เปิดพิมพ์เขียว “HandySense” เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะแบบเปิดจากเนคเทค-สวทช.

เวทีวิจัย

เนคเทค-สวทช. จับมือพันธมิตร เผยแพร่พิมพ์เขียวต้นแบบระบบ  “HandySense”  นวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรแบบเปิด พร้อมผลักดันนิเวศนวัตกรรม (Ecosystem) แบบครบวงจร ตั้งเป้าปี 2566 ขยายผลการใช้งานในฟาร์ม เป็น 500 แห่งทั่วประเทศ   ด้านนักวิจัยเดินหน้าสร้างมาตรฐานอุปกรณ์การเกษตร  หวังช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิต และแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ 

                วันนี้ (18 มีนาคม  2564) ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ( เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)  จัดแถลงข่าว HandySense:Smart Farming Open Innovation  โครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ โดยเปิดตัวการเผยแพร่พิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย “HandySense”  ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ เพื่อประโยชน์สาธารณะ  ร่วมกับพันธมิตร ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.)  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จังหวัดฉะเชิงเทรา และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือดีแทคเพื่อขับเคลื่อนสมาร์ตฟาร์มแบบเปิดสู่สังคมไทย โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นประธานเปิดงานฯ

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย

              ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) เปิดเผยว่า  เนคเทค-สวทช. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบสมาร์ตฟาร์มที่ชื่อว่า “HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ” มาตั้งแต่ปี 2560  โดยในระยะแรกได้นำผลงานวิจัยไปขยายผลให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ภายใต้โครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ”  ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเนคเทคกับ ดีแทค และ กรมส่งเสริมการเกษตร ฯ เพื่อให้เกิดฟาร์มต้นแบบที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพการเพาะปลูก

               ที่ผ่านมาทีมนักวิจัย ฯ ได้เดินหน้าพัฒนาและขยายผลการใช้งานระบบ HandySense อย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2562 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดฉะเชิงเทราให้ขยายผลการใช้งานจริงในพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัยสูงหรือผักปลอดภัยให้กับเกษตรกรผู้สนใจในฟาร์ม34 แห่ง ผลการดำเนินงานพบว่าช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช ระบบใช้งานง่าย ทนทาน ราคาประหยัด สามารถลดการใช้แรงงานได้ประมาณ 50 % มีรายได้จากการเพิ่มคุณภาพปริมาณผลผลิตและลดการใช้ทรัพยากรโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 20 %

               “จากผลสำเร็จที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรที่เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย ประกอบกับทีมนักวิจัยของเนคเทค-สวทช. ผู้วิจัยพัฒนา HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ มีความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นทุกบ้าน ทุกหลังคาเรือนของเกษตรกรไทย ได้เข้าถึงและสามารถใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีด้านเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างง่าย  ในราคาที่ประหยัดและเหมาะสมต่อการใช้งาน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน   เนคเทคจึงเดินหน้าขับเคลื่อนสมาร์ตฟาร์มแบบเปิดสู่สังคมไทย โดยประกาศเผยแพร่พิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย HandySense ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการไทย หรือผู้สนใจทั่วไป สามารถนำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ เป็นการเปิดเผยรายละเอียดการผลิต และอนุญาตให้สาธารณะนำไปผลิตและใช้งานโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ (License Fee) และค่าตอบแทนการใช้สิทธิ์เทคโนโลยี (Royalty Fee)  ทั้งนี้คาดหวังให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ ได้มีเครื่องมือที่ทันสมัยใช้งานในราคาที่จับต้องได้ และต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือทางด้านสมาร์ตฟาร์มโดยผู้ประกอบการไทย  ซึ่งหวังว่า HandySense จะเป็นส่วนหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีการเกษตรอย่างยั่งยืน และในอนาคตหากเกษตรกรไทยมีการใช้ระบบนี้อย่างแพร่หลาย การบริหารจัดการด้านการเกษตรของไทยก็จะสามารถก้าวกระโดดไปสู่ยุคเกษตรอัจฉริยะได้อย่างรวดเร็ว ” ดร.ชัยกล่าว

