วช.ส่งมอบนวัตกรรม “แพลตฟอร์มหุ่นยนต์สำหรับงานทางการแพทย์และผู้สูงอายุ” ช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานและ รับมือการแพร่ระบาดของโควิด19
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (หญิง) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมมือขับเคลื่อนงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช.
จากสถานการณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ และการแพร่ระบาดที่ขยายในวงกว้าง มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยผลการศึกษาวิจัย พบว่าอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค COVID-19 จะพบมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดที่จะติดเชื้อและเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย โดยเฉพาะคนพิการและผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเปราะบาง จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ในการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมด้านคนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้สาหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบาย วางแผนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้คนพิการและผู้อายุได้รับการบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การขยายผลต่อกลุ่มเป้าหมายและผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
โดย วช. ได้ส่งมอบนวัตกรรมแพลตฟอร์มหุ่นยนต์สำหรับงานทางการแพทย์และผู้สูงอายุ ที่เป็นผลงานประดิษฐ์ของ ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ และทีมผู้วิจัย แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ โดยนวัตกรรมหุ่นยนต์จะช่วยลดการสัมผัสให้น้อยลง เว้นระยะห่าง ลดการติดเชื้อ และการกระจายแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ จากการดำเนินงานร่วมกันได้มีการส่งมอบผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เช่น เตียงพลิกตะแคงอัตโนมัติ เครื่องกำจัดกลิ่นเหม็นด้วยสนามไฟฟ้าโคโรนา หมอนสามเหลี่ยมสำหรับจัดท่านอนตะแคง และอุปกรณ์เสียงเตือนปัสสาวะใช้ร่วมกับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เป็นต้น