1 ปีกว่าๆ กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่วันนี้แม้สถานการณ์จะยังคงอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง แต่ก็ต้องถือว่าควบคุมได้ดี ประกอบกับ “วัคซีน” ได้ถูกนำมาใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึง ในประเทศไทยที่กำลังทยอยฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนในพื้นที่กลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
ในภาพรวม ประเทศไทย ถือว่าเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้อย่างดีเยี่ยม จนถึงขั้น องค์การอนามัยโลก ให้การยอมรับและยกย่องการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่านักรบเสื้อเทา อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ที่ถือเป็นนักรบแนวหน้าที่เดินเคาะประตูในปฏิบัติการเชิงรุกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดรุนแรงจนถึงทุกวันนี้ จนกล่าวได้ว่า พวกเขาคือ “วัคซีนมีชีวิต” ที่คุ้มครองชีวิตคนไทยทั่วประเทศด้วยความกล้าหาญ และเสียสละอย่างยิ่ง
20 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณแก่อสม. ผู้เป็นฟันเฟืองที่แข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย มานานกว่า 40 ปี ที่เป็นการวางรากฐานงานด้านสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Healthcare) และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเริ่มจากการพัฒนาประชาชนให้เป็นผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุข จนพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในปัจจุบัน
โดยทั่วไป อสม. จะมีหน้าที่หลักๆ คือการให้ความรู้หรือแจ้งข่าวสารแก่ชาวบ้าน การสำรวจข้อมูลหมู่บ้าน การวางแผน และประสานกิจกรรมพัฒนาสาธารณสุข ตลอดจนให้บริการสาธารณสุขด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ, การเฝ้าระวังและป้องกันโรค การช่วยเหลือและรักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยเฉลี่ย อสม. 1 คน จะดูแลคนในชุมชนหรือหมู่บ้านถึง 15 – 20 หลังคาเรือน เลยทีเดียว
ในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ เรามักจะได้ยินคำว่า “การค้นหาเชิงรุกในชุมชน” กันบ่อยขึ้น และผู้ที่มีบทบาทและทำงานหนักในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ ก็คือพี่ๆ นักรบเสื้อเทา อสม. ที่เดินเคาะประตูบ้าน ประตูโรงงาน และตลาดที่มีคนกลุ่มเสี่ยงกระจายตัวอยู่รายล้อม แต่พวกเขาก็ยังคงทำงานที่ได้รับมอบหมาย
อย่างดีที่สุด เพื่อหวังเป็นปราการด่านสำคัญที่ช่วยหยุดยั้งไม่ให้เชื้อโรคกระจายในวงกว้าง รวมถึง การดูแลและเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่นำมาซึ่งการสูญเสียรายได้ เป็นหนี้ อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงในช่วงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดูแลสภาพจิตใจ จึงเป็นอีกภารกิจที่อสม. รับหน้าที่ในการรับฟังและช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนไทยอย่างใกล้ชิด
รวมถึง ยังเป็นกระบอกเสียงบอกต่อเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ ไปพร้อมๆ กับการสำรวจกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเป้าหมายในการรับวัคซีนตามเขตรับผิดชอบตนเอง และประสานข้อมูลนี้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่
นี่คือความมุ่งมั่นของชาวอสม. ที่นอกจากจะเสียสละแรงกายและแรงใจแล้ว ยังพร้อมเปิดรับ ปรับตัวใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพอีกด้วย อย่างกรณีการใช้ “แอปฯ อสม. ออนไลน์” ที่พัฒนาโดยภาคเอกชนอย่างเอไอเอส เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานให้เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ถือเป็นอาวุธดิจิทัลที่อสม. ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 5 แสนรายทั่วประเทศ
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวถึงแนวทางในการสร้างเครื่องมือดิจิทัลมาส่งเสริมการทำงานของอสม. อย่างน่าสนใจว่า “บทบาทสำคัญหนึ่งที่เอไอเอสในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคมไทย เรามีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนด้านสาธารณสุข ช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่าง แอปฯ อสม.ออนไลน์ ถือเป็นอาวุธดิจิทัลที่เราคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจที่เราสามารถมีส่วนร่วมสนับสนุนการทำงานของพี่ๆ อสม. ผ่านแอปฯ นี้ ได้อย่างดีตลอดเวลาที่ผ่านมา”
โดยในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ในปีที่แล้ว แอปฯ อสม.ออนไลน์ ได้พัฒนาฟีเจอร์คัดกรองและติดตาม COVID-19 เพื่อให้ อสม.ใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังความเสี่ยง คัดกรอง และติดตามผลกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในชุมชน ด้วยรูปแบบรายงานดิจิทัลที่ อสม.สามารถบันทึกได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และล่าสุดได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พัฒนาฟีเจอร์รายงานคัดกรองสุขภาพจิต ช่วยในการคัดกรอง เฝ้าระวัง ค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตในพื้นที่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของคนที่มีภาวะความเครียด เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายได้อย่างทันท่วงที ถือเป็นอีกหนึ่งเรี่ยวแรงจากภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยเสริมทัพการทำงานของอสม. ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ดารัตน์ บวบทอง อสม. รพ.สต. บ้านทุ่ง ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ เล่าว่า “ผลกระทบจากโควิด ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความเครียดสะสม มีภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงที่จะคิดฆ่าตัวตาย อสม. จะต้องลงพื้นที่ออกไปพูดคุย เปิดใจ ให้ชาวบ้านได้ระบายความรู้สึกออกมา เพื่อให้เขารู้สึกผ่อนคลาย เราคุยกันเหมือนเป็นเพื่อนที่คอยดูแลสมาชิกในครอบครัว เมื่อเกิดความไว้ใจกัน คุยกันบ่อยๆ การประเมินผลคัดกรองสุขภาพจิตก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ในกรณีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการเยียวยา เราประสานข้อมูลส่งต่อไปที่ รพ.สต. ช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ได้”
อารยา พิมพ์สอน อสม. หมู่ 2 รพ.สต. บ้านดอนชะเอม อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เล่าถึงการดูแลเรื่องสุขภาพจิตของคนในพื้นที่ว่า “ในพื้นที่ มีคนที่อยู่ในภาวะเครียดเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่มีโควิด โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ และวัยรุ่น แอปฯ อสม. ออนไลน์ เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำงานได้เร็วขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้ติดตามผลได้อย่างสม่ำเสมอ ข้อมูลที่ส่งต่อได้เร็วผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เจ้าหน้าที่ รพ. สต. เตรียมรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตไปดูแลได้ทันที”
โดยส่วนมาก อสม. จะถูกรับช่วงต่อจากรุ่นสู่รุ่น เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน หรือคนในหมู่บ้านเดียวกัน เป็นผู้มีจิตอาสา เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และเป็นผู้เสียสละ ถือเป็นบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ นับจากนี้ ยังมีภารกิจอีกหลายอย่าง โดยอสม. ไม่ใช่อาชีพที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่มีการเลื่อนขั้นได้ตำแหน่งสูงๆ ไม่มีโบนัสประจำปี แต่สิ่งที่พวกเขาได้ทำนั้น ได้สร้างคุณค่าและความหมายต่อชีวิตคนไทยอย่างมากมาย
20 มีนาคม วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ถือเป็นวันสำคัญอีกวาระหนึ่งของเรา ที่จะช่วยกันระลึกถึงและเชิดชูเกียรติเหล่านักรบเสื้อเทา อสม. หมอประจำบ้านของคนไทยทุกคน แทนคำขอบคุณและกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ตลอดไป