MUIC เปิดตัว “AI Copter”นวัตกรรมตอบโจทย์การเรียนยุคดิจิทัลรับเทรนด์มหาวิทยาลัยทั่วโลก

i & Tech

MUIC เปิดตัว “AI Copter” ผู้ช่วยส่วนตัวนักศึกษา นวัตกรรมตอบโจทย์การเรียนยุคดิจิทัลรองรับเทรนด์มหาวิทยาลัยทั่วโลกดึง AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ประกาศความสำเร็จในการเปิดตัว “AI Copter” แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยส่วนตัวของนักศึกษา ให้คำปรึกษาด้านการเรียนแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งการให้คำแนะนำด้านวิชาการ การวิเคราะห์เส้นทางอาชีพ และข้อมูลหลักสูตรในแต่ละสาขาแบบครบจบในที่เดียว โดยระบบนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยี Google Gemini สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ MUIC ในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยด้วยนวัตกรรมระดับสากล พร้อมตอบรับแนวโน้มของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกที่นำ AI มาเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอน โดยคาดว่าจะช่วยลดภาระงานบุคลากร และสนับสนุนการเติบโตของจำนวนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง

              ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) เปิดเผยว่า MUIC ได้เปิดตัว “AI Copter” ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้และการให้บริการแก่นักศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้คำแนะนำทางวิชาการ เช่น การวิเคราะห์และเสนอแนะรายวิชาที่เหมาะสม การเลือกวิชาโท (Minor) และโปรแกรมประกาศนียบัตร (Certificate Programs) ให้สอดคล้องกับความสนใจและเป้าหมายในอนาคตของแต่ละบุคคล รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียน ระบบ AI Copter พัฒนาบนพื้นฐานของ Google Gemini และได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมกับบริบทของวิทยาลัยฯ โดยใช้เทคนิค RAG (Retrieval-Augmented Generation) ร่วมกับการปรับพารามิเตอร์ (Fine-Tuning) เพื่อให้สามารถตอบคำถามได้อย่างแม่นยำ ตรงประเด็น และสอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษา โครงการนี้ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 12 เดือน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของวงการศึกษาของไทยในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ

                การเปิดตัว AI Copter สอดคล้องกับเทรนด์การนำ AI มาใช้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกที่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้นำ AI มาใช้เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ใช้ AI เป็นผู้ช่วยในการสอนวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ช่วยตอบคำถามนักศึกษาและให้คำแนะนำในการเขียนโปรแกรมได้ทันที สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มีโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ AI อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้าน Human-AI Interaction และ AI Policy Research มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ใช้ AI ในการตรวจข้อสอบและวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนของนักศึกษา เพื่อปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน และมหาวิทยาลัยในประเทศจีน เช่น มหาวิทยาลัยเซินเจิ้น (Shenzhen University) และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) ได้เปิดสอนหลักสูตร AI โดยใช้เทคโนโลยีของ DeepSeek

                ประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับจาก AI Copter ประกอบไปด้วย การช่วยเหลือด้านวิชาการแบบเรียลไทม์ ให้นักศึกษาสามารถถามเกี่ยวกับหลักสูตร ตารางเรียน และแนวทางการศึกษาได้ทันที ซึ่งจุดเด่นและไฮไลท์ของ ‘AI Copter’ มีความโดดเด่นในด้านการให้บริการที่ครอบคลุมและปรับให้เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะของนักศึกษาแต่ละคน ดังนี้

•             การให้คำแนะนำทางวิชาการ ระบบสามารถช่วยนักศึกษาในการเลือกวิชาเรียน วิชาโท (Minor) และโปรแกรมประกาศนียบัตร (Certificate) ที่เหมาะสมกับความสนใจและเป้าหมายอาชีพของแต่ละบุคคล

•             การให้คำปรึกษาด้านอาชีพ AI Copter สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความสนใจและผลการเรียนของนักศึกษา เพื่อแนะนำเส้นทางอาชีพที่เหมาะสม

•             การสนับสนุนโอกาสแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ  ระบบให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับโครงการแลกเปลี่ยน (Exchange Programs) และโอกาสการศึกษาในต่างประเทศ โดย MUIC มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยพันธมิตรกว่า 140 แห่งทั่วโลก

•             การบริการข้อมูลที่รวดเร็ว AI Copter สามารถแจ้งเตือนกำหนดการสำคัญ ข่าวสารจากมหาวิทยาลัย และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ

              รองศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ รองคณบดี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) กล่าวว่า “AI Copter” เป็นระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นจากฐานข้อมูลของ MUIC ในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา จึงสามารถให้ความช่วยเหลือ และตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาได้อย่างตรงจุด สำหรับแผนการเปิดตัว AI Copter แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ระยะ โดยมีรายละเอียดสำคัญในแต่ละช่วงดังนี้:

              ระยะที่ 1 (ต้นปี 2568) เริ่มทดลองใช้งาน AI ในบริการเฉพาะด้าน เช่น การแนะนำด้านวิชาการ การลงทะเบียนเรียน และข้อมูลกิจกรรมนักศึกษา

              ระยะที่ 2 (กลางปี 2568) ขยายการให้บริการ AI ในด้านการแนะแนวอาชีพ การฝึกงาน และโอกาสศึกษาต่อต่างประเทศ

              ระยะที่ 3 (ต้นปี 2569) พัฒนา AI ให้สามารถให้บริการเชิงโต้ตอบแบบเรียลไทม์ และนำไปใช้กับการจัดการหลักสูตรของวิทยาลัยฯ

              ทั้งนี้ AI Copter จะช่วยลดต้นทุนด้านบุคลากรได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จะสามารถประหยัดงบประมาณได้กว่า 5 – 10 ล้านบาท จากการลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และอาจารย์ที่ปรึกษาในด้านการให้คำปรึกษาเบื้องต้น ตลอดจนลดความจำเป็นในการเพิ่มจำนวนบุคลากรแนะแนวการศึกษา พร้อมทั้งยกระดับประสิทธิภาพงานบริการนักศึกษาด้วยการนำ AI เข้ามาเป็นผู้ช่วย นอกจากนี้ MUIC ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา “Helix” ระบบ AI อีกหนึ่งตัวที่จะช่วยเสริมศักยภาพการทำงานของอาจารย์ พนักงาน และนักวิจัย โดยมีแผนเปิดตัวในเร็วๆ นี้ การเปิดตัว AI Copter ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ MUIC ในการนำนวัตกรรมมาสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัยและตอบโจทย์โลกอนาคต ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของ MUIC ในฐานะสถาบันการศึกษานานาชาติชั้นนำ ที่พร้อมพัฒนานักศึกษาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และเติบโตอย่างมั่นคงในเวทีโลก สนใจข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยคลิก https://muic.mahidol.ac.th