ดีป้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาสแรกปีนี้ ฟื้นสู่ระดับ “เชื่อมั่น”

News Update

ดีป้า เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 1/2568 ฟื้นตัว กลับสู่ระดับ “เชื่อมั่น”จากปัจจัยบวกด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลง และการแข่งขันด้าน AI ระดับโลก  ส่วนผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ แนะไทยเดินหน้าหาช่องทางตลาดใหม่ทดแทน

             วันนี้ (10 เมษายน 2568)  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 1 ประจำปี 2568 และไตรมาส 4 ประจำปี 2567 ซึ่ง เป็นการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการดิจิทัลที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ จำนวน 300 ราย ใน 5 อุตสาหกรรมย่อย   ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication)

           โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 1 ปี 2568    อยู่ที่ระดับ 50.1 ปรับตัวดีขึ้นจาก 48.8 ของไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 4/2567) โดยกลับมาอยู่ในระดับเชื่อมั่น  ( ดัชนีความเชื่อมั่นมากกว่า 50 )ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยบวกคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง การย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ และการแข่งขันด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระดับโลก ในขณะที่มีปัจจัยลบ คือ รัฐบาลประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ มาตรการกีดกันทางการค้าต่างประเทศ และผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันต่อเทคโนโลยีเกิดใหม่  

             ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์  ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า  เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท และ Easy E-Receipt 2.0 ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลง การย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ และการแข่งขันด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระดับโลก ล้วนส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไตรมาสแรกปีนี้กลับสู่ระดับ “เชื่อมั่น”  อีกครั้ง หลังตกลงไปสู่ระดับไม่เชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567  แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลยังมีความกังวล ต่อการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างประเทศ และการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยีเกิดใหม่  ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่น

             ทั้งนี้หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า ไตรมาส 1/2568 มี 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 51.5  กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 53.5  และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 52.0 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 โดยอยู่ที่ระดับ 45.8 และ 46.4 ตามลำดับ  ขณะที่ไตรมาส 4/2567 มี 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 50.3 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 53.3 และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 50.2 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 44.2 และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 43.7

             “ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย คาดหวังให้ภาครัฐเร่งพัฒนากำลังคนดิจิทัลภายในประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม พร้อมส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเปิดโอกาสต่อยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีเกิดใหม่ มีการสนับสนุนการลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

             อย่างไรก็ดี การสำรวจดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศมาตรการภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา  ซึ่ง ผศ.ดร.ณัฐพล  กล่าวว่า จากการที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์   ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) โดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้าทุกประเภทจากทุกประเทศ ส่วนประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 36% จากเดิมที่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการโยนหินถามทางเพื่อสังเกตท่าทีของคู่ค้าสหรัฐฯ แต่ยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบต่อ GDP ของประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลอย่างทันท่วงที ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศล่าสุดกับการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากคู่ค้าส่วนใหญ่ลงเหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน เพื่อเปิดทางให้เกิดการเจรจาการค้า โดยมีผลบังคับใช้ทันที ยกเว้นสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเป็น 125%

             “ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเตรียมการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาตลาดใหม่ทดแทนสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนสถานะให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าเพิ่ม และการสร้างช่องทางการส่งออกให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อย และรายย่อย โดยไทยจะมีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการเหล่านั้น ซึ่งถือเป็นการกระจายเม็ดเงินสู่ระดับฐานราก และเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ รวมไปถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม PromptTrade หรือระบบการค้าระหว่างประเทศรูปแบบดิจิทัล (International Trade Digitization)”