ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

i & Tech

วันนี้ (1 เมษายน 2568) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอัจฉริยะ” โดยได้รับเกียรติจากนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวที่มาของความร่วมมือโครงการ SAI ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทางด้านการเกษตรของประเทศ ด้วยตระหนักดีว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง สามารถต่อยอดจากฐานความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรของไทย โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต เริ่มตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การขนส่ง การแปรรูปและการสกัดสารสำคัญ รวมถึงการพัฒนาด้านการขายและการตลาด จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนา “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอัจฉริยะ”

“การดำเนินโครงการนี้ ส.อ.ท. จะบริหารจัดการพื้นที่ Sandbox ภายในอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สำหรับการทดสอบและสาธิตการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร ผ่านการเชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภค และอุตสาหกรรมแปรรูปมูลค่าสูง รวมถึงการบูรณาการเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบรองรับการขยายผลและถ่ายทอดองค์ความรู้ภายใต้แนวคิด 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรม (One Province One Industry) ไปยังเกษตรกรในภูมิภาคทั่วประเทศ ครอบคลุม 5 ภาค 18 กลุ่มจังหวัด 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างกลไกการทำงานระหว่างเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม รัฐ สถาบันการวิจัย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียงทั้งหมดในห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้าง

การผลิตสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง ตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green) และเกิดโมเดลธุรกิจทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน นำไปสู่ความยั่งยืน” นายเกรียงไกร กล่าวเสริม

ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการนี้นับเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางการเกษตรอัจฉริยะที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้กับผู้ประกอบการ โดยใช้พื้นที่บริเวณอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพื้นที่ Sandbox ในการทดสอบและสาธิตการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรแบบครบวงจร เป็นต้นแบบความร่วมมือระยะยาวระหว่างมหาวิทยาลัยกับ ภาคอุตสาหกรรม ในด้านการวิจัย วิชาการ การสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนองค์ความรู้ทางการวิจัยและวิชาการ การต่อยอด และถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระหว่างมหาวิทยาลัย กับ เครือข่ายผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมทั้ง ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างกลไกการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม

“พิธีลงนาม MOU ในวันนี้ นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี และเป็นอีกก้าวหนึ่งในการผลักดันความร่วมมือการพัฒนาพื้นที่ศาลายา เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยกับ เครือข่ายผู้ประกอบการและพันธมิตรของ ส.อ.ท. อันจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs โดยบูรณาการความรู้และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับ ส.อ.ท.” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร กล่าวทิ้งท้าย

ภายในงานมีการ Showcase สินค้าและบริการต่างๆ จากทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 5 บูธ ได้แก่ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Agriculture Industry (SAI),  สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม, โครงการกองทุนอินโนเวชั่นวัน (Innovation ONE), FTI Academy, FTI Service และจากของมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 10 บูธ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเข้าร่วมจัดบูธ ได้แก่ วิทยาเขตกาญจนบุรี, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะวิทยาศาสตร์, สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, สถาบันโภชนาการ, คณะเภสัชศาสตร์, สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม และโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ซึ่งสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้การสนับสนุนในการประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมจัดบูธในครั้งนี้