ETDA เปิดเวทีทำความเข้าใจ (ร่าง) ประกาศ คธอ.

News Update

ETDA เปิดเวทีทำความเข้าใจ (ร่าง) ประกาศฉบับใหม่! กำหนดหน้าที่เพิ่มเติมสำหรับแพลตฟอร์มตลาดสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ

             นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า เมื่อเร็วนี้ๆ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเวทีชวนผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้าที่อาจเข้าข่าย ร่วมทำความเข้าใจต่อ “ร่าง ประกาศ คธอ. เรื่อง หน้าที่เพิ่มเติมสำหรับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะตามมาตรา 18 (2) พ.ศ. ….” เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอและเร่งทำความเข้าใจต่อสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับใหม่ ที่ได้กำหนดหน้าที่เพิ่มเติมให้ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะตามมาตรา 18 (2) ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางในการซื้อขายสินค้า (Online Marketplace) รวมถึง แพลตฟอร์ม Social Media ประเภท Social Commerce ที่มีลักษณะเข้าข่ายอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

              1. มีมูลค่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจากการให้บริการภายในราชอาณาจักร เกิน 100 ล้านบาทต่อปี หรือ 2.ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลกับ DBD และมีจำนวนผู้ประกอบการในไทย ใช้งานเกิน 100 รายขึ้นไป หรือ 3. ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลกับ DBD และมีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยมากกว่า 5% แต่ไม่เกิน 10% ของประชากร หรือ 4.ผู้ใช้บริการสามารถกระทำการได้โดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจส่งผลต่อสาธารณชนในรูปแบบของข้อความหรือการกระทำ ที่ผิดกฎหมาย กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ข้อมูลส่วนบุคคล กระทบต่อเด็ก ความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น

             แพลตฟอร์มที่เข้าข่ายลักษณะเฉพาะข้างต้น เข้าข่ายมีหน้าที่เพิ่มเติมตามที่ร่างประกาศฉบับนี้ฯ กำหนด เช่น ต้องมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายไทย, ส่งรายงานการดำเนินการให้ทางสำนักงานทราบ, ต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการหรือร้านค้า พร้อมทั้งต้องใช้ความร่วมมือในการส่งข้อมูลร้านที่มีการกระทำความผิดให้หน่วยงานของรัฐ, ตรวจสอบสินค้าก่อนให้มีการลงขายหรือโฆษณา ว่าเป็นไปตามมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด มีการออกเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมทั้งแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าบนหน้าการให้บริการ และแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการทราบว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน และ ต้องจัดให้มีกระบวนการแจ้งเตือนและนำออก (Notice and Take down) ที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษกรณีที่ผู้ประกอบการหรือร้านค้ามีการฝ่าฝืนไว้ในเงื่อนไขการให้บริการ เป็นต้น

             ร่างประกาศฯ นี้ ถือเป็นหนึ่งในกฎหมายลูก พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่เป็นผลจากความร่วมมือระหว่าง ETDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติการ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและมาตรฐานสินค้า อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สภาองค์กรของผู้บริโภค, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ที่ได้มีการหารือและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

             “เป้าหมายของร่างประกาศฉบับนี้ ไม่ใช่แค่การออกข้อกำหนด แต่คือการสร้างกลไกดูแล สู่การยกระดับบริการแพลตฟอร์มที่โปร่งใส เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ รองรับการค้าในอนาคต และที่สำคัญเพื่อให้เกิดมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ภายใต้กลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน”

             ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ ฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และสอดคล้องกับการใช้งานจริง ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) และหากได้รับความเห็นชอบ จะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา – ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand