการผลิตวัคซีนจากระดับห้องปฏิบัติการมาสู่ระดับ pilot scale  โดยมีการผลิตใช้ถังหมักขนาด 5 ลิตร 10 ลิตร และ 50 ลิตร ซึ่งเป็นการประเมินกระบวนการและศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีนในระดับฟาร์มเลี้ยง โดยติดตามได้จาก ระดับภูมิคุ้มกัน และอัตรารอดของปลาที่ได้รับวัคซีน

               การสนับสนุนของ บพข. ช่วยให้งานวิจัยฯ สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของความร่วมมือกับภาคเอกชน การเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน และการควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพคงที่   โดยพัฒนากระบวนการเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน และทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนที่เพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งจะเป็นการยืนยันคุณภาพของวัคซีนก่อน นำไปใช้จริงในฟาร์มเพาะเลี้ยง 

               ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่า หากผลิตในถังหมักขนาด 5 ลิตร  จะสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์วัคซีนได้ 15,000 โดส  ซึ่งมีการคำนวณต้นทุนการผลิตที่เกิดจากปริมาณจำนวนวัคซีนที่นำส่งกระจายไปยังระดับฟาร์มเพื่อทำการทดสอบภูมิคุ้มกัน แล้วจะมีราคาอยู่ที่  2.60  บาทต่อโดส  แต่หากผลิตในระดับ 50 ลิตร จะได้วัคซีน 90,000 โดส และจะมีต้นทุนการผลิตประมาณ  1.40 บาทต่อโดส

               ผู้วิจัย กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาวัคซีน TiLV นี้ คือ การผลิตพ่อแม่พันธุ์ปลาปลอดโรค เพื่อตัดตอนการติดเชื้อและการถ่ายทอดเชื้อสู่ลูกพันธุ์ปลา ซึ่งเป็นการตัดตอนการที่ก่อให้เกิดการระบาดของโรคไวรัส TiLV   ซึ่งทีมวิจัยเชื่อว่า ไวรัส TiLV ที่แฝงอยู่ในพ่อแม่พันธุ์ สามารถถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมสู่ลูกปลาได้ แม้จะไม่แสดงอาการเมื่ออยู่ในโรงเพาะพันธุ์ เพราะมีระบบความปลอดภัยที่ดี แต่จะมีอาการของโรคเมื่อย้ายไปถึงมือเกษตรกร

               “ เราอยากตัดตอนโรคจากระบบการผลิตพันธุ์ปลาโดยใช้วัคซีน TiLV  จึงต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่พันธุ์ที่ปลอดโรคก่อน   ลูกจึงจะปลอดโรคตาม ซึ่งการติดตามผลทั้งในพ่อแม่พันธุ์ และลูกพันธุ์ปลาต้องใช้ระยะเวลานาน  ในช่วง 2-3 ปีแรกในการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ปลา จึงไม่สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาได้   แต่หลังจากดำเนินโครงการเป็นปีที่ 3  ได้มีการตรวจสอบและติดตามในฟาร์มหลายครั้ง ปรากฏว่าไม่พบเชื้อโรคไวรัส TiLV  ติดไปกับลูกพันธุ์ปลาแล้ว”

               ปัจจุบัน โครงการสามารถขยายกำลังการผลิต หรืออัพสเกล (upscale) การผลิตวัคซีนรีคอมบิแนนท์ ให้ได้ในระดับ 5 ลิตรและ 50 ลิตร เรียบร้อยแล้ว และได้มีการนำเอาวัคซีนที่ผลิตขึ้นไปใช้ในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาทับทิมปลอดโรค และขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตลูกพันธุ์ปลาทับทิม  คาดว่าจะสามารถผลิตพ่อแม่พันธุ์ เพิ่มขึ้น 10 % ทุกปีและเพิ่มลูกพันธุ์ปลาได้ 15 % ทุกปี ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาปลอดโรค TiLV ไปยังแหล่งเลี้ยงต่างๆ แล้ว

               อนาคต…ทีมวิจัยจะมีการยกระดับการผลิตเพื่อกระจายไปยังฟาร์มของเกษตรกรมากขึ้น และสามารถนำส่งระบบการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมได้  เนื่องจากมีการทดสอบใช้แล้วในภาคเอกชนที่สนใจ จึงนับว่าเป็นมีศักยภาพในการนำผลผลิตจากงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้.