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง

               ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์ นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ให้กับเกษตรกรไทย  โดยเชื่อมโยงการทํางานกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรแบบแม่นยํา (Precision Agriculture)   สำหรับการส่งเสริมการใช้ระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense)ที่กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมมือกับ เนคเทค-สวทช. ,ธ.ก.ส. และหน่วยงานพันธมิตรนั้น  กรมส่งเสริมการเกษตรจะสร้างต้นแบบแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ ที่ ศพก. และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 50 ศูนย์ พร้อมพัฒนาความรู้ทักษะในการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกรต้นแบบ ใน ศพก. และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อยกระดับเป็นวิทยากรเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบอัจฉริยะ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของชุมชนต่อไป โดยในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายจะดำเนินการร่วมกับ เนคเทค-สวทช. และ ธ.ก.ส. รวม 16 จุด แบ่งเป็น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 6 ศูนย์ (เขตละ 1 ศูนย์) และศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตรอีก 10 ศูนย์ และมีแผนจะขยายผลให้ครบทั้ง 50 ศูนย์ปฏิบัติการภายในปี 2566

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์

               ส่วนนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า “ ธ.ก.ส.  ได้มีบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) โดยมีเป้าหมายเพื่อประสานความร่วมมือในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมการเกษตร และร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตลอดห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมการเกษตร  สำหรับงานส่งมอบนวัตกรรมด้านการเกษตรแบบเปิด เพื่อประโยชน์สาธารณะในวันนี้ ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้ง ระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะ (HandySense) ให้กับเกษตรกร ที่เป็นเกษตรกรต้นแบบของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 6 แห่งๆ ละ 50,000 บาท รวมวงเงิน 300,000 บาท  โดย ธ.ก.ส. มุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และ เนคเทค-สวทช. เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมเกษตร สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการประกอบอาชีพการเกษตร  ในขณะเดียวกันหากเกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เกษตร มีความสนใจในระบบ HandySense ไปผลิตเพื่อใช้งานหรือจำหน่าย ธ.ก.ส. พร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรองรับความต้องการด้านเงินทุนในลักษณะ การส่งเสริมความรู้คู่ทุน ให้กับเกษตรกร โดยมีโครงการต่าง ๆ รองรับ อาทิ โครงการสินเชื่อ Smart Farmer สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน เป็นต้น”

               นางสาวอัจฉริยา จันทรวงศ์   เกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า “จังหวัดฉะเชิงเทราได้บูรณาการงานวิจัยร่วมกับ เนคเทค-สวทช. โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหน่วยงานบูรณาการในการกำหนดพื้นที่ต้นแบบนำร่องในการติดตั้ง HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้เกษตรกรสามารถควบคุมปัจจัยในการผลิตและยังสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้ง่ายขึ้น  โดยในปี พ.ศ. 2562 จังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัยสูงหรือผักปลอดภัยให้กับเกษตรกรผู้สนใจ 34 แห่ง กระจายอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัด และในปีงบประมาณ 2564 จังหวัดฉะเชิงเทราได้อนุมัติโครงการขยายผลต่อเนื่องโดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 43 ราย แบ่งออกเป็นพืช 33 ราย (ผักผสมผสาน พืชในโรงเรือน เห็ด ฝรั่ง มะนาว มะม่วง มันญี่ปุ่น ทุเรียน ไผ่ มะพร้าว กล้วย เมล่อน ลำไย สะเดา ปาล์ม ขนุน) ประมง 5 ราย (ฟาร์มกุ้งขาว) และปศุสัตว์ 5 ราย (ฟาร์มไก่ไข่) โดยจังหวัดหวังว่าเทคโนโลยีจะช่วยพัฒนาให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร และปรับเกษตรกรให้เป็นผู้ใช้ข้อมูลในการทำการเกษตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

  ดร. ปรีสาร รักวาทิน

               ดร. ปรีสาร รักวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “ดีป้า ได้เดินหน้าช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมไปประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร เพิ่มศักยภาพการผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล  โดย ดีป้า ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้เกษตรกรและผู้พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดการจับคู่ทางธุรกิจ พร้อมลงพื้นที่ ร่วมศึกษาค้นคว้าหาต้นเหตุของปัญหา เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนสามารถเรียนรู้ เข้าใจปัจจัยสำคัญ รวมถึงแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

