แจ็กซา ประกาศผล “Asian Try Zero-G 2025” เลือก 2 โครงการจาก รร. ดาราสมุทร ศรีราชา และ ราชวินิต บางแก้ว ให้นักบินอวกาศญี่ปุ่นนำไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วงต้นปี 2569
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น ประกาศผลการจัดแข่งขันโครงการ “Asian Try Zero-G 2025” โดย JAXA เลือกแนวคิดการทดลองของเยาวชนไทย จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ การทดลองเรื่อง “การศึกษาการสั่นแบบฮาร์มอนิกอย่างง่ายของสปริงและเชือกในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Studying the behavior of simple harmonic motion in the spring and rope in microgravity conditions)” เสนอโดย นายธนกฤต โพธิปักขิย์ (เจ๋ง) นายยศพนธ์ สุขสว่าง (นะโม) และนายกฤติน เกตานนท์ (ซีซ่าร์) นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา
และการทดลองที่ 2 เรื่อง “การศึกษาพฤติกรรมของสะพานของเหลวภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Dynamics of liquid bridge in microgravity)” เสนอโดย นายพิพัฒน์พล สิริโพธิกุล (พี) นายชนกันต์ เฉยสอาด (นภ) และนายณัฐดนัย พึ่งแสงจันทร์ (โพธิ์) นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว แนวคิดทั้ง 2 เรื่องนี้ นายคิมิยะ ยูอิ(Kimiya Yui)นักบินอวกาศญี่ปุ่น จะนำไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วงต้นปี 2569

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. ได้ร่วมกับ JAXA ดำเนินโครงการ Asian Try Zero-G 2025 ชวนเยาวชนไทยให้ส่งแนวคิดการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำร่วมกับเยาวชนจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย โดยเปิดรับสมัครไอเดียการทดลองทางฟิสิกส์อย่างง่าย โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งในประเทศไทยปีนี้มีผู้ส่งใบสมัครจำนวน 232 เรื่อง ประกอบด้วยเยาวชนจำนวน 464 คน ถือเป็นจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“คณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วยนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญของ สวทช. ได้คัดเลือกแนวคิดการทดลองของเยาวชนไทยจำนวน 3 เรื่อง ส่งเข้าแข่งขันกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย JAXA ได้เลือกข้อเสนอการทดลองจาก 14 ชาติ รวมจำนวน 11 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการทดลองของเยาวชนไทย 2 เรื่อง เพื่อนำไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยนายคิมิยะ ยูอิ นักบินอวกาศญี่ปุ่น ในห้องทดลองโมดูลคิโบ (Kibo Module) ของ JAXA สำหรับการทดลองเรื่องอื่น ๆ เป็นของเยาวชนออสเตรเลีย บังคลาเทศ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไต้หวัน”

ดร.จุฬารัตน์ กล่าวว่า “สำหรับแนวคิดการทดลองทั้ง 2 เรื่อง ที่ได้รับการคัดเลือกประกอบด้วย ไอเดียการทดลองแรกของ นายธนกฤต โพธิปักขิย์ (เจ๋ง) นายยศพนธ์ สุขสว่าง (นะโม) และนายกฤติน เกตานนท์ (ซีซ่าร์) นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา เรื่องการศึกษาการสั่นแบบฮาร์มอนิกอย่างง่ายของสปริงและเชือกในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Studying the behavior of simple harmonic motion in the spring and rope in microgravity conditions) แนวคิดการทดลองเป็นการศึกษารูปแบบของคลื่นในเส้นเชือกในแต่ละชนิดผ่านการสั่นของมวลที่ติดกับสปริงแบบฮาร์มอนิกอย่างง่าย โดยมีเส้นเชือกประเภทต่าง ๆ ติดกับมวลแบบตั้งฉาก อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงโลกส่งผลต่อมวลของเชือกและมวลที่ติดกับสปริง ทำให้การสังเกตผลการทดลองเป็นไปด้วยความยากลำบาก ด้วยเหตุนี้จึงเกิดข้อสงสัยว่า หากนำการทดลองดังกล่าวไปทดลองภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เส้นเชือกทั้ง 3 ชนิดจะมีการเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร


“ไอเดียการทดลองที่ 2 ของนายพิพัฒน์พล สิริโพธิกุล (พี) นายชนกันต์ เฉยสอาด (นภ) และนายณัฐดนัย พึ่งแสงจันทร์ (โพธิ์) นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว เรื่องการศึกษาพฤติกรรมของสะพานของเหลวภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Dynamics of liquid bridge in microgravity) เป็นการศึกษาความสูง มุมสัมผัส และรูปทรงของน้ำที่อยู่ระหว่างวัตถุ 2 ด้าน โดยการเอาวัตถุที่หนึ่งมาวางเป็นฐานและหยดน้ำลงไปบนวัตถุ จากนั้นนำวัตถุที่สองมาชนกับหยดน้ำและดึงขึ้น น้ำที่ถูกดึงขึ้นมาเรียกว่า สะพานของเหลว (liquid bridge) โดยวัตถุสองชิ้นที่วัสดุเหมือนกัน แรงที่กระทำกับสะพานของเหลวจะมีแรงโน้มถ่วง แรงตึงผิว และแรงแคพิลลารี (capillary force) แต่ถ้าทำการทดลองโดยที่วัตถุสองด้านมีวัสดุต่างกันจะทำให้รูปทรงและมุมสัมผัสของสะพานของเหลวต่างออกไป ทางทีมจึงสงสัยว่าหากการทดลองนี้ไม่มีแรงโน้มถ่วงจะส่งผลกับความสูง มุมสัมผัส และรูปทรงของสะพานของเหลวอย่างไร”

ทั้งนี้เยาวชนเจ้าของการทดลองจะมีโอกาสสื่อสารกับนักบินอวกาศแบบเรียลไทม์และรับชมการถ่ายทอดสดการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติจากศูนย์อวกาศสึคุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงต้นปี 2569 ตามตารางการทำงานของนักบินอวกาศ ผู้สนใจสามารถติดตามการทดลองโครงการ Asian Try Zero-G 2025 ได้ที่เพจ NSTDA Space Education Facebook: https://www.facebook.com/NSTDASpaceEducation