สทน. จับมือมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีอาหารฉายรังสีสู่เอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน มุ่งยกระดับ และเพิ่มมูลค่าให้อาหารพื้นถิ่น
วันนี้ (25 มี.ค.64) รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานใน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการวิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการและบูรณาการ ด้านการวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรมใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนิวเคลียร์” ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ภายใต้โครงการ “การสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” และ “โครงการคูปองยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมฉายรังสี”
รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอว. เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสินค้าโอทอป รู้จักปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาและยกระดับสินค้า แต่ยังคงคุณค่าและรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สทน.และมรภ. ในครั้งนี้ จึงถือได้ว่ามีความสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ในยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ เรื่องการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งตรงกับยุทธศาสตร์ในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของประเทศ และสร้างระบบนิเวศการวิจัย
ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯในวันนี้ เกิดขึ้นเพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้วยวิธีการฉายรังสีให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับและมีการใช้ประโยชน์แพร่หลายมากขึ้น มีโครงการที่ได้ดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี และโครงการคูปองยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมฉายรังสี เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการและผู้บริโภคบางส่วน ยังไม่ทราบถึงข้อมูลอาหารฉายรังสีที่ถูกต้อง จนเกิดความกังวลและเข้าใจผิด ทำให้อาหารฉายรังสีไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร
ดังนั้น ทาง สทน.จึงได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน และคุ้นเคยกับผู้ประกอบการ เพื่อร่วมมือกันยกระดับการรับรู้เรื่องการฉายรังสีอาหารอย่างถูกต้องให้กับคนไทย โดยในปี 2564 นี้ สทน.ได้ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ประกอบด้วย มรภ.ราชนครินทร์ มรภ.พระนครศรีอยุธยา และ มรภ.ธนบุรี โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างการยอมรับ และสนับสนุนให้นำผลิตภัณฑ์อาหารที่มีศักยภาพของชุมชน และอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากเชื้อโรคต่างๆ มาฉายรังสี รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้มีศูนย์ประสานงาน ในการส่งผลิตภัณฑ์เพื่อมาฉายรังสี เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค มีอายุการจัดจำหน่ายที่ยาวนานขึ้น และช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การขยายตัวของธุรกิจชุมชน รวมทั้งนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศในอนาคต
“ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานทางด้านนี้มาตลอด และมีผลการวิจัยที่ยืนยันเป็นที่ยอมรับมากว่า 40 ปีแล้วว่า อาหารที่ผ่านการฉายรังสีนั้นไม่มีอันตรายและไม่เกิดผลกระทบกับร่างกายแต่อย่างใด โดยวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ของการฉายรังสีในอาหารคือ การลดปริมาณจุลินทรีย์ การฆ่าเชื้อปรสิต ฉะนั้น อยากขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SME กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง และสมุนไพร สมัครเข้ามาร่วมโครงการฯ ฉายรังสีกับ สทน. ได้นะครับ ผมมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ท่านจะมีทางเลือก มีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น” ผอ.สทน.กล่าว