ห้องเรียนแมคบุ้คโรงเรียนสงวนหญิง

i & Tech

นานกว่า 14 ปี แล้วที่โรงเรียนสงวนหญิง สุพรรณบุรี พานักเรียนในห้องเรียนพิเศษ โปรแกรมภาษาอังกฤษ หรือห้องเรียน EP  เรียนผ่านเครื่องแมคบุ้ค บนความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครองและนักเรียน 

                แม้จะเป็นโรงเรียนรัฐ  แต่ห้องเรียนพิเศษ EP  จะต้องจ่ายค่าเทอมต่อปีสูงกว่าห้องเรียนปกติหลายเท่า จากหลักพันบาท กลายเป็นสองหมื่นกว่าบาท  ทั้งหมดนี้อยู่บนความยินยอมและความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียน

                อาจารย์ตรัยพงษ์ เข็มเพ็ชร ผู้อำนวยการโรงเรียนสงวนหญิง สุพรรณบุรี เล่าให้ฟังว่า   การพัฒนาเด็กให้เติบโตมีพื้นฐานที่ดี จำเป็นต้องมีห้องเรียนโปรแกรมพิเศษ  ทางโรงเรียนเริ่มจาก นำแมคบุ้คมาเป็นอุปกรณ์การเรียนของห้องเรียนพิเศษนานถึง 14 ปีแล้ว 

                อาจารย์สุพรรณชาติ แปลงเงิน    คุณครูผู้ริเริ่มและที่ปรึกษาโครงการหลักสูตรภาษาอังกฤษ  แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็ยังบทบาทสำคัญในเรื่องนี้  ได้ย้อนความหลังให้ฟังว่า โครงการห้องเรียนภาษาอังกฤษ เริ่มเมื่อปี 2004  ต้องการให้การเรียนการสอนอยู่ในระบบของศตวรรษที่ 21 นักเรียนถือแลปทอปคนละหนึ่งตัว  ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครองและนักเรียน ในลักษณะ 1:1 

                ก่อนเริ่มโครงการได้หารือกับผู้ปกครองเรื่องการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์  เดิมต่างคนหามา เจอปัญหาเรื่องความไม่เข้ากันของโปรแกรม การซ่อม เจอไวรัส   ต่อมาในปี 2007  นักเรียนห้อง EP 07 จึงเปลี่ยนเป็นแมคบุ้คทั้งหมด

                เนื่องจากมีแอปที่ใช้งานง่าย  ทางทีมด้านการศึกษาของแอปเปิลส่งวิทยากรมาช่วยสอนวิธีการใช้เครื่อง  ทำให้เป็นเครื่องมือช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ในศตวรรษที่ 21  ได้อย่างแท้จริง ทุกวิชาใช้เรียนผ่านแมคบุ้กได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องไปจองการใช้ห้องคอมพิวเตอร์ วิธีการนี้จึงสามารถทำห้องเรียนรองรับศตวรรษที่ 21 ได้ 

                “ยอมรับว่า ตอนแรกผู้ปกครองบ่นว่าแพง  แต่เมื่อเห็นการใช้งานระยะยาวก็เข้าใจ   ทางโรงเรียนให้พาร์ทเนอร์ของแอปเปิลคุยกับผู้ปกครองโดยตรง”

                โรงเรียนต้องการให้เด็กๆ ในห้องเรียนพิเศษ มีคุณสมบัติดังนี้  ภาษาต่างประเทศต้องเก่ง  เทคโนโลยีต้องได้ ต้องมีวินัย เรียนด้วยเล่นด้วย ไม่ได้สอนแค่วิชาการ แต่สอนคุณธรรม จริยธรรมคู่ขนานกันไป

                เด็กๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่เรียนห้อง EP  จะมีชั่วโมงเรียนในโครงการร่วมกับต่างประเทศกับโรงเรียนในสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา นักเรียนทั้งสองฝ่ายจะลงทะเบียนเรียนด้วยกัน ผ่านออนไลน์

                ทั้งนี้ จากการประเมินผล เด็กโปรแกรมพิเศษ พบว่า คุณภาพอยู่ในระดับดีเยี่ยม 

                ชัยยุทธ พลเสน   ผู้ปกครองของนักเรียนห้อง EP  บอกว่า ตอนแรกก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำไมต้องเป็นแมคบุ้ค ทั้งๆที่โน้ตบุ้คทั่วไปราคาไม่แพงแค่หมื่นกว่าบาทก็ซื้อได้  ผู้กครองก็มีคำถาม ถ้าลูกคนเดียวก็ยังไหว ถ้าลูกหลายคนก็ไม่ไหว แต่เมื่อลูกได้เข้าเรียนไปแล้ว ได้ข้อสรุปว่า แม้โน้ตบุ้คทั่วไปก็ทำได้ แต่ต้องไปหาแอพเพิ่มเติมไม่ได้อัพเดทอัตโนมัติ  แต่แมคบุ้คไม่ต้อง ทำให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่  มีเครื่องมือเป็นอาวุธที่ดี จึงเป็นความแตกต่าง ไม่มีความกังวลเรื่องไวรัส

