“Medical AI Data Platform” แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ ตัวช่วยแพทย์คัดกรอง-วินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว

News Update

           กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จับมือกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย Medical AI Consortium   เปิดตัว “ แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ ” หรือ “ Medical AI Data Platform ” มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศข้อมูลที่เข้มแข็ง รองรับการพัฒนานวัตกรรม AI ทางการแพทย์เพื่อคนไทย     

           “นางสาวศุภมาส อิศรภักดี”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า  กระทรวง อว. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่านนโยบาย”อว. for AI” ซึ่งมุ่งสร้างระบบนิเวศ AI ที่ครบวงจร โดยการแพทย์เป็นเป้าหมายสำคัญที่ AI จะช่วยเพิ่มความแม่นยำ รวดเร็ว และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ การสนับสนุนการจัดตั้ง Medical AI Consortium ผ่านทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อพัฒนา Medical AI Data Platform ถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของประเทศ

           “แพลตฟอร์มนี้ไม่ได้เป็นเพียงคลังข้อมูล แต่ยังประกอบด้วยเครื่องมือที่พัฒนาโดย สวทช. ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยและแพทย์สามารถพัฒนานวัตกรรม AI ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นภารกิจสำคัญในการสร้างรากฐาน AI การแพทย์ที่มั่นคงของประเทศ จึงขอเชิญชวนโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ร่วมแบ่งปันข้อมูลและระบุโจทย์ที่สำคัญ และนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาโมเดล AI ที่ใช้ได้จริง เพื่อร่วมกันยกระดับสาธารณสุขไทยให้ก้าวทันโลก และใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มศักยภาพ”

           ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า   สวทช. มีพันธกิจในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ Medical AI Consortium และ แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ ที่พัฒนาขึ้นนี้ คือ ตัวอย่างของการบูรณาการความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและ AI ของ สวทช. เข้ากับความรู้ทางการแพทย์จากพันธมิตร เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

           ตัวอย่างของเทคโนโลยีอย่าง RadiiView และ NomadML ที่พัฒนาโดยนักวิจัยเนคเทค สวทช. จะช่วยปลดล็อกให้นักวิจัยและแพทย์ไทยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ได้เอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และนำไปสู่ AI ทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์บริบทของประเทศไทยอย่างแท้จริง

           สำหรับแพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform) พัฒนาโดยเนคเทค สวทช. ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่สนับสนุนกระบวนการพัฒนา AI ทางการแพทย์ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ครบวงจร และปลอดภัยตามมาตรฐานคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ภายใต้การดูแลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุม 3 ส่วนหลัก ได้แก่

           1. ส่วนบริหารจัดการข้อมูล (Data Management) รองรับการรวบรวม จัดเก็บ จัดทำรายการข้อมูลภาพทางการแพทย์อย่างปลอดภัยและเป็นระบบ มีการกำกับดูแลสิทธิ์การเข้าถึงตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูล นอกจากนี้ นักวิจัยเนคเทค สวทช. ยังพัฒนา RadiiView ซอฟต์แวร์และคลาวด์แอปพลิเคชันสำหรับการกำกับข้อมูลภาพทางการแพทย์ (Annotation) ที่มีเครื่องมือช่วยให้แพทย์ระบุลักษณะสำคัญบนภาพได้อย่างแม่นยำ เพื่อสร้างชุดข้อมูล

           2. ส่วนพัฒนาและฝึกสอน AI (AI Modeling) ผ่านแพลตฟอร์ม NomadML ที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถพัฒนาโมเดลได้โดย ไม่ต้องเขียนโค้ดโปรแกรมที่ซับซ้อน เพียงนำชุดข้อมูลที่กำกับแล้วจาก RadiiView มาใช้บนแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเชื่อมต่อกับทรัพยากรประมวลผลสมรรถนะสูงอย่าง LANTA Supercomputer ของ สวทช. เพื่อเร่งกระบวนการพัฒนาโมเดล

           3. ส่วนบริการ AI (AI Service Deployment) มุ่งเน้นการนำโมเดล AI ที่ผ่านการพัฒนาและตรวจสอบประสิทธิภาพแล้ว ไปสู่การใช้งานจริงในระบบบริการสุขภาพ โดยอาจให้บริการผ่าน National AI Service Platform เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง

            ปัจจุบันแพลตฟอร์มดังกล่าว ได้รวบรวมภาพทางการแพทย์แล้วกว่า 2.4 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคทรวงอก, มะเร็งเต้านม (ภาพแมมโมแกรม), โรคตา (ภาพจอประสาทตา), โรคในช่องท้อง (ภาพอัลตราซาวด์), โรคผิวหนัง, โรคหลอดเลือดสมอง (ภาพ CT/MRI), และโรคกระดูกพรุน (ภาพ BMD/VFA)

           ส่วน Medical AI Consortium มีสมาชิกเข้าร่วมขับเคลื่อนรวม 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์,  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช

            ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. เปิดเผยว่า  การพัฒนา AI สำหรับการแพทย์จำเป็นต้องใช้ข้อมูลภาพทางการแพทย์คุณภาพสูงปริมาณมาก ซึ่งที่ผ่านมามีความท้าทายในการรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลที่กระจัดกระจายให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน Medical AI Consortium จึงก่อตั้งขึ้นและขับเคลื่อนให้เกิด แนวคิด “ร่วมแชร์ เชื่อม ใช้” เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือในการแบ่งปันและใช้ประโยชน์ข้อมูลทางการแพทย์อย่างมีธรรมาภิบาล โดยมีแพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform) ที่พัฒนาขึ้นโดย เนคเทค สวทช. เป็นแพลตฟอร์มกลางดิจิทัล ทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ บริหารจัดการ และให้บริการข้อมูลแก่สมาชิกในเครือข่ายและคนทั่วไป

          โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบพค. จำนวน 90 ล้านบาทในระยะเวลา  3 ปี  การดำเนินงานเกือบ 1ปีครึ่งที่ผ่านมา ถือว่ามีความท้าทายอย่างมากกว่าที่โรงเรียนแพทย์จะมีการนำภาพทางการแพทย์มาแชร์ในแพลตฟอร์ม โดยขณะนี้มีภาพในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึง  2.48 ล้านภาพ จากเป้าหมายโครงการที่ใน  3 ปี จะมี  3 ล้านภาพ  และมีการพัฒนาโมเดล AI ต้นแบบ จำนวน 4  บริการ  ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้    ปัจจุบันโครงการ ฯ ได้มีการพัฒนาโมเดล AI ต้นแบบแล้ว 2 บริการ ซึ่งมีศักยภาพในการช่วยแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย และขยายโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพ

           นอกจากนี้  เนคเทคได้มีบริการทดสอบ Medical Device Software   หรือซอฟต์แวร์เครื่องมือแพทย์ โดยให้บริการในด้านของการตรวจสอบซอฟต์แวร์และกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือการแพทย์ตามข้อกำหนดของมาตรฐานในระดับสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านการแพทย์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์หรือนักพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องทราบถึงสถานะคุณภาพผลิตภัณฑ์ปัจจุบัน และยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการที่มีอยู่ให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับชาติและระดับสากล

           ทั้งนี้บริการดังกล่าวช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบตามมาตรฐานต่าง ๆ  เมื่อเทียบกับการส่งออกไปทดสอบในต่างประเทศ และสามารถนำรายงานผลการทดสอบไปเสนอต่อ หน่วยงานรับรอง หน่วยงานกำกับดูแลเช่น อย. หรือหน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ช่วยการขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยได้

            ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตัวอย่าง AI ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ บริษัทสตาร์ทอัพ เริ่มพัฒนาการใช้ AI เพื่อการอ่านผลภาพเอกซเรย์ทรวงอก (Chest  X-ray) ทางการแพทย์และสร้างรายงานทางการแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อขยายผลการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช  ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก รวมทั้งโรงพยาบาลอื่น ๆ ในราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อโปรแกรม AI มาจากต่างประเทศ ช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลในประเทศไทย

           โดยล่าสุด เทคโนโลยีเพื่อการอ่านผลภาพเอกซเรย์ทรวงอก (Chest  X-ray)  ได้ผ่านมาตรฐานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขแล้ว และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กำลังพัฒนาไปยังโรคอื่น ๆ ซึ่งในอนาคตมีแผนจะดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้าง AI สำหรับใช้ในโรงพยาบาลนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป

           อย่างไรก็ตาม Medical AI Consortium เป็นเครือข่ายสำคัญที่จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยดึง DATA มาร่วมแบ่งเป็นข้อมูลในการทำงานด้านการแพทย์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ AI เรียนรู้ข้อมูลได้ฉลาดและแม่นยำมากขึ้น   

           ขณะที่ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วน รวมถึงในวงการแพทย์ โดย AI ได้รับการยอมรับมากขึ้นในฐานะเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการดูแลรักษาทางการแพทย์ ทั้งในด้านการวินิจฉัย การรักษา และการบริหารจัดการระบบสุขภาพ ซึ่งในประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยเบาหวานกว่า 6 ล้านคน ราว 15–20 % เสี่ยงภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แต่มีจักษุแพทย์เฉพาะทางเพียง 250 คน

           จากข้อจำกัดดังกล่าว ได้มีการศึกษาทดลองการใช้ AI ใน 13 เขตสุขภาพจากบุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วมการตรวจคัดกรองโรคจอประสาทตา พบว่า การตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์มีความไว (sensitivity) อยู่ที่ 74 %และมีความแม่นยำ (specificity) สูงถึง  98  %ขณะที่การตรวจโดยใช้ AI ให้ผลความไวที่สูงกว่ามาก คือประมาณ  97 %และมีความแม่นยำอยู่ที่  96 %ทำให้เห็นว่าระดับความแม่นยำจะใกล้เคียงกัน แต่ AI มีความสามารถในการตรวจคัดกรองโรคได้รวดเร็วและมีความไวสูงกว่า

           “การนำ AI มาใช้ในการคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา สามารถช่วยลดระยะเวลาการรอคอยในการเข้ารับการตรวจ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชน และทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะสูญเสียการมองเห็นและความพิการในผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”