เริ่มแล้ว “NAC 2025” ร่วมขับเคลื่อน S&T ด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน

News Update

เริ่มแล้ว “NAC2025”  ชู AI ช่วยขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน สวทช.เปิดเวทีสัมมนาให้ทุกภาคส่วนร่วมถอดรหัสและวางยุทธศาสตร์เส้นทางสู่อนาคตด้วย AI ของประเทศไทย

วันนี้(26 มีนาคม 2568) ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ร่วมงานการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 (20th NSTDA Annual Conference: NAC2025) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน: AI-driven Science and Technology for Sustainable Thailand”

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า   การจัดงานดังกล่าว  เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่ สวทช. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีระดับประเทศในการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย โดยในปีนี้มุ่งเน้นการนำเสนอองค์ความรู้ งานวิจัยและพัฒนาด้าน AI แนวทางการบูรณาการเข้ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานของ 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติภายใต้สังกัด สวทช. ได้แก่ BIOTEC, MTEC, NECTEC, NANOTEC และ ENTEC เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชน รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้าน AI เพื่อรองรับความต้องการตลาดแรงงานและสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสอดคล้องกับนโยบาย อว.For AI ของกระทรวง อว.

ภายในงาน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่26-28 มีนาคม 2568 ได้มีการสัมมนาวิชาการ 35 หัวข้อนิทรรศการผลงานวิจัยกว่า 100 บูธ แสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม AI จาก สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม OPEN HOUSE เปิดห้องปฏิบัติการวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ กิจกรรมเยาวชน เช่น หุ่นยนต์นำทางในเขาวงกต NSTDA Micro-Mouse ที่จะช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และนวัตกรรมบนสนามจริง ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร  

โดยไฮไลท์ของงานในวันนี้ ( 26 มีนาคม) ซึ่งเป็นวันแรกของงาน  ได้เปิดให้หลายภาคส่วนเข้าร่วมสัมมนาพิเศษ Decoding Thailand’s AI Future: Strategy for Competitive Edge ซึ่ง สวทช. ร่วมกับ Techsauce เชิญวิทยากรชั้นนำของประเทศ อาทิ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน TDRI ดร.พชร อารยะการกุล CEO, Bluebik Group ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) และ CEO, บริษัท Vialink  นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ Head of Nationwide Operations and Support Business Unit – AIS ดร.สุปิติ บูรณวัฒนาโชค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท EOS Orbit และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ร่วมเสวนาร่วมถอดรหัสและวางยุทธศาสตร์เส้นทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่การวางรากฐานนโยบาย ค้นหาโอกาส Quick Win ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เรียนรู้บทเรียนจากทั่วโลกเพื่อกำหนดทิศทางที่เหมาะสมกับไทย เจาะลึกปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกรณีศึกษาจากภาคธุรกิจชั้นนำ รวมถึงตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI จริงในภาคส่วนต่าง ๆ

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย  ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช.  กล่าวว่า งานสัมมนาดังกล่าวได้เชิญวิทยากรจากหลายภาคส่วนร่วมแชร์ประสบการณ์ในการใช้ AI  ในการวางแผนพัฒนาประเทศ รวมถึงการที่จะคุยกันถึงหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ AI  อย่างเช่น เรื่องของปัญหาแรงงาน การเริ่มต้นใช้ AI  ในหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐ ไปจนถึงวิธีการที่ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนมาช่วยกันในการพัฒนา AI  ของประเทศได้อย่างไร ทั้งนี้ สวทช.เอง เป็นศูนย์วิจัยสำคัญของประเทศ  ได้มีการใช้ AI  ในหลายด้านไม่ใช่เฉพาะเรื่องของ Generative AI      แต่ยังถูกใช้ในด้านการแพทย์  อาหาร  พลังงาน   และนาโนเทคโนโลยี   และที่สำคัญคือการมาดูกันว่า AI  ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว นั้นมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญภายใต้แผนปฏิบัติการ AI  แห่งชาติด้วย 

“ เราไม่ได้ส่งเสริม AI  แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดด้วยว่าเราจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะต้องกำกับดูแล AI  ซึ่งจากการใช้งานที่ผ่านมาพบว่า Generative AI ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกมาก ขณะเดียวกันโอกาสในการใช้ AI ในการก่ออาชญากรรมจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องเสริมเข้าไปในแผนปฏิบัติการ AI  แห่งชาติ ก็คือ  เรื่องความเข้าใจและทักษะในการใช้งาน  Generative AI  ”

 ทั้งนี้จากการทำแผนปฏิบัติการ AI  แห่งชาติมา 2 ปี ดร.ชัย  มองว่าสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อนด้าน AI ของประเทศไทย  อย่างแรกเนื่องจากเทคโนโลยีไปเร็วกว่าแผน ฯ มาก การปรับแผนให้มีความคล่องตัวถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และ 2.เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมาก การพัฒนาจากต้นน้ำมีความจำเป็นลดลง  เราอาจจะต้องพัฒนาจากกลางน้ำ   โดยพิจารณาว่าประเทศไทย อยู่ตรงไหนของ Supply Chain   แล้วยังสามารถสร้างมูลค่า สร้างเศรษฐกิจได้ ไม่ได้ถูกครอบครองอธิปไตยทางด้านเทคโนโลยี  ข้อมูล และAIจากต่างประเทศ   ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องกำหนดเป้าหมายหรือวางทิศทางให้ชัดเจน

“ โดยส่วนตัวผมจะให้ความสำคัญกับการควบคุมมาตรฐาน  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Soft law แทนที่เราจะไปกำหนดบังคับว่าไม่ให้พัฒนาสิ่งนั้น ๆ กลับกันคือ ให้ตรวจสอบตัวเองโดยผ่านการรับรองมาตรฐานโดยจะอาศัยมาตรฐานสากลเข้ามาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งอยากจะให้มีศูนย์ที่ช่วยในการทดสอบ AI ทั้งในส่วนที่เป็นประสิทธิภาพและส่วนที่เป็นธรรมาภิบาล ซึ่งจะครอบคลุมทั้งแหล่งข้อมูลที่นำมาพัฒนา  วิธีการดูแลรักษาข้อมูล  และระดับการรักษาความ ปลอดภัยไซเบอร์  ซึ่งผมเร่งอย่างยิ่งที่จะทำให้ศูนย์ดังกล่าวเกิดขึ้น ไม่ว่าประเทศไทยจะมีกฏหมายหรือไม่มี หรือว่าใช้วิธีการจริยธรรมก็ตาม  เราต้องการโครงสร้างพื้นฐานเรื่องของการตรวจสอบมาตรฐานและการรับรอง”

อย่างไรก็ดี ในโอกาสนี้ สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 อย่างเป็นทางการและทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2568 เวลา 09.00-14.00 น.   

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนร่วมงาน NAC2025 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ www.nstda.or.th/nac/ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2564 8000