                “เมื่อเครื่องอัพเดทเองตลอดเวลา ช่วยลดความกังวลใจของผู้ปกครองได้มาก  ซื้อแพงตั้งแต่ต้น แต่ใช้งานระยะยาว มีความคุ้มค่ามากกว่าในสายตาของผู้ปกครอง บริการหลังการขาย  เด็กบางคนเอาเครื่องไปใช้จนกระทั่งจบมหาวิทยาลัยก็ไม่เปลี่ยน เพราะยังใช้งานได้”

                สำหรับนักเรียนห้องเรียน EP ของโรงเรียนสงวนหญิง  ทุกวิชาจะต้องใช้แมคบุ้คเป็นอุปกรณ์การเรียน บางคนก็มีไอแพด ทางโรงเรียนได้จัดอบรมโค้ดดิ้ง ให้เด็ก โดยพาร์ทเนอร์ของแอปเปิล มาสอนเสริมให้ช่วงเช้าก่อนคาบเรียนปกติ 

                แม้ทางโรงเรียนจะมีนักเรียนมากกว่าสองพันคน มีห้องเรียนพิเศษ คละไปกับห้องเรียนปกติ แต่ทางโรงเรียนก็เปิดโอกาสให้นักเรียนหลักสูตรปกติ มาใช้เครื่องแมคในห้องคอมพิวเตอร์ มีสอนเสริมภาษาอังกฤษให้ห้องปกติ  และสอนเสริมภาษาไทยให้ห้อง EP

                ทั้งภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ทางโรงเรียนมีเงื่อนไขว่า ต้องเรียนกับเจ้าของภาษา  เพราะต้องการให้นักเรียนจะใช้ภาษาต่างประเทศเป็นฐานเพื่อส่งเสริมศักยภาพเมื่อไปเรียนต่อทั้งในและต่างประเทศ

                ไอย์รดา จิตรอารีย์รักษ์  นักเรียนชั้น ม. 3  เธอใช้แมค บุ้ค โปร ตอนชั้นประถม  เมื่อมาเรียนมัธยมก็ใช้เต็มรูปแบบ  แมคบุ้คใช้ง่ายเมื่อเทียบกับโน้ตบุ้คอื่นๆ  ออกแบบงานได้แบบใหม่กว่า สร้างสรรค์ได้มากกว่า ใช้ทำงานกลุ่มกับเพื่อน ส่งงานให้เพื่อนได้ง่ายทางแอร์ดรอป

                ผู้เขียนให้ น้องธนภัทร ศรีไทย  นักเรียนชั้น  ม.3  จินตนาการห้องเรียนที่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเตอร์เน็ต 

                ธรภัทร  บอกว่า  ถ้าไม่มีคอม บนโต๊ะจะสมุด  หนังสือเป็นจำนวนมากแน่ๆ มีกระดาษชีทกองใหญ่  การเรียนทุกวันนี้ก็ใช้หนังสือมาก แต่ดาวน์โหลดมาเป็นไฟล์ทั้งหมด  การบ้านก็มาเป็นไฟล์  ไม่ต้องพกหนังสือมาเรียนมาก แต่ก็ยอมรับว่าเขียนหนังสือน้อยลง เพราะทุกอย่างอยู่บนคอมพิวเตอร์

                เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของห้องเรียนยุคดิจิทัลที่ทุกฝ่ายมีความพร้อมที่จะก้าวไปเปิดโลกการเรียนรู้ใหม่ๆ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีอุปกรณ์ทันสมัยแล้วจะทำไม่ได้ จะไปเรียนไม่ได้  เราก็แค่นำสิ่งที่เรามีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ให้เหมาะสมกับตัวเราและสถานการณ์ในขณะนั้นให้มากที่สุด

                ผู้เขียนไปยืนดูคุณครูสอนนักเรียน ม.ต้น เขียนโค้ดให้โดรนนั้นบินได้  เด็กๆ มีไอแพด อยู่ในมือ ดูทุกคนสนุกและคล่องแคล่วกับการเขียนโค้ด การแก้ไขปัญหา และรู้สึกได้ถึงความคุ้มค่าในการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้

#ปรารถนาดี