นายณฤต  ดวงเครือรติโชติ

               นายณฤต  ดวงเครือรติโชติ หัวหน้าส่วนงาน IoT และพันธมิตรธุรกิจ 5G บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีความพร้อมในการให้บริการ Smart IoT Management เพื่องานด้านการจัดการด้านการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่นำเสนอในรูปแบบโซลูชันบริการครบวงจร  และจากความร่วมมือด้านสังคม ดีแทคมีความยินดีที่วันนี้ได้ต่อยอดความร่วมมือกับ เนคเทค-สวทช. ในการนำโซลูชัน HandySense ซึ่งมีแนวคิดเดียวกับ “ฟาร์มแม่นยำ” มาสร้างเป็นพิมพ์เขียวนวัตกรรมแบบเปิด เพื่อผู้ประกอบการและเกษตรกรที่สนใจสามารถนำมาใช้งาน หรือ ผู้ผลิตในประเทศจะนำมาให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรไทยสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับผลิตผลและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรของไทย 

              ทั้งนี้ดีแทคได้วางเป้าหมายสนับสนุนโซลูชันของ HandySense ให้สามารถขยายไปสู่เชิงพาณิชย์ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตซิม และแพลตฟอร์ม IoT โซลูชันของ HandySense สู่การใช้งานของเกษตรกร ซึ่งดีแทคได้กำหนดกลยุทธ์ในการทำตลาดร่วมมือกับผู้พัฒนาโซลูชัน HandySense ซึ่งได้แก่ สตาร์ทอัพ นักพัฒนา รวมถึงโรงงานผู้ผลิตเซ็นเซอร์ ให้สามารถนำซิมและแพลตฟอร์ม IoT ของดีแทคไปประกอบเป็นโซลูชันที่สมบูรณ์แบบและนำออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ โดย IoT SIM ซิมดีแทคสามารถรองรับตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อยไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใช้งานในการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมาก ซึ่งซิม IoT ที่ใช้สำหรับโซลูชันของ HandySense จะมีดาต้าแพ็กเกจที่ 50 MB และแพลตฟอร์ม IoT จะออกแบบให้รับส่งข้อมูลทุกๆ 10 นาทีหรือน้อยกว่านั้น และมีปริมาณการใช้คลาวด์ 500 MB ต่อเดือน หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของนักพัฒนา

นายนริชพันธ์ เป็นผลดี 

               ขณะที่นายนริชพันธ์ เป็นผลดี  ผู้ช่วยนักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS)  เนคเทค-สวทช. ผู้พัฒนาระบบฯ เปิดเผยว่า  ระบบ Handy Sense  มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของเซนเซอร์ที่พัฒนาจากเวอร์ชั่น 1  จนถึงเวอร์ชั่น 4 ในปัจจุบัน   ซึ่งมีการต่อยอดทั้งการตรวจวัดความชื้นในดินและแสง   มีการแจ้งเตือนต่าง ๆ  ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้มีระบบควบคุม ซึ่งเป็นการควบคุมผ่านระบบออนไลน์และผ่านระบบเซนเซอร์ รวมถึงมีระบบการแจ้งเตือนต่างๆ ผ่านไลน์ ผ่านระบบข้อความ ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์

               สำหรับการพัฒนาต่อในอนาคต นักวิจัยบอกว่า   จะเป็นการศึกษาเรื่องการสร้างมาตรฐานสากลให้สินค้าอุปกรณ์ทางการเกษตร ซึ่งเป็นบริบทของประเทศไทย เพื่อช่วยลดกลไกการผลิตเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบการ ช่วยลดต้นทุนในการผลิตด้วยการที่ภาครัฐลงทุนในทำมาตรฐานให้ ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมหรืออีโค่ซิสเต็มส์ของนวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัยให้มีความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ

               สำหรับเกษตรกร ผู้ผลิต จำหน่าย ให้บริการ เทคโนโลยีทางด้านเกษตรสมัยใหม่ และผู้ที่สนใจ สอบถามรายละเอียดและขอข้อมูลพิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย HandySense ได้ที่ เว็บไซต์  https://handysense.io เฟสบุ๊ค กรุ๊ป  : www.facebook.com/groups/handysense