นอสตร้า โลจิสติกส์ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “NOSTRA LOGISTICS ePOD” ระบบติดตามการขนส่งบนสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ เผยอีคอมเมิร์ซเติบโตรวดเร็ว รับอุปสงค์ผู้บริโภคปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทานผันผวน ชี้ธุรกิจค้าปลีกควรเร่งปรับตัว เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลายในราคาประหยัดและการจัดส่งรวดเร็ว แนะผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทำความเข้าใจ 4 แนวโน้มที่ส่งผลกระทบห่วงโซ่อุปทาน พร้อมเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภูมิทัศน์ โลจิสติกส์ค้าปลีกในปัจจุบัน
นางวรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด เปิดเผยว่า โลจิสติกส์เป็นหัวใจสำคัญในทุกธุรกิจและมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2563 ที่ผ่านมา โลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าปลีกเป็นธุรกิจเติบโตและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคอีคอมเมิร์ซที่มีความผันผวนของ อุปสงค์ผู้บริโภค ซึ่งมีความต้องการสินค้าที่หลากหลายในราคาประหยัดพร้อมการจัดส่งรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ ต้องปรับตัวพร้อมรับความท้าทาย และเทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการจัดการโลจิสติกส์ในธุรกิจค้าปลีก ที่ช่วยให้การบริหารการไหลเวียนของสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทั้งยังควบคุมต้นทุนให้ต่ำที่สุด เมื่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการตลาดเปลี่ยนแปลงไป งานในส่วนโลจิสติกส์ตั้งแต่คลังสินค้าไปจนถึงการขนส่ง กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทาน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกช่องทาง โดยผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและผู้ให้บริการโลจิสติกส์จำเป็นต้องทำความเข้าใจแนวโน้ม 4 ประการ ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภูมิทัศน์ของโลจิสติกส์ค้าปลีก ประกอบด้วย
1. Digital Transformation for Supply Chain Management: เปลี่ยนสู่เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ระบบอีโลจิสติกส์ (E-Logistics) จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบซัพพลายเชนต่อไปในอนาคต เพื่อจัดการต้นทุนโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ และสอดรับกับกระแสปรับเปลี่ยนสู่สังคมเศรษฐกิจแบบดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ ให้ทำงานสนับสนุนกันบนแพลตฟอร์มเดียวตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ รวมถึงการเชื่อมต่อระบบอีโลจิสติกส์เข้ากับแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ และใช้ Mobile application เพื่อเชื่อมโยงลูกค้าปลายทาง (Retail customer) ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ ทั้งส่วนการผลิต คลังสินค้า การซื้อ-ขาย การเงิน และการขนส่ง จะทำให้ส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันได้สะดวกและรวดเร็วแบบเรียลไทม์ โดยผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และลูกค้าปลายทางสามารถเห็น Demand และ Supply ของสินค้าได้ในทันที หรือแม้แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีการซื้อ-ขาย ตลอดจนการจัดส่งสินค้าจนถึงมือลูกค้า
2. E-Logistics for E-Commerce: เชื่อมโยงระบบอีโลจิสติกส์เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจค้าปลีกจำนวนมากใช้วิธีการตลาดแบบ Omni-Channel เพื่อผสมผสานช่องทางจัดจำหน่ายทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน ซึ่งการซื้อขายทั้งสองรูปแบบล้วนต้องใช้การขนส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้า ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลหรือระบบอีโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มออนไลน์ในระบบอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) เพื่อจัดส่งถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และตรวจสอบได้ การจัดการโลจิสติกส์จะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระบบอีคอมเมิร์ซ ที่ประกอบด้วย แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ (E-Marketplace) ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) และระบบอีโลจิสติกส์ (E-Logistics)
3. Warehousing and Transportation in Retail Logistics: คลังสินค้าและการขนส่งในโลจิสติกส์การค้าปลีก ความต้องการการจัดส่งที่รวดเร็วมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกต้องมีความคล่องตัว เปลี่ยนแปลงโลจิสติกส์ คลังสินค้าและการขนส่งอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันมีบริการคลังสินค้าขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ครอบคลุมพื้นที่จัดส่งเพื่อการกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคได้สะดวกและรวดเร็วสอดคล้องความจำเป็นของการค้าสมัยใหม่ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลังสินค้าและให้บริการพิเศษอื่น ๆ เช่น บรรจุหีบห่อและการจัดส่งถึงปลายทาง ด้านผู้ให้บริการขนส่งมีบริการรถขนส่งขนาดเล็กสามารถกระจายการจัดส่งได้ทั่วถึง ประหยัดต้นทุน และคล่องตัวรวดเร็ว ใช้ระบบ GPS หรือ ePOD ติดตามสถานะการขนส่ง กล้องวิดีโอออนไลน์ช่วยควบคุมพฤติกรรมการขับรถเพื่อประหยัดน้ำมันและลดการเกิดอุบัติเหตุ สำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ขนาดเล็กทยอยปรับตัวใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อสามารถรับจ้างช่วงต่อหรือเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ เช่น การใช้ระบบ GPS ติดตามรถ ระบบ ePOD ติดตามพนักงานจัดส่ง และระบบ RFID เพื่อใช้ติดตามสินค้าและความสะดวกในการกระจายสินค้า รวมถึงสามารถเชื่อมโยงข้อมูลการทำงานทั้งหมดเข้าด้วยกันในระบบซัพพลายเชน
4. Combining Offline and Online Retail: ผสานโลกค้าปลีกออฟไลน์และออนไลน์ ขณะนี้ธุรกิจค้าปลีกต่างมองหาโอกาสในการขยายตลาดและสร้างรายได้ ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีการผสมผสานระหว่างโลกการค้าปลีกออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งเทคโนโลยีใหม่พร้อมสนับสนุนและเชื่อมต่อกัน เช่น การทำร้านค้าหรือตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ลูกค้าให้เลือกซื้อจากหน้าร้านหรือทางออนไลน์และรอการจัดส่งถึงบ้าน ปัจจุบันเทคโนโลยีตอบโจทย์ ได้แก่ การใช้ระบบ ePOS และ ePOD ในรถขายสินค้าเคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่า หน่วยรถเงินสด (Cash Van) ตั้งแต่ระบบการคิดเงิน การเช็ค-ตัดสต็อคสินค้า การจัดโปรโมชั่น การสั่งซื้อสินค้า และการจัดส่งสินค้า สามารถเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ในรูปแบบดิจิทัลและใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจและร้านค้าได้ต่อไป
“เทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดรูปแบบโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ สร้างตลาดและบริการใหม่มากมาย การยอมรับและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเข้าสู่ยุคอีคอมเมิร์ซและการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ จะตอบโจทย์ธุรกิจค้าปลีกและโลจิสติกส์” นางวรินทร กล่าวทิ้งท้าย